โดยในการซื้อหุ้นครั้งนี้ ขันได้ลงทุนเงินทั้งหมด 650 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นจำนวนถึง 1,202,130,480 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 0.54 บาท และทำให้เขาขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 แทน Major และกลายเป็นเจ้าของคนใหม่ของ M Pictures ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทจัดซื้อจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
‘ขันเงิน’ เจ้าของ M Pictures เป็นใคร และมีประวัติการทำงานอย่างไรบ้างก่อนจะมาเป็นเจ้าของบริษัทด้านความบันเทิงใหญ่ของไทย ทีมข่าว SPOTLIGHT สรุปมาให้อ่านกัน
หลายๆ คนน่าจะรู้จัก ‘ขัน’ ในฐานะหนึ่งในสมาชิกและผู้ก่อตั้งวงฮิปฮอปชื่อดังระดับตำนานของเมืองไทยอย่าง ‘ไทยเทเนี่ยม’ แต่อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาคนนี้ยังเป็นนักธุรกิจและนักลงทุนที่ทำธุรกิจมาแล้วหลายอย่างทั้ง ร้านอาหาร ผับ บาร์ ร้านเสื้อผ้า หรือแม้แต่สายการบิน ทำให้ก่อนหน้าจะขึ้นมาเป็นเจ้าของ M Pictures แบบในปัจจุบัน ขัน ก็ถือได้ว่า เป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่ล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร
ขันเงิน เนื้อนวล หรือ ขันเงิน ไทยเทเนี่ยม เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2519 ในครอบครัวชนชั้นกลางฐานะดีที่มีธุรกิจสถานบันเทิง ทำให้ใกล้ชิดคลุกคลีกับวงการธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นต์มาตั้งแต่เด็ก โดยหลังจากจบชั้นประถมศึกษา เขาก็ถูกส่งไปเรียนชั้นมัธยมต้นกับพี่ชายในรัฐแคนซัส ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่ไฮสคูลในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
โดยช่วงที่เรียนอยู่ที่สหรัฐฯ เขาก็เริ่มได้สัมผัสกับวัฒนธรรมฮิปฮอปที่สหรัฐฯ สนใจเก็บแผ่นเสียง เล่นแผ่นเสียงเป็นดีเจ และเริ่มลองแร็ปกับเพื่อนๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2538 หลังจบชั้นมัธยมปลายเขาก็กลับมาอยู่กับครอบครัวที่ไทย และได้ออก Hip-Hop Story ผลงานเพลงอัลบั้มแรกในนาม ‘Khan-T’ ในสังกัด MUSIC X และออกผลงานอีกสองอัลบั้ม คือ 4+9 (Remix) ในปี พ.ศ. 2540 และ Khan-T BEAT พ.ศ. 2541
ในช่วงนั้น ขัน เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ส่วนตัวเขาไม่ชอบแนวดนตรีที่ต้องทำในขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2543 เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปนิวยอร์กเพื่อตั้งวงฮิปฮอปกับ ร่วมกับ ‘เวย์’ ปริญญา อินทชัย และ ‘เดย์’ จำรัส ทัศนละวาด อนาคตเพื่อนร่วมวง ‘ไทยเทเนี่ยม’ ของเขา
ขัน ได้เริ่มออกผลงานเพลงกับเพื่อนสมาชิกเองแบบไม่มีสังกัดที่สหรัฐฯ ก่อน ก่อนจะสะสมชื่อเสียงและประสบการณ์ จนมาออก ‘Thailand’s Most Wanted’ อัลบั้มแรกในประเทศไทยกับค่ายเพลง สนามหลวง ในเครือ GMM Grammy ในปี พ.ศ. 2548 ทำให้ทั้งวงไทยเทเนี่ยมและขันกลายเป็นที่รู้จักของวงการเพลงไทย
นอกเหนือจากการเป็นเจ้าของ Thaitanium Entertainment และทำงานเพลงเป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปินฮิปฮอปอื่นๆ ในวงการแล้ว ในปี พ.ศ. 2557 เขายังเคยร่วมลงทุนกับเพื่อนสนิทตั้ง ‘สายการบินเอเชียนแอร์’ ที่ให้บริการเที่ยวบินแบบชาร์เตอร์ไฟลท์
ทั้งนี้ สายการบินเอเชียนแอร์ได้ถูกศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 โดยในขณะนั้นเขาเป็นผู้ถือหุ้น 1% หลังบริษัทขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้เขาหายหน้าหายตาจากการเป็นนักธุรกิจ กลับไปทำงานเบื้องหลังวงการเพลง เป็นโปรดิวเซอร์ในรายการโชว์ The Rapper ก่อนจะกลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะเจ้าของคนใหม่ของ M Pictures
ปัจจุบัน บริษัท M Pictures ดำเนินธุรกิจด้าน ‘การลงทุนในบริษัทย่อย’ ที่ดำเนินธุรกิจสื่อ ภาพยนตร์ การจัดหาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศ เพื่อฉายผ่านโรงภาพยนตร์ สื่อทีวี ในรูปแบบฟรีทีวี เปย์ทีวี และ วีดีโอออนดีมานด์ ตลอดจนสื่อทางด้าน Digital ต่าง ๆ พร้อมทั้งการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไทยและสื่อโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์
โดยจากรายงานประจำปี 2565 ปัจจุบัน บริษัทย่อยที่ M Pictures เข้าไปลงทุนมี 4 บริษัทด้วยกัน คือ
นอกจากนี้ M Pictures ยังร่วมลงทุนในอีก 6 บริษัท เช่น บริษัท เมเจอร์ กันตนา บรอดแคสติ้ง จำกัด, บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิลม์ จำกัด และ บริษัท สกายบ็อกซ์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด
ในปี 2565 บริษัท M Pictures มีรายได้ทั้งหมด 292.55 ล้านบาท มีกำไร 24.97 ล้านบาท พลิกกลับมามีกำไรในรอบ 2 ปี โดยส่วนมากเป็นกำไรจากการผลิต ซื้อลิขสิทธิ์ และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
โดยนอกจากธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไทยแล้ว M Pictures ยังเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ต่างประเทศชื่อดังมากมายในฉายในประเทศไทย อย่างในปี 2565 M Pictures ก็เป็นผู้ชื้อหนังรางวัลอย่าง ‘The Whale’, ‘Decision to Leave’ และ ภาพยนตร์ที่เพิ่งชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ไปอย่าง ‘Everything Everywhere All At Once’ ทำให้ M Pictures ถือได้ว่า เป็นบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย และยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง
ที่มา:
https://investor.mpictures.co.th/misc/one-report/20230330-mpic-or2022-th.pdf
https://investor-th.mpictures.co.th/company_business.html
https://www.sanook.com/money/603721/
https://www.thairath.co.th/content/459205