เมื่อวานนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติตุรกีได้เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน มิ.ย. ว่า เงินเฟ้อได้ขยับขึ้นไปแตะ 78.62% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 ปีไปเรียบร้อยแล้ว
ลำพังตัวเลขเงินเฟ้อว่าน่ากลัวแล้ว ถ้าดูใส้ในยิ่งน่ากลัวกว่า เช่น ดัชนีเงินเฟ้อในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม(ไม่รวมแอลกอฮอล์) ขึ้นไปถึง 93.93% ขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อในกลุ่มค่าโดยสารเดินทาง ขึ้นไปถึง 123.37%
เห็นตัวเลขสูงขนาดนี้แล้วหลายคนอาจจะตกใจ เพราะลำพังแค่ระดับ 7% ของบ้านเรา ก็แทบกระอักกันแล้ว แล้วระดับตุรกีที่เงินเฟ้อสูงมากกว่าบ้านเรา 10 เท่าแบบนี้ เขาอยู่กันได้อย่างไร และมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
อาจตอบได้คร่าวๆ ว่า เพราะตุรกีแก้เงินเฟ้อแบบ "ฉีกกฎทุกตำราเศรษฐศาสตร์" ก็ว่าได้ โดยเฉพาะหลักการเบื้องต้นที่ "ไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ย" ตรงกันข้ามกลับลดดอกเบี้ยด้วยซ้ำ
จริงอยู่ว่า ปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกงวดนี้มาจากสาเหตุต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (Cost-push) เป็นหลัก ไม่ใช่จากความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น (Demand-pull) ดังนั้น การแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยจึงไม่ได้ช่วยลดอัตราเงินเฟ้อลงมามากนัก แต่จะไม่ขึ้นก็ไม่ได้ เพราะ "สหรัฐ" กำลังเป็นหัวหอกในการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงในปีนี้ ถ้าไม่ปรับตามบ้างจะเกิดปัญหาเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป จนอาจกระตุ้นให้เงินทุนไหลออก จากนั้นค่าเงินก็จะอ่อนค่าลงอีก ทำให้นำเข้าสินค้าพวกน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น และยิ่งซ้ำเติมภาะวะเงินเฟ้อหนักขึ้นไปอีก
ที่น่าสนใจก็คือ นอกจากตุรกีจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เขากลับแทงสวน "ลดดอกเบี้ย" ลงด้วยซ้ำ เพราะเชื่อมั่นว่าต้นทุนกู้ยืมที่ถูกลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักขึ้น เมื่อคนมีเงินมากขึ้น เงินเฟ้อก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าไร
เงินเฟ้อในตุรกีนั้นเริ่มเร็วกว่าชาวบ้านทั่วไป คือหลายประเทศเริ่มแย่หลังจากที่น้ำมันแพงเพราะสงครามรัสเซียเมื่อต้นปีนี้ แต่ตุรกีเริ่มเฟ้อมาตั้งแต่ประมาณไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แต่ตุรกีกลับลดดอกเบี้ยมาหลายครั้งตั้งแต่เดือน ก.ย. รวมแล้วลดไปถึง 5% ก่อนที่จะประกาศหยุดการลดดอกเบี้ยเอาในเดือน ม.ค. ปี 2022 นี้ เพราะเงินเฟ้อเดือน ม.ค. ที่พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ที่ 48.7%
เพื่อต่อสู้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น รัฐบาลต้องช่วยอุดหนุนหลายอย่าง และได้ "ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ" ไปถึง 2 รอบในปีนี้ รอบแรกคือ 1 ม.ค. 2022 ปรับขึ้นประมาณ 50.5% ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 4,250 ลีร่า (ราว 9,500 บาท) และลูกจ้างยังได้เพิ่มขึ้นหากแต่งงานมีครอบครัวและมีลูก
แต่ผ่านไปครึ่งปี เงินเฟ้อกลับแย่ลง จากเกือบ 50% ขึ้นไปเกือบ 80% แล้วในวันนี้ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบ 2 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยงวดนี้ขึ้นอีกเกือบ 30% ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำ (หักประกันสังคมและภาษีแลเว) ขึ้นไปอยู่ที่ 5,500 ลีร่า (ราว 11,500 บาท)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าเงินลีร่าที่อ่อนค่าประมาณเกือบ 20% ในปีนี้ และดัชนีเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนมา 13 เดือนติดต่อกัน ทำให้หลายฝ่ายยังมองไม่เห็นแสงสว่างต่อการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของตุรกี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารบาเคลย์ส ประเมินว่า เงินเฟ้อตุรกียังขึ้นไปได้อีก โดยเชื่อว่าจะไปพีกที่ประมาณ 88% ในเดือน ต.ค. นี้
ซีเอ็นบีซี ระบุว่า เงินเฟ้อที่พุ่งทะยานขึ้นส่งผลกระทบต่อประชากร 84 ล้านคนในตุรกีอย่างหนัก โดยมีความหวังเพียงเล็กน้อยว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเวลาอันสั้น เนื่องจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานและอาหารที่สูง รวมถึงค่าเงินลีราที่อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง
หมายเหตุ (ที่ไม่เกี่ยวกับเงินเฟ้อ): ตุรกี เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Turkiye ราชบัณฑิตยสภา มีมติใช้ “ตุรกี” หรือ “ทูร์เคีย” ก็ได้