อินไซต์เศรษฐกิจ

ปิดตำนาน ล้ง 1919 เปิดอาณาจักร Wellness Destination

25 พ.ย. 64
ปิดตำนาน ล้ง 1919 เปิดอาณาจักร Wellness Destination
 
 

เคาท์ดาวน์ 5 วันสุดท้ายสำหรับ ล้ง 1919 แลนด์มาร์กริมน้ำประวัติศาสตร์ ที่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ว่ายักษ์ใหญ่วงการอสังหา “ AWC” เจ้าของแลนมาร์กริมน้ำ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” รวมไปสถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ โรงแรมแบรนด์หรูที่อยู่ในประเทศไทย และอาคารสำนักงาน ได้จับมือ เซ็นสัญญาเช่าแลนด์มาร์กแห่งนี้จากตระกูลหวั่งหลี เพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ในโครงการที่พัก-ศูนย์สุขภาพแห่งใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ “The River Journey”

 
Spotlight พาคุณย้อนชมความรุ่งเรืองของทั้ง ล้ง 1919 และ AWC ในวันที่นักท่องเที่ยวยังหลั่งไหลเข้ามา และอนาคตของมิกซ์ยูสสุขภาพแห่งใหม่ บนที่ดินประวัติศาสตร์ผืนนี้
 
267707
 
“ล้ง 1919” : แลนด์มาร์กประวัติศาสตร์ ที่เหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์
 
"ฮวย จุ่ง ล้ง" หรือ "ท่าเรือกลไฟ" หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นดีที่แสดง ถึงความสัมพันธ์ทางการค้าของไทย-จีนตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอายุเก่าแก่กว่า 171 ปี ถูกชุบชีวิตขึ้นใหม่ ให้กลายเป็นแลนด์มาร์กร่วมสมัยโดย “ตระกูลหวั่งหลี” ในปี 2560 ในชื่อ “ล้ง1919”
 
ในสถานที่แห่งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถมาเยี่ยมชมศิลปะ ซึมซับวัฒนธรรม และเที่ยวแบบชิลๆ อาทิ อาคารไม้สถาปัตยกรรมจีนโบราณ, ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากปลายพู่กันจีน ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) อายุมากกว่า 180 ปี ร้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ รวมไปถึงลานจัดกิจกรรมที่มีอีเวนต์สำคัญๆ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามา ด้วยส่วนประกอบที่ลงตัวเหล่านี้ ล้ง 1919 จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ให้เข้ามาซึมซับมนต์เสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนแห่งนี้ นับพันคนต่อวัน
 
แต่ในปี 2563 ที่ผ่านมา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “ล้ง 1919” ซึ่งเคยคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว ก็เงียบเหงาลงทันตา เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไม่ได้ คนไทยไม่กล้าออกไปไหน อีเว้นท์ที่เคยแวะเวียนเข้ามาจัดก็เงียบหาย และทางล้ง 1919 เองก็ปิดชั่วคราวหลายครั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงของลูกค้ารวมไปถึงพนักงาน จากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมความงดงามของ ล้ง 1919 ระดับพันคนต่อวัน ก็ลดเหลือเพียงระดับ 100 คน
 
 
“5 วัน” สุดท้ายที่จะได้เจอ ล้ง 1919 ในแบบที่เราคุ้นเคย
 
ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 บทบาทของ “ล้ง1919” ในการเป็นแลนด์มาร์กแห่งศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน จำต้องยุติลง หลังจากที่เพิ่งครบครอบการเปิดให้บริการ 4 ปีไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
 
โดยนักท่องเที่ยวจะยังสามารถเข้าไปเสพบรรยากาศ บันทึกภาพความทรงจำสุดท้ายของสถานที่แห่งนี้ได้จนถึง วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ เท่านั้น ก่อนจะปิดปรับปรุงเพื่อพัฒนาโครงการยาวไปจนถึงปี 65 โดยนักท่องเที่ยวและผู้มีจิตศรัทธาจะยังสามารถเข้ามาสักการะ บริเวณศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วได้ตลอดระยะเวลาที่มีการปิดปรับปรุง
 
295536
 
 
แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) : โควิด บังคับให้ ปรับตัว
 
“เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” “โรงแรมในเครือแมริออทในประเทศไทย” “อาคารเอมไพร์ ทาวเวอร์” คือตัวอย่างของอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ AWC ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร ทั้งการกิน เที่ยว ช็อป การทำงาน และการพักผ่อน ในช่วงที่การท่องเที่ยวคึกคัก นักท่องเที่ยวต่างชาติ หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย AWC ซึ่งมี คอมมูนิตี้ชอปปิงมอลล์ คอมมูนิตี้ มาร์เก็ต และโรงแรมขนาดใหญ่อยู่ในมือ ได้รับอานิสงส์ไปแบบเต็มๆ โดยปี 62 มีกำไรสุทธิถึง 1,054 ล้าน เติบโตจากปี 61 ถึง 124%

แต่เมื่อโควิด-19 มาถึง สถานที่ที่ “นำคนมารวมกัน” อย่างสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม และออฟฟิศ กลับกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ในการแพร่ระบาด หลายสถานที่ต้องปิดให้บริการ หลายสถานที่ก็เงียบเหงาเพราะขาดนักท่องเที่ยว AWC ได้รับผลกระทบเต็มๆ พลิกมาขาดทุนถึง 1,881 ล้านบาทในปีเดียว ทำให้ต้องปรับตัวยกใหญ่ จะทำธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป

AWC จึงต้องปรับกลยุทธในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้เข้ากับนิว นอร์มอล และ นิว ไลฟ์สไตล์ของลูกค้า หนึ่งในกลยุทธ์ที่ AWC ใช้คือการพัฒนาหรือโครงการให้สอดรับกับ เทรนด์สุขภาพแบบ Holistic Wellness (สุขภาพแบบองค์รวม) และการเข้าพักระยะยาว จึงเกิดเป็นโครงการใหม่ขึ้นมา “The Integrated Wellness Destination” บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ของล้ง 1919
 
 
“5 ปี” ต่อจากนี้ของ AWC กับบิ๊กโปรเจ็กต์ “ที่พัก x สุขภาพ x ประวัติศาสตร์”
 
การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นทางการ ได้เกิดขึ้นหลังจากมีการลงนามในสัญญาเช่าที่ดินระหว่าง “คุณวัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ AWC และ “คุณวุฒิชัย หวั่งหลี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท หวั่งหลี จำกัด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อส่งมอบการครอบครองพื้นที่เช่า

“The River Journey” คือคอนเซปต์ใหญ่ที่จะเชื่อมต่อแลนด์มาร์กริมน้ำของ AWC ทั้งโครงการในปัจจุบัน (เช่น เอเชียทีค EAC เรือสิริมหรรณพ) และโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวในแม่น้ำสายสำคัญอันทรงเสน่ห์ของไทย ให้กับลูกค้า และแน่นอนว่าโครงการใหม่ที่หมายจะพลิกโฉม “ล้ง 1919” นี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

AWC จะเนรมิตสถานที่แห่งนี้ ให้เป็นศูนย์รวมของการพักผ่อน สุขภาพ และเรื่องราวประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าเข้าไว้ด้วยกันภายใต้คอนเซปต์ “Be well, live well, eat well” ด้านที่พักได้ Ritz Carlton แบรนด์ระดับท็อปในเครือ Mariott International เข้ามาบริหารที่พักทั้งในส่วนโรงแรม และแบรนเด็ด เรสซิเดนส์

ส่วนด้านสุขภาพโครงการใหม่นี้จะมี Facility มากมายที่จะทำให้ผู้ที่เข้าพักและมาใช้บริการได้สัมผัสหลากหลายกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพดีทั้งภายนอก และภายใน เสริมพลังด้วย “เจ้าแม่หม่าโจ้ว” ซึ่งปางเทียนโหวเซี่ยบ้อ หรือ ปางเทพของท่าน ขึ้นชื่อเรื่องสุขภาพแข็งแรง ครอบครัวอบอุ่นร่มเย็น โดยการพัฒนาโครงการนี้จะยังคงอนุรักษ์อาคารเดิมเอาไว้ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ถูกส่งมอบมาหลายชั่วอายุคน
 
671746
 
ที่ดินระดับตำนานกับผู้เล่าเรื่องราวคนใหม่
 
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่ดินผืนหนึ่งซึ่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและมูลค่า ทั้งทางประวัติศาสตร์ ทางเศรษฐกิจและทางจิตใจที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยปี จะถูกนำมาสร้างประโยชน์ และถ่ายทอดเรื่องราวใหม่ถึง 2 ครั้ง ใน 1 ทศวรรษ

ครั้งแรก ในรูปแบบของแลนด์มาร์กที่ผสานศิลปวัฒนธรรมเข้ากับไลฟ์สไตล์ และครั้งที่สองในรูปแบบของจุดหมายปลายทางของคนรักสุขภาพจากทั่วโลก

ทั้งหมดคือ ความท้าทายของธุรกิจหลังโควิด 19 การปรับกลยุทธ์ของ AWC ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคใหม่ หาก AWC อ่านเกมผู้บริโภคขาด นั่นหมายถึง เป้าหมายกำไร (EBITDA) 500 ล้านบาทหลังการเปิดให้บริการในปี 2569 อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
 
 

advertisement

SPOTLIGHT