ผู้บริหารมากความสามารถบนโลกนี้มีอยู่มากมาย แต่ผู้บริหารที่ทั้งเก่ง และกล้าออกมาบอกให้โลกรู้ว่าตนก็เป็นหนึ่งในความสวยงามบนสเปกตรัมหลากสีสันของ “LGBTQ+” นั้นน่านับถือยิ่งกว่า เพราะนอกจากพวกเขาเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างให้กับคนในองค์กรแล้ว พวกเขายังเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาว LGBTQ+ คนอื่นๆ ว่า ไม่ว่าตัวตนของคุณจะเป็นอย่างไร คุณก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ และประสบความสำเร็จได้เสมอ
Spotlight ต้อนรับเดือน #Pridemonth ด้วย 6 ผู้บริหารคนเก่ง ชาว LGBTQ+ ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ จากหลากหลายแวดวง รวมถึงพาทุกคนมารู้จักที่มาของ #Pridemonth ให้มากขึ้น
ก่อนจะพูดถึง ‘เดือนแห่งความภาคภูมิใจ’ ขอมาให้คำนิยามกับ LGBTQ+ หรือปัจจุบันเพิ่มเป็น LGBTQIA+ กันก่อน ว่าแม้โดยโครโมโซมแล้ว ผู้มีโครโมโซม XY จะถูกระบุเป็น ‘เพศชาย’ ผู้มีโครโมโซม XX จะถูกระบุเป็น ‘เพศหญิง’ แต่โดยรสนิยม ความชอบ และจิตวิญญาณแล้ว LGBTQ+ หมายถึง
L - มาจาก ‘Lesbian (เลสเบี้ยน)’ หมายถึง เพศหญิงที่สนใจเพศหญิงด้วยกัน
G - มาจาก ‘Gay’ (เกย์) หมายถึง เพศชายที่สนใจเพศชายเหมือนกัน (แต่ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง ก็เรียกตัวเองได้ว่าเป็นเกย์ได้เหมือนกัน)
B - มาจาก ‘Bisexual’ (ไบเซ็กชวล) หมายถึง ผู้ที่ชอบได้ทั้ง 2 เพศไม่ว่าจะเป็นเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกัน
T - มาจาก ‘Transgender’ (ทรานส์เจนเดอร์) หรือ บุคคลข้ามเพศ หมายถึง บุคคลที่ใช้กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ หรือใช้ฮอร์โมน เพื่อปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นเพศที่ตรงข้ามซึ่งตรงกับตัวตนของตัวเองมากขึ้น
Q - มาจาก ‘Queers’ (เควียร์)หมายถึง เพศอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด ครอบคลุมความหมายเป็นร่มใหญ่ของ LGBTQIA+
นอกจากนี้ Q ยังหมายถึง ‘Questioning’ หรือคนที่ยังไม่แน่ใจกับการนิยามเพศของตัวเองอีกด้วย
I - มาจาก ‘Intersex’ หมายถึง ภาวะเพศกำกวม คือ คนที่มีโครโมโซม หรือเครื่องเพศของทั้งเพศชาย และเพศหญิง โดยกำเนิด
A - มาจาก ‘Asexual’ หมายถึง บุคคลที่ไม่มีความรู้สึกพิศวาสทางเพศ ไม่ว่ากับเพศใดๆ
+ หมายถึง เพศอื่นๆ ที่ไม่ตกอยู่ในนิยามของทั้งหมดที่กล่าวมา รวมถึงเพศใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต
นอกจากเรื่องเพศที่ทุกคนให้ความสำคัญมากขึ้นแล้ว ‘สรรพนาม’ ก็เป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น โดยนอกจากการเรียกการด้วยสรรพนาม ‘He/him และ She/her’ ซึ่งเกิดขึ้นจากมาตรฐานการแบ่งหญิง-ชายแล้ว ชาว LGBTQ+ บางคนก็หันมาใช้สรรพนามอื่นๆ ในการใช้แทนตัวเอง เช่น they/ them หรือ sie, zie, e, ve, tey กันมากขึ้น
ส่วนสัญลักษณ์สำคัญของชาว LGBTQ+ คือ ‘ธงสีรุ้ง’ ซึ่งถูกใช้ครั้งแรกในการเดินขบวน ใน San Francisco Gay Freedom Day Parade วันที่ 25 มิถุนายน 1978 โดย “Gilbert Baker” ศิลปินชาวอเมริกัน โดยสมัยก่อน ประกอบไปด้วย 8 สี ได้แก่ 8 สี คือ ชมพู แดง ส้ม เหลือง เขียว เทอร์ควอยซ์ น้ำเงิน และม่วง ปัจจุบันลดเหลือ 6 สี ได้แก่
แดง : ชีวิต
ส้ม : การเยียวยา
สีเหลือง : แสงอาทิตย์
สีเขียว : ธรรมชาติ
สีน้ำเงิน : ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว/ความสงบ
สีม่วง : จิตวิญญาณ
หลังเหตุการณ์ ‘Stonewall Riots’ เหตุจลาจลที่กลุ่มชาวเกย์ลุกขึ้นมาต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ยกกำลังมาตรวจค้น บาร์ Stonewall คอมมูนิตี้ของชาวเกย์ในนิวยอร์ก ในคืนวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 จุดชนวนให้ชาว LGBTQ+ ทั่วโลกลุกขึ้นมายืนหยัดเพื่อสิทธิและความเสมอภาคของพวกเขา
1 ปี ต่อมา วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1970 ที่เมืองนิวยอร์กและอีก 3 เมืองใหญ่อย่าง Los Angeles, San Francisco และ Chicago ชาวเกย์ในสหรัฐได้ลุกขึ้นมาจัดขบวนพาเหรด ‘Gay Pride’ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับชาวเกย์ ก่อนสร้างแรงบันดาลใจและขยายครอบคลุมทั้งคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ในปีต่อๆ มา นอกจากนี้ เดือนมิถุนายนยังกลายเป็น ‘Pride Month’ เดือนแห่งความภาคภูมิใจของคอมมูนิตี้ LGBTQ+ มาจนปัจจุบัน
หนึ่งคำกิริยาที่เราได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้ คำว่า ‘Come out’ นั้นมาจาก ‘Come out of the closet’ หรือ ออกมาจากตู้เสื้อผ้า หมายถึง การเปิดเผยตัวเองว่าเป็น LGBTQ+ ดั่งเช่นว่า เมื่อก่อนเคยต้องหลบซ่อน แต่งชุดที่ชอบอยู่ในตู้เสื้อผ้าอยู่คนเดียว แต่ตอนนี้สามารถใส่ชุดตัวโปรดตัวนั้น เดินออกมาจากตู้ และใช้ชีวิตได้อย่างภาคภูมิใจ และเป็นตัวเองแล้ว
นอกจากคำว่า Come out แล้ว ยังมีคำว่า Out เฉยๆ ซึ่งแปลว่า ถูกคนรู้ว่าเป็น LGBTQ+ โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่เต็มใจ ส่วนคำว่า Glass Closet (ตู้เสื้อผ้ากระจก) นั้นหมายถึง การที่บุคคลสาธารณะถูกคนในสังคมเข้าใจว่าเป็น LGBTQ+ เอง โดยไม่ต้อง Come out หรือประกาศอย่างเปิดเผย
1. Tim Cook
ตำแหน่ง CEO
บริษัท Apple Inc.
ประกอบธุรกิจด้าน อุปกรณ์เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และบริการออนไลน์
มูลค่าบริษัท 83 ล้านล้านบาท
นับเป็นฮีโร่ของคอมมูนิตี้ LGBTQ+ เลยก็ว่าได้ เพราะ Tim Cook เป็น CEO คนแรกของบริษัทขนาดใหญ่ในการจัดอันดับของ ‘Fortune 500 Company’ ที่ Come out ว่าตนเองเป็นเกย์ ซึ่งเขาก็ได้เป็นกระบอกเสียงให้กับคอมมูนิตี้ของ LGBTQ+ อย่างต่อเนื่อง เขาเล่าให้ฟังภายหลังว่า หลังจากได้อ่านจดหมายของเด็กๆ ที่ต้องต่อสู้กับการไม่เข้าใจในเพศของตัวเอง เขาจึงถ่ายทอดผ่านเรียงความใน Bloomberg ว่า
“ถ้าการประกาศว่า CEO ของแอปเปิลเป็นเกย์ จะสามารถช่วยให้คนที่กำลังสับสนว่าพวกเขาหรือพวกเธอเป็นใคร หรือสร้างความอบอุ่นให้กับคนที่รู้สึกว้าเหว่ในสังคม หรือตอกย้ำให้ผู้คนยืนหยัดในความเท่าเทียม งั้นมันก็คุ้มค่าที่จะยอมแลกกับความเป็นส่วนตัวของตัวผมเอง”
2. Jim Fitterling
ตำแหน่ง CEO
บริษัท The Dow Chemical Company
ประกอบธุรกิจด้าน พลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
มูลค่าบริษัท 1.69 ล้านล้านบาท
Jim Fitterling เข้าทำงานที่ Dow ตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย ในปีค.ศ. 1984 ในตอนที่เขาดำรงตำแหน่งเป็น COO ของบริษัท เขาได้ Come out ต่อพนักงานทั้งบริษัทในวัน Come Out Day ในปี 2014 และเมื่อเขาได้ก้าวขึ้นมาเป็น CEO ในปี 2018 Jim ได้แต่งตั้ง ‘ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการยอมรับความแตกต่าง’ ซึ่งปฏิบัติงานขึ้นตรงกับเขาเป็นครั้งแรกของบริษัท และได้ทำงานเพื่อการไม่แบ่งแยก และเพื่อความเท่าเทียมของ LGBTQ+ จนได้รับการเสนอชื่อในหอเกียรติยศ OUTstanding Hall of Fame
3. Beth Ford
ตำแหน่ง CEO
บริษัท Land O’Lakes Inc.
ประกอบธุรกิจด้าน สหกรณ์การเกษตรในสหรัฐ
รายได้บริษัท 5.5 แสนล้านบาท
Beth Ford นับเป็นผู้บริหารหญิงคนแรกใน ‘Fortune 500 Company’ ที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งเธอได้ Come out ว่าเป็นเกย์ตลอดเส้นทางอาชีพของเธอ โดยเธอบอกผ่าน CNN ในบทสัมภาษณ์ของเธอว่า “ฉันตัดสินใจมานานมากแล้วที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเองจริงๆ และถ้าการขึ้นเป็น CEO ของฉันทำให้คนอื่นๆ สามารถใช้ชีวิตแบบเดียวกันได้ ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่วิเศษมากจริงๆ” นอกจาก Beth จะสนับสนุนชาวเกษตรกรในพื้นที่ไกลความเจริญของสหรัฐแล้ว เธอยังเป็นผู้สนับสนุนตัวเอ้เรื่องสิทธิมนุษยชนของคอมมูนิตี้ LGBTQ+ อีกด้วย
1. แอน - จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์
ตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ
บริษัท JKN Global Media Co., Ltd
ประกอบธุรกิจ ผลิต จำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์
มูลค่าบริษัท 3.49 พันล้านบาท
‘สตรีข้ามเพศพันล้าน’ กลายเป็นลายเซ็นของ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ไปแล้ว เธอก่อตั้งอาณาจักร ‘เจเคเอ็น’ ให้กลายเป็นผู้นำด้านคอนเทนต์ทั้งไทยและต่างประเทศโดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงอายุ 21 ปี ปัจจุบัน แอน จักรพงษ์ ต้องการผลักดันการการเปลี่ยนคำนำหน้าให้กับเหล่าบุคคลข้ามเพศ เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นตัวเอง ตามเพศที่ตัวเองเลือกมากที่สุด
2. เต้ - ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ และรองประธานกรรมการบริหารด้านงานสร้างสรรค์
บริษัท Kantana Group Co., Ltd
ประกอบธุรกิจ เผยแพร่ภาพยนตร์ วีดีทัศน์และรายการโทรทัศน์
รายได้บริษัท 244 ล้านบาท
ทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง ‘กันตนา’ ผู้ผลิตหนังและละครที่อยู่คู่วงการสื่อบ้านเรามากว่า 71 ปี เต้ ปิยะรัฐ เป็นหนึ่งในผู้กรุยทางให้กับ LGBTQ+ ผ่านพื้นที่มากมาย อาทิ The Face Thailand และ Drag Race Thailand ซึ่งตัวเขาเองเผยว่า ความเป็นชาวเอเชีย และ LGBTQ+ ของตนทำให้การใช้ชีวิตในสมัยเรียนยากลำบาก แต่เป็นจุดที่ทำให้แข็งแกร่ง ซึ่งตอนนี้คงไม่อยากนิยามว่าเป็นตัวอักษรไหนใน LGBTQ+ แต่สนับสนุนความรักแบบไม่แบ่งเพศ แค่มีความเข้าใจแล้วเดินไปด้วยกัน
3. วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา
ตำแหน่ง ประธานและผู้ก่อตั้ง
บริษัท Woody World Co.,Ltd.
ประกอบธุรกิจ ผลิตรายการโทรทัศน์
รายได้บริษัท 94.3 ล้านบาท
พิธีกรอารมณ์ดีผู้ก่อตั้ง “Woody World” อาณาจักรผลิตความบันเทิงทั้งบนทีวีและออนไลน์ เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งวู้ดดี้และแฟนหนุ่ม ‘คุณโอ๊ต-อัครพล จับจิตรใจดล’ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า พวกเขาทั้งสองอยากมีลูกด้วยกัน แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้คู่รัก LGBTQ+ ทุกวันนี้มีปัญหาในการเป็นผู้ปกครองบุตร ซึ่งเขาทั้งคู่เองก็เฝ้าฝันที่จะเห็นวันที่กฎหมายไทยให้สิทธิชาว LGBTQ+ มีคู่ชีวิต และสร้างครอบครัวตามที่ต้องการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้ใช้คำนำหน้าอย่างที่ปราถนา
ที่มา
Investopedia, SET, DBD, UNCO, LOC, LGBTQIA Resource Center, Wikipedia, Timeout, Medhubnews, Hello Magazine, Komchadluek, Matichon
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนคู่ชีวิต
เปิดตัว Macbook Air M2 พร้อม OS รุ่นใหม่ทุกอุปกรณ์ ลูกเล่นเพียบ
รู้จัก 60 ปี 'แกรนด์สปอร์ต' สปอนเซอร์พาวอลเลย์บอลไทยไประดับโลก
EVEANDBOY ยอดขายพุ่ง รับไทยเตรียมบอกลา “แมสก์” คนไทย ยังไงก็ต้องสวย!