จากกรณีปัญหา บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ถูกผลกระทบจากการเปิดรับทำประกันโควิด-19 แบบ 'เจอ จ่าย จบ' จนทำให้ผลประกอบขาดทุนอย่างหนัก ทำให้บริษัทต้องยื่นศาลล้มละลายกลางขอฟื้นฟูกิจการ และมีผลกระทบให้มีลูกค้าอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเงินประกันซึ่งได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย
ล่าสุด คณะกรรมการเปรียบเทียบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีมติเปรียบเทียบปรับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ใน 2 เรื่องคือ
1. กระทำการประวิงการจ่ายสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เป็นความผิดตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ.2549 ข้อ 3 (5) มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
2. ไม่กระทำการแจ้งผลการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนภายในระยะเวลาที่บริษัทกำหนด เป็นความผิดตามาตรา 37 (11) แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันภัยวินาศภัย พ.ศ.2559 ข้อ 8 (3) มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
โดยทางคณะกรรมการเปรียบเทียบเป็นเงินรวม 2,135,000 บาท ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทยังไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง จึงให้เปรียบเทียบปรับรายวันวันละ 20,000 บาท โดยให้ชำระค่าปรับทุก 30 วัน จนกว่าจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แล้วเสร็จ