Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทำไมดิจิทัลวอลเล็ต ถึงกลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลใหม่
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ทำไมดิจิทัลวอลเล็ต ถึงกลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลใหม่

18 ส.ค. 67
12:06 น.
|
2.3K
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

" รัฐบาลใหม่คงต้องกลับมาทบทวนกันแบบจริงจังถึงความคุ้มค่าของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการใช้เวลาตลอดหลายเดือนพยายามผลักดันให้ดิจทัลวอลเล็ตเกิดขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วเราสามารถหานโยบายที่นำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติได้ง่ายกว่านี้มีผลใกล้เคียงกันหรือดีกว่าก็ควรจะจะทบทวน "

 

การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอยางรวดเร็ว หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่  14 สิงหาคม 2567 ถัดมาเพียง 2 วันเท่านั้นเราก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยหลังจากคะแนนโหวตจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรเห็นชอบให้คุณอุ๊งอิ๊งค์ 319 เสียงเกินกึ่งหนึ่งของเสียงโหวตของสส.ในสภาฯ

แต่บทบาทและภารกิจที่รอรัฐบาลใหม่อยู่แล้วคือ “ปัญหาเศรษฐกิจไทย” ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่สุดที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนคนไทยในเวลานี้ให้กลับคืนมาได้ และแน่นอนนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยอย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท เป็นสิ่งที่นายกฯอุ๊งอิ๊งค์ จะต้องสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เนื่องจากขณะนี้มีประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปฯทางรัฐเข้ามาแล้วกว่า 30 ล้านคน

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต สำคัญอย่างไร? 

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต สำคัญอย่างไร? คงมีคำตอบในหลายมิติ มุมองของประชาชน หากนโยบายนี้เกิดขึ้นได้จริงนั่นหมายถึงกำลังจะมีเงินเพิ่มเข้ามาในมือ 10,000 บาท แม้จะเป็นเงินดิจิทัลก็ตาม แต่เพิ่มอำนาจการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้นแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆแต่มูลค่าเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ก็อาจช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในยุคเศรษฐกิจไม่สู้ดีนักในเวลานี้ได้พอสมควร 

ส่วนในมุมการเมืองนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายเรือธง หรือ เรียกได้ว่าเป็นนโยบายจุดขายของพรรคเพื่อไทยเลยก็ว่าได้  ตั้งแต่ตอนหาเสียงจนได้เข้ามาเป็นรัฐบาล แม้อดีตนายกฯเศรษฐา จะถูกทักท้วงหนักหนาแค่ไหนแต่ก็ยังยืนยันเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป จนนำมาสู่การเปิดลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ตั้งแต่ 1 -15 ส.ค. 2567 โดยมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 30 ล้านคน ดังนั้น หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยตัดสินใจไม่ทำดิจิทัลวอลเล็ตก็น่าจะมีผลต่อคะแนนนิยมจากประชาชนไม่น้อยเพราะได้หาเสียงเอาไว้อย่างเข้มข้นตลอดเวลาที่ผ่านมา 

สุดท้ายคือในมุมของผลต่อเศรษฐกิจไทย หลายสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจมองว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ในระยะสั้นๆเท่านั้นหากทำได้จริงภายในปี 2567 สามารถช่วยหนุน GDP ได้ประมาณ 0.2 % เท่านั้น โดยตัวเลขประมาณการณ์ GDP ไทยปี 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทยแบบไม่รวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ที่ 2.6% 

ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจไทย

ทำไมดิจิทัลวอลเล็ต จึงกลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลใหม่

จะว่าไปแล้ว นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็เป็นเผือกร้อนที่ส่งต่อมาจากการหาเสียงของพรรคพรรคเพื่อไทยส่งมายังอดีตนายกฯเศรษฐา ที่ต้องรับหน้าที่ลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้นก็ว่าได้ ท่ามกลางเสียท้วงติงมาตลอดตั้งแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แสดงความเป็นกังวลต่อโครงการนี้ทั้งในด้านความคุ้มค่าของโครงการที่สร้างภาระการคลังรวมจนถึงโอกาสเกิดช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตได้  

แพทองธาร ชินวัตร
ภาพจาก AFP : นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  

เปิด 3 ความเสี่ยงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
 

1.ความเสี่ยงต่อการทุจริต

มุมมองของ ป.ป.ช ที่เคยท้วงติงตั้งแต่ต้นปี 2566 คือ ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ 

ความเสี่ยงด้านกฎหมายการดําเนินโครงการรัฐบาลต้องตระหนักและใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อํานาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ,  พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561, พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 เป็นต้น

เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แนะนำว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ต้องมีแนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด , การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม, การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับ เงื่อนไขการใช้จ่าย เป็นต้น 

2.ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ  

ความเห็นของ ป.ป.ช. การทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องคํานึงถึงความคุ้มค่าและมีความจําเป็น รัฐบาลต้องคำนึงถึงภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ควรมีการจัดลําดับความสําคัญรวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอว่า รัฐบาลควรทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นๆของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉินในอนาคต 

3.ความเสี่ยงของระบบชำระเงิน 

ประเด็นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากจึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ โดยเห็นว่า ควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลตต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่

ดิจิทัลวอลเล็ต ในปัจจุบันที่รอรัฐบาลใหม่ไปต่อ ไม่ไปต่อ หรือ เปลี่ยนใหม่ 

แพทองธาร และ เศรษฐา
ภาพจากAFP: นาวสาวแพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน
บนเวทีงานหาเสียงครั้งสุดท้ายของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 


ก่อนอดีตนายกฯเศรษฐา จะพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็ต้องยอมรับว่าได้ยอมถอยเงื่อนไขบางอย่างของ
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต พอสมควรก่อนที่จะประกาศเปิดลงทะเบียน 1  สิงหาคมที่ผ่านมา  

ทำให้ขนาดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถูกปรับวงเงินลงจาก 5 แสนล้านบาท เหลือ 4.5 แสนล้าน ขณะที่แหล่งเงินที่จะนำมาใช้จากโครงการนี้ยังมีการปรับเปลี่ยน ไม่ได้กู้เงินมาจากธ.ก.ส. แล้ว แต่ใช้เงินจากงบประมาณ 2 ปี คืองบประมาณปี  2567 และ 2568 แทน 

แหล่งที่มางบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 450,000 ล้านบาท 

  • งบประมาณปี 2567 รวม 165,000  ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณเพิ่มเติม 122,000 ล้านบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการอีก 43,000 ล้านบาท

  • งบประมาณปี 2568  รวม 285,000 ล้านบาท  แบ่งเป็น งบประมาณประจำ 152,700 ล้านบาท และงบจากการบริหารจัดการอีก 132,300 ล้านบาท 

ซึ่งในส่วนของงบประมาณในปี 2567 ได้ผ่านขั้นตอนของสภาฯเรียบร้อยแล้ว แต่แม้ว่าจะปรับลดขนาดโครงการลงแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้แปลว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะเดินหน้าได้ต่อเหมือนเดิม เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลใหม่แม้จะยังคงนำโดยพรรคเพื่อไทยจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยการใช้ดิจิทัลวอลเล็ต หรือ เปลี่ยนเป็นนโยบายอื่นแทน  

นักเศรษฐศาสตร์ มองทำต่อได้แต่ปรับเงื่อนไขใหม่  

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์ ในรายการ SPOTLIGHT Live Talk มองว่า รัฐบาลใหม่คงต้องกลับมาทบทวนกันแบบจริงจังถึงความคุ้มค่าของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการใช้เวลาตลอดหลายเดือนพยายามผลักดันให้ดิจทัลวอลเล็ตเกิดขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วเราสามารถหานโยบายที่นำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติได้ง่ายกว่านี้มีผลใกล้เคียงกันหรือดีกว่าก็ควรจะจะทบทวน

นอกจากนี้เม็ดเงินมหาศาลที่ให้ไป คือต้นทุนของโครงการซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ทำให้มีการตั้งคำถามว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทยเข้าไปใกล้ 70%ของ GDP แล้วหากในอีกแค่สองปีข้างหน้าถ้าเรามีความต้องการใช้เงินต่อเนื่องในอนาคตจะมีต้นทุนเหลือน้อยลงใช่หรือไม่?  ดังนั้นเงินที่จะถูกนำมาใช้ในวันนี้ควรต้องมีการให้ความสำคัญในระยะยาวด้วย ทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หรือการเร่งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันอื่นๆของประเทศด้วย อาจจะดีกว่าการใช้คําว่า แจกเงินในระยะสั้นหรือไม่

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

“ถ้าย้อนกลับไปเดือนมกราคม ป.ป.ช. เคยทํารายงานส่งให้คณะรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกต 8 ข้อทั้งความเสี่ยงที่อาจจะมีการทุจริตในโครงการ การเอาเงินไปใช้ที่ไม่ตรงประโยชน์หรือตั้งร้านค้าปลอม ต่อมาคือ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและภาระการเงินการคลังในอนาคต ความเสี่ยงด้านกฎหมายเรื่องของการหาแหล่งเงินที่อาจมีปัญหากับ พรบ.วินัยการเงินการคลังและประเด็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี

ไม่เพียงเท่านั้นธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็เคยส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน เมษายน มีข้อเสนอแนะที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือเรื่องความจําเป็นในการดําเนินการแบงก์ชาติเสนอให้ทําเป็นแบบเฉพาะเจาะจงเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ไม่ฟื้นเต็มที่หรือใช้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งมีคนลงทะเบียนอยู่แล้วราว15ล้านคนใช้เงินประมาณ 150,000 ล้านบาทโครงการจะเล็กกว่าแต่อาจมีผลทางเศรษฐกิจในแง่ของมัลติคลายเออร์ของเม็ดเงินดีกว่าแจกให้ทุกคนหรือเปล่า” 

“ผมคิดว่าวันนี้ความเสี่ยงก็คือว่ามีอย่างน้อยสองหน่วยงานทักท้วงไว้แล้ว ซึ่งวันนี้เราเห็นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการตีความแบบกว้างก็เหมือนกับถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่า มีคนตั้งข้อสังเกตไว้แล้วคุณยังทําอีกก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อข้อกฎหมายหรือไม่ซึ่งนี่อาจจะทําให้รัฐบาลใหม่ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการดําเนินนโยบาย”

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยก็มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งข้อดีในขณะนี้คือมีการเตรียมวงเงินจากงบประมาณปี 2568 ไว้ในการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้ว และมีความยืดหยุ่นที่ระบุไว้ว่าสามารถนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ ดังนั้นหากรัฐบาลใหม่ต้องการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ จะปรับเปลี่ยนรูปแบบของนโยบายก็มีความพร้อมในเรื่องของแหล่งเงิน แต่ที่จะท้าทายรัฐบาลใหม่คือ งบประมาณปี 2667 ที่การตั้งงบประมาณรายปีต้องใช้ภายในปีงบประมาณนี้คือเดือนตุลาคม2567 

ดิจิทัลวอลเล็ต จะไปต่อหรือไม่ และมาในรูปแบบไหน? เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่คงไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องตั้งคำถามนานเกินไป เพราะภารกิจสำคัญที่จะพิสูจน์ผลงานและฟื้นประเทศไทยไปข้างหน้าได้จริงคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ของประเทศจากนี้ไป 

แชร์

ทำไมดิจิทัลวอลเล็ต ถึงกลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลใหม่