“ข้าวเหนียวมะม่วง” ของหวานยอดฮิตจากประเทศไทย กลายเป็นกระแสไวรัลในทันที เมื่อ “มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล” นักร้องแร็ปเปอร์สาวไทยวัย 19 ปี โชว์การแสดงของเธอบนเวทีระดับโลก Coachella ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวานนี้ โดยมิลลิได้หยิบเอา 2 เพลงสุดฮิตของเธอมาร้องในช่วงสั้น ๆ คือเพลง สุดปัง และเพลง Mirror Mirror ซึ่งเคยติดชาร์ตมาแล้ว แถมยังแรปเสียดสีหลายเรื่องราวในประเทศไทย แต่ไฮไลท์เด็ดคือ การกิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” โชว์ระหว่างการแสดง การแสดงของมิลลิจบลง แต่ธุรกิจร้านขายข้าวเหนียวมะม่วง กลับเริ่มมียอดขายพุ่งถล่มทลายหลายเท่าตัว
กระแสไวรัลของ “มิลลิ” เป็นจังหวะที่พอดีกับช่วงราคามะม่วงของไทยกำลังตกต่ำพอดี ต้องตามดูต่อว่ากระแสความฮิตกินข้าวเหนียวมะม่วงจะอยู่ยาวนานแค่ไหน และช่วยดันให้ราคามะม่วงปรับขึ้นได้หรือไม่ ทีมงาน SPOTLIGHT ถือโอกาสพามาดูข้อมูลที่น่าสนใจของ “มะม่วง”ไทย ซึ่งนับเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับต้นๆของประเทศ
จากกราฟฟิค แสดงให้เห็นถึงราคามะม่วงน้ำดอกไม้สุกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ทุกช่วงเดือน เมษายนราคามะม่วงจะตกต่ำลงมาอยู่ที่ 22.50 -30 บาท/กก. จากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 100-140 บาท/กก.ในช่วง สิงหาคม สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ผลผลิตมะม่วงไทยจะออกมามากในช่วงเดือนตั้งแต่ มีนาคม – มิถุนายน ของทุกปี
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล ได้ใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาราคามะม่วงตกต่ำแล้วจำนวนมาก โดยข้อมูลจาก กรมการค้าภายในระบุว่า ใช้เงินซื้อมะม่วงฟ้าลั่นแล้วกว่า 1,400 ตัน เพื่อนำราคาตลาดอยู่ที่ 10 บาท/กก. และพร้อมรับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้ในราคา 25 บาท./กก. รวมทั้งการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดให้มากขึ้น ซึ่งเป็นวงจรของผลไม้ไทยหลายชนิดที่มักมีช่วงราคาตกต่ำในตอนผลผลิตออกมามาก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พูดในวันนี้ว่า การจะผลักดันเมนู “ข้าวเหนียวมะม่วง” ขึ้นทะเบียนมรดกโลกกับยูเนสโก เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเอง นักข่าวสอบถามหลังจากกระแสมิลลิไวรัลเป็นอย่างมาก
“ซึ่งประเทศไทยมีของดีๆ จำนวนมาก และตนย้ำเสมอในเรื่อง Soft Power เรื่องอาหาร ธรรมชาติ เรื่องสุขภาพ หรือเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่ และนี่คือ Soft Power ที่ไทยมีความพร้อมและตนได้กำหนดไว้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรัดสนับสนุน และพัฒนา Soft Power โดยเฉพาะทรัพยากรที่มีจำนวนมาก เพื่อทำให้คนให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับประเทศไทย”
ปริมาณผลผลผลิตมะม่วงที่เราผลิตได้ส่วนใหญ่บริโภคภายในประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งไทยก็ส่งออกมะม่วงไปหลายประเทศ ส่วนใหญ่ตลาดหลักจะเป็นประเทศในแถบเอเชีย ข้อมูลจาก Worldatlast พบว่า ปี 2562 ประเทศไทยส่งออกมะม่วงมากเป็นอันดับ 3 ของโลก (3.4 ล้านตัน) เป็นรองแค่ อินเดีย (18 ล้านตัน) และจีน (4.77 ล้านตัน) เท่านั้น สินค้ามะม่วงที่ส่งออกมีทั้ง มะม่วงสดหรือแช่แข็ง มะม่วงอบแห้ง และ มะม่วงบรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้
ที่มารูปภาพ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นโยบายการบริหารจัดการผลไม้ไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับราคาขึ้นมาได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ เคยรายงานว่า แนวโน้มความต้องการมะม่วงสดของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดจีน และฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้นำเข้ามะม่วงอันดับต้นของโลก และนิยมมะม่วงพันธุ์ที่ไทยมีศักยภาพในการเพาะปลูก เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงมหาชนก มะม่วงเขียวเสวย มีโอกาสที่ไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นได้ เช่นเดียวกับ ผลไม้แปรรูปที่มีลักษณะเป็นขนมขบเคี้ยวรับประทานง่าย ซึ่งได้รับแต้มต่อทางภาษีภายใต้เอฟทีเอเช่นเดียวกับมะม่วงสด ก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยจึงอาจพัฒนาเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออก โดยให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าและพัฒนาคุณภาพการผลิต พิถีพิถันตั้งแต่การเพาะปลูก การบรรจุหีบห่อ การมีใบรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งระมัดระวังเรื่องการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เนื่องจากปัจจุบันตลาดในหลายประเทศเข้มงวดในเรื่องนี้และผู้บริโภคก็นิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น และที่สำคัญควรใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอช่วยในการส่งออกอย่างเต็มที่
กระแสของความนิยม หรือ ความสนใจใน ข้าวเหนียวมะม่วง จากการแสดงของมิลลิ จะเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นหรือไม่ต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ทีแน่ๆ การแสดงดังกล่าว ก็ได้จุดชนวนให้ทุกฝ่าย เห็นความสำคัญของผลไม้ชนิดนี้มากขึ้นกว่าเดิมและเป็นความหวังให้ทั้งเกษตรกรและ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตื่นตัวกันมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง