เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ หั่นเครดิต 4 แบงก์ใหญ่ ลง 1 ขั้น เหตุเศรษฐกิจประเทศ "เปราะบาง" เสี่ยง NPL 24 เดือนข้างหน้า พุ่งแตะ 5% สูงสุดตั้งแต่ปี 2551 ฉุดหุ้นร่วงหนัก จ่อกระทบกำไรปีนี้หด
เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อของธนาคาร 4 แห่งของไทยลง 1 ขั้น ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เป็น BBB/Stable จาก BBB+/Negative , ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เป็นBBB/Stable จาก BBB+/Negative , ธนาคารกรุงไทย(KTB) เป็น BBB-/Stable จาก BBB/Negative และ ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB) เป็น BBB-/Stable จาก BBB/Negative
โดย S&P มองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic risk) สูงขึ้นในด้าน 1.หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และจะอยู่เป็นเวลานานกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า 2. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ (Debt relief program) แม้จะช่วยประคองภาพรวมหนี้เสีย NPL ไม่ให้ปรับตัวขึ้น
แต่ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทำได้ช้าลง 3.ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง และการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน (Uneven recovery) โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และ 4.สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้การฟื้นตัวกลับไปที่ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด (Pre-COVID level) ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยช้ากว่าคาด
พร้อมทั้ง S&P คาดการณ์ว่า หนี้เสีย (NPL) ในภาคธนาคารของไทยจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นในอีก 24 เดือนข้างหน้า จนแตะที่ระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551
ทั้งนี้เป็นปัจจัยลบกดดันต่อราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในระหว่างการซื้อขายภาคเช้าวันนี้ทั้ง SCB, KBANK, KTB, TTB ติดลบไปกว่า 2-3%
บล. บล.ยูโอบีฯ ชี้แบงก์ไทยโดนหั่นเครดิต เหตุโดนพิษโอไมครอน-จบมาตรการช่วยลูกหนี้
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า S&P ปรับลดเรตติ้งธนาคารไทย โดยปรับลดเรตติ้ง SCB, KBANK, KTB, TTB ลง 1 ขั้น ขณะที่คงเรตติ้ง BBL และ BAY ทั้งนี้สอดคล้องกับมุมมองของฝ่าวิเคราะห์เมื่อ 17 มี.ค. ปีนี้ที่ให้ระวังและแบ่งขายทำกำไรกลุ่มธนาคารบ้างในรอบนี้
โดยเราคาดผลกระทบของโอไมครอนและการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม SME อาจเป็นลบต่องบกลุ่มธนาคารในช่วงไตรมาส 1 และ 2 นี้ โดยแนะนำ top pick คือ BBL
เอเชียพลัส มองเป็นลบกระทบต้นทุนเพิ่ม-กำไรกลุ่มปีนี้หด
บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การปรับลด Credit Rating ข้างต้นมีโอกาสสร้างเป็นประเด็นลบต่อราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ดีการปรับ Credit Rating มองว่าก่อนหน้านี้ S&P ให้แนวโน้ม 4 ธนาคารเป็น Negative ส่วนทางพื้นฐานส่งผลให้แนวโน้มต้นทุนการออกหุ้นกู้ใหม่สูงขึ้น เพิ่มเติมจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ปรับตัวขึ้น ตาม Government bond yield
แต่เนื่องจากธนาคารไทยระดมทุนผ่านเงินฝากเป็นหลัก สัดส่วนราว 70% - 80% ของหนี้สิน และมีการใช้ตราสารหนี้สัดส่วนดังนี้
-KBANK มีสัดส่วน 3% ของหนี้สิน, Cost of bond ที่ 2.1%,Cost of fund ที่ 0.6%
-KTB มีสัดส่วน 4% ของหนี้สิน, Cost of bond ที่ 3%, Costof fund ที่ 0.7%
-SCB มีสัดส่วน 2.6% ของหนี้สิน, Cost of bond ที่ 1.3%, Cost offund ที่ 0.6%
-TTB มีสัดส่วน 4% ของหนี้สิน, Cost of bond ที่ 3.2%, Cost of fund ที่ 0.9%
ทั้งนี้ทุก 0.25% ของต้นทุนหุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อประมาณการกำไรปี 2565 ของ SCB ราว 0.4%, KBANK ราว 0.5%, KTB และ TTB ราว 1.2%
สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ มองกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีการตั้งสำรองล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2563 หนุนกลุ่มมี Coverage Ratio ณ สิ้นปี 2564 ที่ 163% แม้ทิศทาง NPL ยังเป็นขาขึ้น แต่คาดอยู่ในการบริหารจัดการ ประเมินสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายเท่าปี 2563 - 2564 ที่ลูกหนี้เผชิญIncome shock ต่างกับปัจจุบันที่รายได้ลูกหนี้เริ่มฟื้นตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น
ทั้งนี้ คงน้ำหนักการลงทุน เท่าตลาด โดยราคาหุ้นในกลุ่มฯ ช่วงที่ผ่านมาปรับฐาน หลังแนวโน้ม GDP เปิด Downside มากกว่า Upside ประกอบกับ ทิศทาง Fund Flow จากต่างชาติเริ่มชะลอเลือก TISCO ให้ราคาเป้าหมายที่ 106 บาท
เนื่องจากงบดุลแกร่งทั้ง BIS Ratio และ Coverage ratio สูงสุดในกลุ่ม พร้อมคาดหมายอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลอยู่ราว 7%
ส่วนธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ยังชอบ KBANK ให้ราคาเป้าหมายที่ 174 บาท เพราะ มีจุดเด่นด้าน Digital มองราคาหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวเร็ว หาก Downside ของ GDP หมดลง หากราคาหุ้นปรับ ฐานสามารถทยอยสะสมได้
สำหรับจากการปรับลด Credit Rating ของธนาคารไทยข้างต้น อาจนำมาสู่ความกังวลได้ว่า Credit Rating ของไทยจะถูกปรับลงด้วยหรือไม่ แต่ บล.เอเชีย พลัส มองว่าไทยมีโอกาสถูกปรับลด Credit Rating ของประเทศลงไม่มาก จากปัจจุบัน S&P ประเมินไว้ที่ระดับ BBB+
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว, ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบ ภาครัฐสามารถกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจได้แต่ทว่าความกังวลอาจสร้างความผันผวนให้ตลาดหุ้นไทย รวมถึงชะลอการไหลเข้าของ Fund Flow และค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าช่วงสั้นๆได้ จึงแนะนำให้เข้าทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีหากราคาปรับอ่อนตัวลงมา
เคทีบีเอส คาดกดดันราคากลุ่มหุ้นแบงก์ลงระยะสั้น
บล.เคทีบีเอส ระบุว่า มีมุมมองเป็นลบต่อ SCB, KBANK, KTB และ TTB จะส่งผลเชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น ส่วนด้านต้นทุนในการออกหุ้นกู้จะกระทบจำกัดเพราะมีสัดส่วนหุ้นกู้เพียง 2-3% ของหนี้สินทั้งหมด (ส่วนใหญ่เป็นเงินฝาก)
อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์โควิดที่ไม่ได้รุนแรงเหมือนก่อนหน้านี้ ทำให้คาดว่า NPL จะยังคงทยอยเพิ่มขึ้นและไม่น่ากังวลมากนัก โดยคาด NPL ในปี 2565 อยู่ที่ 3.49% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 3.11% ประกอบกับกลุ่มธนาคารมีการตั้งสำรองเผื่อมาเยอะมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
โดยมี Coverage ratio เฉลี่ยสูงถึง 177% ดังนั้นเรามองว่าราคาหุ้นที่จะปรับตัวลงเพราะประเด็นนี้เป็นจังหวะในการเข้าซื้อสะสมได้ ยังคงน้ำหนักเป็น “มากกว่าตลาด” แนะนำเลือก KBANK และ SCB เป็น Top pick