หนี้ครัวเรือนของสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับระดับ 597 ล้านล้านบาท ถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มาจากหลายสาเหตุ ทั้งเงินเก็บที่หมดลงไปในช่วงโควิด รวมถึงความนิยมใช้บริการรูปแบบ Buy now pay later หรือการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ที่ดันหนี้ครัวเรือนในสหรัฐฯพุ่งสูง
Bloomberg รายงานว่า ธนาคารกลางนิวยอร์ก ได้มีการเปิดเผยรายงาน หนี้ครัวเรือนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.3% หรือ 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ทำให้ปัจจุบันมีหนี้ครัวเรือนสะสมอยู่ที่ 17.29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 597 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปี โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น คือ ยอดคงเหลือบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น 4.7% เป็น 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 3 ทำให้ยอดรวมหนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 34 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2546
การเพิ่มขึ้นของหนี้บัตรเครดิตสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ย APR บัตรเครดิตที่พุ่งสูงขึ้นในเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนว่า ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ คาดอาจได้รับแรงหนุนหลักจากตลาดแรงงานที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 53 ปี แต่หากพิจารณาสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค พบว่าคนอเมริกันกว่า 40% เงินเก็บช่วงโควิดหมดแล้ว ทำให้ต้องหันมายืมเงินจากบัตรเครดิต เพื่อบริหารสภาพคล่องจ่ายหนี้ต่างๆ ในชีวิตประจำ ไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน ค่ารถ หรือหนี้การศึกษาที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกนโยบายละเว้นหนี้การศึกษา ทำให้นักวิเคราะห์กังวลว่า ผู้บริโภคจำนวนมากต้องพึ่งพาบัตรเครดิตและสินเชื่ออื่นๆ มากขึ้นเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่ากังวลอีกประการหนึ่ง คือคน อเมริกัน ยุคนี้กำลังนิยมใช้บริการรูปแบบ Buy now pay later หรือการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ซึ่งเหล่าผู้ใช้บริการจะสามารถผ่อนชำระค่าสินค้าเป็น 4 งวด และไม่มีค่าธรรมเนียมหรือหากผู้ใช้บริการมีการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะไม่ถูกรายงานไปยังสำนักงานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ทำให้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนในสหรัฐฯอาจสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้
การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านการเงินของผู้บริโภคที่เริ่มสะสมตัวขึ้น ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่กดดันให้ค่าครองชีพสูงขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯ และภาคเอกชนควรเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวในอนาคต
ที่มา Bloomberg