Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
4 เรื่องเงินต้องรู้ ก่อนคิดย้ายงาน
โดย : ราชันย์ ตันติจินดา

4 เรื่องเงินต้องรู้ ก่อนคิดย้ายงาน

13 ม.ค. 67
07:00 น.
|
961
แชร์

หลังฤดูกาลรับเงินโบนัส กิจกรรมยอดฮิตหนึ่งของพนักงานประจำ คือ การย้ายงานเพื่อเพิ่มค่าตัวให้กับตนเองหรือมองหาประสบการณ์ทำงานใหม่ๆที่น่าตื่นเต้นกว่างานเดิมที่ทำอยู่ โดยเงินถือเป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการตัดสินใจว่าจะย้ายงานหรือไม่ ย้ายไปที่ไหน ซึ่งเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ต้องรู้ ก่อนตัดสินใจย้ายงาน มีอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน

1.เงินเดือนขึ้น vs ค่าใช้จ่ายที่เพิ่ม

โดยปกติการย้ายงาน คนส่วนใหญ่มักคาดหวังการขึ้นเงินเดือน เช่น อย่างน้อย 20%-30% เพื่อจะได้มีเงินไว้ใช้จ่ายหรือเหลือเก็บมากขึ้น แต่เมื่อย้ายหรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ก็อาจมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เปลี่ยนไปหรือเพิ่มสูงขึ้นได้ เช่น

  • ค่าเดินทาง: ที่อาจไกลบ้านมากขึ้น หรืออยู่ในตัวเมือง ที่ทำให้ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ค่าเรียก Taxi/Car หรือค่าตั๋วรถไฟฟ้า ในแต่ละวันสูงขึ้น
  • ค่าครองชีพ: สำหรับที่ทำงานในตัวเมือง ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม/กาแฟ ค่าขนมยามบ่าย มักสูงกว่าที่ทำงานนอกเมือง หรือในนิคมอุตสาหกรรม
  • ภาษีสังคม: เมื่อต้องสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานใหม่ หรือเมื่อตำแหน่งงานสูงขึ้นก็อาจต้องซื้อของแจกหรือเลี้ยงอาหารน้องในทีมบ้าง รวมถึงเงินใส่ซองงานต่างๆ ก็ย่อมสูงขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาของโลกการทำงาน

2.รายได้ที่ขึ้นเป็นส่วนของเงินเดือนเท่าไร

หลายครั้งที่การเจรจาต่อรองรายได้กับที่ทำงานใหม่ ฝ่าย HR มักนำเสนอ package รายได้ ที่ทำให้ดูสูง อย่างการบอกยอดรายได้รวมจาก เงินเดือน ค่าน้ำมัน/โทรศัพท์เหมาจ่าย ค่าคุณวุฒิ/ใบอนุญาต เงินโบนัสเฉลี่ย เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากนายจ้าง เป็นต้น แต่ในแง่ความแน่นอนของรายได้แล้ว เงินเดือน ถือเป็นรายได้ตามสัญญาจ้างที่ไม่สามารถถูกปรับลดได้ง่าย หากไม่ได้กระทำความผิดต่อนายจ้างหรือทำผิดข้อบังคับบริษัท

ส่วนรายได้อื่น เช่น ค่าน้ำมันเหมาจ่าย ค่าคุณวุฒิ/ใบอนุญาต ฯลฯ อาจถูกลดหรือตัดออกได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานหรือปรับโครงสร้างที่ทำงาน ส่วนเงินโบนัส ถือเป็นรายได้ผันแปร ที่ไม่แน่นอนขึ้นกับผลประกอบการบริษัทและการประเมินผลงานประจำปี เป็นต้น ส่วนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากนายจ้าง แม้เป็นเงินส่วนเพิ่มจากรายได้อื่นแต่ก็ถูกในไปเก็บไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ทันที

อีกทั้งเงินเดือน มักถูกใช้เป็นฐานในการคำนวณสวัสดิการหรือรายได้อื่น เช่น ค่าล่วงเวลา เงินโบนัส ฯลฯ รวมไปถึงเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่จะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือเกษียณอายุ ก็คำนวนจากฐานเงินเดือน 30-400 วันสุดท้าย ก่อนสิ้นสภาพลูกจ้างเช่นกัน

เรื่องเงิน ย้ายงาน

3.เกณฑ์และสวัสดิการ เมื่อเกษียณอายุ

  • เกณฑ์อายุที่เกษียณ: เช็กว่าอยู่ที่อายุเท่าไร หากเกณฑ์เกษียณเร็วกว่าที่ทำงานเดิม สะท้อนถึงโอกาสการหารายได้ที่สั้นลง รวมถึงระยะเวลาใช้จ่ายและเงินหลังเกษียณที่ต้องเตรียมมากขึ้น

  • เงินก้อนที่ได้รับเมื่อเกษียณอายุ: เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ได้รับอาจน้อยลงเนื่องจากอายุงานของบริษัทล่าสุดน้อยลงเมื่อเทียบกับการทำงานที่บริษัทเดิม จึงควรเช็กกับที่ทำงานใหม่ว่า มีเงินก้อนส่วนอื่นอีกไหม และมีเกณฑ์การได้รับเงินก้อนนั้นอย่างไร

  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ:

    -เช็กว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบที่อัตราเท่าไร สูงกว่าที่ทำงานเดิมหรือไม่ เพราะเงินสมทบส่วนนี้จะถูกเก็บไว้ในกองทุนฯ เพื่อนำออกมาใช้เมื่อเราเกษียณอายุหรือออกจากงาน
    -เช็กว่าหากออกจากงานก่อนเกษียณอายุ มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนแค่ไหน ได้รับส่วนของนายจ้างทั้งหมดหรือแค่บางส่วน หากยังไม่ได้ตั้งใจทำงานที่ใหม่นี้ไปจนเกษียณอายุ
    -เช็กนโยบายการลงทุนว่า มีนโยบายให้เลือกที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้หรือช่วงอายุตน เพื่อให้เงินได้งอกเงยอย่างเหมาะสมหรือไม่

4.สิ่งที่หายหรือลดไป จากการย้ายงาน

  • เงินเดือนที่ขึ้นและเงินโบนัสสิ้นปีนี้: ปีแรกที่ทำงานกับบริษัทแห่งใหม่ หากจำนวนวันในการทำงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่ HR กำหนด โดยเฉพาะกรณีช่วงการประเมินผลงานสิ้นปียังไม่พ้นช่วงทดลองงาน อาจส่งผลให้
    -การขึ้นเงินเดือน ไม่ได้รับการพิจารณาหรือได้น้อยกว่าคนอื่นที่มีผลการประเมินผลงานที่เท่ากัน
    - เงินโบนัส แม้จะได้รับตามจำนวนเท่าของเงินเดือนเหมือนคนอื่น แต่อาจได้รับตามสัดส่วนจำนวนวันทำงาน เช่น เข้างานช่วงกลางปี อาจได้รับเงินโบนัสเพียง 50% ของเงินโบนัสที่ควรได้หากทำงานเต็มปี เป็นต้น

  • สวัสดิการช่วงทดลองงาน: เช่น 3-6 เดือนแรกที่เข้างาน อาจยังไม่สามารถเบิกสวัสดิการใดๆ ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดเจ็บป่วยในช่วงเวลาดังกล่าว โดยไม่ใช้สิทธิประกันสังคม และไม่เคยซื้อประกันสุขภาพไว้ ก็อาจต้องควักเงินเก็บมาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลเอง

  • วันลาพักร้อน: ตามกฎหมายแรงงานแล้ว พนักงานต้องได้รับสิทธิลาพักร้อนหลังทำงานครบ 1 ปีเต็ม แต่บางบริษัทก็อาจเริ่มให้สิทธิลาพักร้อนหลังพ้นช่วงทดลองงาน ดังนั้นในช่วง 1 ปีแรกของการทำงาน อาจต้องปรับลดแผนการท่องเที่ยวประจำปีลง เป็นต้น

เปลี่ยนงาน ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนเพื่อน เปลี่ยนสังคม เท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเงินหรือการวางแผนการเงินของตนเองอีกด้วย จากปัจจัยรายได้ ค่าใช้จ่าย และสวัสดิการต่างๆ ที่เปลี่ยนไป

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

แชร์

4 เรื่องเงินต้องรู้ ก่อนคิดย้ายงาน