การเงิน

คนไทยใช้บัตรเดบิตลดลง สวนทางฝากเงินสดต้องใช้บัตรเดบิตยืนยันตัวตน 

19 ต.ค. 65
คนไทยใช้บัตรเดบิตลดลง สวนทางฝากเงินสดต้องใช้บัตรเดบิตยืนยันตัวตน 

หลังจากธนาคารกรุงไทย ได้ประชาสัมพันธ์ลูกค้าเรื่องการใช้บริการฝากเงินสดผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ (CDM หรือ ADM) โดยระบุว่าลูกค้าต้องเสียบบัตรเดบิต (Debit) หรือบัตรเครดิต (Credit) และใส่ PIN ของผู้ฝากก่อนการฝากเงินสดที่เครื่องอัตโนมัติของทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป เพื่อเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ตามกฎเกณฑ์หน่วยงาน ปปง. 

ผู้บริโภคต่างแสดงความเห็นในโลกโซเชี่ยลกันหลากหลาย และส่วนใหญ่เห็นว่ามีความไม่สะดวกในการฝากเงินหากต้องใช้บัตรเดบิต หรือ เครดิต ในการยืนยันตัวตน บางความเห็นบอกว่า น่าจะมีการกำหนดวงเงินหากมีความกังวลเรื่องการฟอกเงิน เพราะประชาชนรายย่อย แม่ค้า พ่อค้า เวลาฝากเงินเข้าเครื่องรับฝากเป็นวงเงินไม่สูงนัก หรือบางคนไม่มีบัตรเดบิต หรือ เครดิต บางความเห็นบอกว่า บัตรเดบิตมีการคิดค่าธรรมเนียมสูง เป็นต้น 

ทีมงาน Spotlight รวบรวมสถิติพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทย พบว่า ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2565 พฤติกรรมคนไทยใช้การชำระเงินผ่านรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment เดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยที่ 377 รายการ/คน/ปีธุรกรรม e-Payment เพิ่มขึ้น ทุกช่องทาง โดยเฉพาะช่องทาง internet & mobile banking ที่ยังคงได้รับความนิยมสูงสุด 

อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์ การแพร่ระบาด COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และภาคธุรกิจเริ่มกลับมาให้บริการ ทำให้ ธุรกรรม ทางการเงินผ่านช่องทางดั้งเดิม ได้แก่การใช้เช็ค การถอนเงินสดผ่าน ATM และผ่านสาขา มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเมื่อ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะปริมาณการถอนเงินสดผ่าน ATM ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมาก

ฝากเงินใช้บัตรเดบิต ยืนยันตัวตน

สำหรับจำนวนคนไทยมีบัตรเดบิต และ บัตรเครดิต พบว่า คนไทยมีบัตรเดบิต 63.5 ล้านใบ ลดลง    1.1% เทียบปี 2564   ส่วนมีบัตรเครดิต 25.6 ล้านใบ เพิ่มขึ้น  2.5%  เทียบปี 2564 
โดยเฉพาะบัตรเดบิต หรือ บัตรเอทีเอ็มปัจจุบันมักมีการปรับให้เป็นรูปแบบบัตรเดบิตอยู่ด้วย มีการคิดค่าธรรมเนียมแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

1.ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท

2.
ค่าธรรมเนียมรายปี ตั้งแต่ 50 - 1,699 บาท แล้วแต่ประเภทบัตร

หากใครต้องการทราบรายละเอียดของค่าธรรมเนียมบัตร ATM และ บัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิต รวมไปถึงค่าธรรมเนียมทางการเงินเกือบทุกชนิดสามารถเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เลย

ที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมคนไทยใช้รูปแบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมาก ติดอันกับต้นๆของโลกเลยก็ว่าได้ โดยพบว่า คนไทยใช้ E-payment  377 ครั้ง/คน/ปี  เพิ่มจาก 322  ครั้ง/คน/ปี ในปี 2564  คนไทยโอนเงินE-payment40.3 ล้านครั้ง/วัน  มูลค่า 117,000 ล้านบาท  คนไทยใช้ Internet & Mobile Banking  130.5 ล้านบัญชี มูลค่า 8.2 ล้านล้านบาท

สถิติคนไทยใช้ระบบการชำระเงิน

แท้จริงแล้ว พฤติกรรมคนไทยปรับตัวหันมาใช้ระบบการชำระเงินแบบออนไลน์มากขึ้น ปัญหาเรื่องการฝากเงินและให้ยืนยันตัวจนผ่านบัตรเดบิตและเครดิตจึงอาจจะไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมคนมากนัก ที่พกเงินสดน้อยลง ไปธนาคารน้อยลง พกบัตรน้อยลงเพราะสามารถทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ได้ 

ส่วนในระหว่างนี้หากหลังวันที่ 15  นี้ไปแล้ว  ยังต้องมีการฝากเงินสดที่ตู้อัตโนมัติ ตามโครงการ CDM AMLO จะต้องยืนยันตัวตนทุกครั้งที่ทำรายการ ด้วยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตที่มีอยู่ โดยสามารถใข้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ธนาคารใดก็ได้ จาก 11 ธนาคาร ดังนี้

  • ธนาคารกรุงไทย 
  • ธนาคารกสิกรไทย 
  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ธนาคารกรุงเทพ 
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต
  • ธนาคารยูโอบี 
  • ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
  • ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์

สำหรับลูกค้าธนาคารที่ไม่มีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ยังสามารถทำรายการฝากเงินสดได้ที่เคาน์เตอร์สาขาของธนาคาร รวมไปถึงตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ของแต่ละธนาคาร โดยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนของผู้ฝาก พร้อมเสียค่าธรรมเนียมการฝากเงินตามที่ธนาคารกำหนด ขณะเดียวกันคงต้องรอผลการพัฒนาระบบจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะสามารถพัฒนารูปแบบการยืนยันตัวตนแบบอื่นที่สะดวกมากขึ้น สอดคล้องกับผู้บริโภคยุคปัจจุบันอย่างไรต่อไป 

advertisement

SPOTLIGHT