ถูกรางวัล เล่นเกมส์ ชิงโชค ถูกล็อตเตอรี่ รู้หรือไม่ว่ารางวัลที่ได้มี 2 ประเภทคือ รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี กับ รางวัลที่ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี และโดยส่วนใหญ่ของการถูกรางวัลมักไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี
ได้รางวัลใหญ่ เงินจากชิงโชค หรือ ถูกรางวัล แบบนี้ต้องเสียภาษีไหม ถูกหักภาษีไว้แล้วจบหรือเปล่า บทความนี้จะมาชวนคุยในมุมภาษีให้ฟังกันครับ
ก่อนอื่นเวลาได้รางวัล ต้องถามว่ารางวัลที่ได้รับนั้นมันเป็นแบบไหนครับ ? ระหว่าง รางวัลที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี กับ รางวัลที่ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี โดยผมให้ข้อสังเกตง่าย ๆ ตามนี้ครับ นั่นคือ รางวัลที่เราได้รับนั้น มันถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรือเปล่า
ถ้าหากรางวัลที่ได้มา เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% แบบนี้ก็ชัดเจนเลยครับว่า รางวัลที่ได้รับจำนวนนี้ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี (แหม่.. เขาหักมาซะขนาดนี้ เราก็ต้องเสียภาษีแล้วล่ะครับ) และเพื่อให้ืทุกอย่างชัดเจนกว่านี้ ผู้ให้รางวัลแก่เรา เขาต้องให้เอกสารการหักภาษีที่ว่านี้กับเราไว้เป็นหลักฐานด้วย นั่นคือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือว่าใบ 50 ทวินั่นเองครับ
โดยรางวัลที่ว่าจะหมายความรวมถึงทุกอย่างที่เราได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเงินรางวัลจากการชิงโชค ทายผลต่างๆ หรือเกมร่วมสนุกชิงรางวัล จับรางวัล และในกรณีที่ได้เป็นทรัพย์สินที่ไม่ใช่ตัวเงิน ส่วนนี้ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วยเช่นกันครับ ซึ่งบางครั้งเราจะเห็นข้อความระบุไว้ตั้งแต่ตอนประกาศกติการ่วมสนุกชิงรางวัลเลยว่า ผู้ได้รับรางวัลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วยครับ
แต่อย่างไรก็ตาม จะมีรางวัลบางประเภทที่ได้รับสิทธิ์พิเศษยกเว้นภาษีครับ เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาลหรือลอตเตอรี่ ที่เมื่อถูกรางวัลไม่ต้องเสียภาษีจากเงินรางวัล แต่ต้องเสียค่า "อากรแสตมป์" ในอัตรา 0.5% ของเงินรางวัลที่ได้รับครับ เช่น ถ้าหากได้รางวัลที่ 1 จำนวน 6 ล้่่านบาท ก็เสียอากรทั้งหมด 30,000 บาท เราจะได้เงินจำนวน 5,970,000 บาทครับ
ตรงนี้เป็นจุดสังเกตเบื้องต้นแบบง่ายๆ ที่อยากให้ลองเช็คกันดูก่อนครับ ซึ่งก็ต้องบอกตรงๆว่า โดยปกติแล้วรางวัลทั่วไปที่เราชิงโชคหรือถูกรางวัล (นอกเหนือจากสลากกินแบ่ง) มักจะต้องเสียภาษีทั้งหมดครับ เพราะถือว่าเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีนั่นเองครับ
ทีนี้กลับมาอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 5% ที่เราถูกหักไว้เมื่อได้รับรางวัลครับ สำหรับส่วนนี้จะถือเป็น “ภาษีที่จ่ายไว้ล่วงหน้า” ดังนั้น การถูกหักไว้ไม่ได้แปลว่าจบนะครับ แต่มันหมายถึงว่า เงินได้ในส่วนนี้ต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีอีกด้วยครับ
ยกตัวอย่างแบบนี้ครับ
สมมติ นายบักหนอมถูกรางวัลใหญ่จากการชิงโชคได้รางวัลมาในมูลค่า 1.6 ล้านบาท ผู้ให้รางวัลก็จะหักภาษีนายบักหนอมไว้ในอัตรา 5% คือ 80,000 บาท หน้าที่ของนายบักหนอมคือเก็บหนังสือรับรองการหักภาษีที่ผู้ให้รางวัลไว้ และเอารายได้ 1.6ล้านบาท มายื่่นภาษีต่อครับ
โดยรายได้ 1.6 ล้านบาทที่ว่านี้ จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ตามกฎหมายครับ ซึ่งถ้าหากพิจารณาตามแนวทางที่ใช้กัน เงินได้ส่วนนี้จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้นั่นเองครับ
และถ้าคิดต่อไปในมุมของการคำนวณภาษีตามวิธีเงินได้สุทธิ (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) ซึ่งถ้าหากนายบักหนอมไม่ได้มีรายได้ประเภทอื่น และ ไม่ได้มีการวางแผนลดหย่อนภาษีเลย นายบักหนอมจะต้องเสียภาษีทั้งหมดตามนี้ครับ
คำนวณภาษีตามวิธีเงินได้สุทธิ = (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
ในกรณีนี้ ถ้าหากนายบักหนอมมีรายได้ประเภทอื่นที่ต้องเอามาคำนวณภาษีด้วย ก็อาจจะเสียภาษีมากกว่านี้ได้ครับ เพราะจากตัวอย่างนี้เราเอาแค่เงินได้ประเภทเดียวมาคำนวณภาษี แต่ถ้ามีรายได้หลายทางเช่น มีเงินเดือน มีรายได้จากการทำงานอื่น ก็ต้องเอารายได้ส่วนนี้มาคำนวณภาษีด้วยครับ
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะมีคำถามว่าแล้วทำเนียนไม่ยื่นได้ไหม คำตอบ คือ ถ้ารางวัลใหญ่ก็ค่อนข้างน่ากลัวนะครับ เพราะการถูกหักภาษี 5% แบบนี้ แปลว่าสรรพากรรู้แล้วครับว่าคุณมีรายได้ ถ้าหากไม่ยื่นให้ถุกต้องเจอตรวจสอบย้อนหลัง ก็อาจจะเจอโทษเพิ่มเติมได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ที่นอกเหนือจากภาษีที่ต้องเสียครับ
มาถึงตรงนี้สิ่งที่อยากแชร์เพิ่มเติมสำหรับคนที่ถูกรางวัล คือ การบริหารจัดการการเงินครับ เพราะมีหลายครั้งที่เราเห็นคนถูกรางวัลใหญ่ถูกสรรพากรประเมินภาษีย้อนหลัง เช่น กรณีของ “น้องปลายฟ้า" หนูน้อยผู้โชคดีจากการโหวตตั้งชื่อ"หลินปิง" โดนภาษีย้อนหลังไปหลายแสน หรือ อาจจะเป็นกรณีอื่นๆ ที่ไม่ปรากฎในข่าว ก็มีเรื่องราวต่างๆแบบนี้เช่นเดียวกันครับ
สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากไว้ ก็คือ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเราถูกรางวัลหรือได้รับรางวัลเท่านั้นนะครับ ถ้าหากเราไม่ถูกรางวัล ก็ไม่ต้องเสียเวลามาวางแผนหรือจัดการภาษีแบบนี้ นึก ๆ แล้วก็อาจจะเป็นข้อดีที่ผมเป็นคนไม่ค่อยมีโชค เลยไม่ต้องปวดหัวกับภาษีแบบนี้เหมือนกันนะครับ แหะๆ ..
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms