หลายคนอาจพอรู้ว่าตอนนี้ อดีตประธานาธิบดีของศรีลังกา โกตาบายา ราชปักษา ที่มีปัญหาเศรษฐกิจการเมืองในประเทศขั้นรุนแรงจนต้องหนีออกนอกประเทศไปนั้น กำลังพำนักอยู่ใน ‘ประเทศไทย’ หลังวีซ่าที่สิงคโปร์หมดจนต้องเช่าเครื่องบินเหมาลำมาประเทศข้างเคียง
แต่ถึงแม้ทางรัฐบาลไทยจะออกมาแถลงว่านี่ ‘ไม่ใช่การลี้ภัยการเมือง’ เป็นเพียงการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเป็น ‘ทางผ่าน’ รอกลับประเทศเท่านั้น
ตอนนี้ท่าทางผู้พำนักชั่วคราวกิตติมศักดิ์ท่านนี้จะได้ผ่านไป ‘ไว’ กว่าที่คิดเมื่อมีแหล่งข่าวใกล้ชิดรายงานว่า อดีต ปธน.ศรีลังกาอาจรีบบินกลับประเทศภายในสองสัปดาห์หรือเร็วกว่านั้น เหตุเพราะ ‘สู้ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพื่อพำนักอาศัยไทยไม่ไหว'
โดยข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า ตั้งแต่ลี้ภัยมา อดีตผู้นำศรีลังกาเสียเงินไปหลายร้อยล้านรูปีแล้วสำหรับค่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ค่าห้องพักหรู และค่าจ้างเจ้าหน้าที่มาคุ้มกัน และเงินที่หอบหนีมาก็กำลังจะมาหมดไปแล้วในประเทศไทยจนทางพรรค Sri Lanka Podujana Peramuna (SLPP) ต้องรีบประสานงานกับรัฐบาลศรีลังกาเพื่อนำราชปักษาเดินทางกลับประเทศ
เรียกได้ว่าค่าครองชีพแพงมหาโหดจนแม้แต่อดีตผู้นำประเทศยังอยู่ไม่ไหว เลือกหนีกลับไปประเทศบ้านเกิด ให้เสี่ยงถูกจับเข้าคุกโดยไม่ต้องให้ทางการศรีลังกาเสียเวลาติดต่อให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ถึงแม้ข้อมูลจากอีกแหล่งจะระบุว่า กรณีของอดีตปธน.ศรีลังการีบบินกลับประเทศเพราะเงินหมดนั้นอาจไม่ได้มีสาเหตุจากค่าครองชีพในเมืองไทยแค่อย่างเดียว
แต่อาจเป็นเพราะ เขามีค่าใช้จ่ายจำนวนมากมาแล้วในหลายประเทศที่เข้าไปพำนักก่อนมาไทย ทั้ง มัลดีฟส์ และสิงคโปร์ ที่มีค่าครองชีพสูงกว่าไทย
อีกทั้งยังต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลไปกับการรักษา ‘ความปลอดภัย’ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราชปักษายังลังเลที่จะเดินทางกลับศรีลังกาถึงแม้แทบจะไม่เหลือเงินแล้วในตอนนี้ เพราะยังไม่เชื่อว่าทางการศรีลังกาจะให้การคุ้มครองเขาได้ดีเท่าทางการไทย
แต่ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะเป็นอะไร คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นจากข่าวนี้ก็คือ เมืองไทยค่าครองชีพแพงขนาดไหน ขนาดอดีตผู้นำที่น่าจะมีทรัพย์สินส่วนตัวมากมายยังอยู่ไม่ได้?
ซึ่งสำหรับคำถามนี้ คำตอบก็คงขึ้นอยู่กับว่าคุณมีรายได้แค่ไหน และไลฟ์สไตล์ที่คุณอยากใช้เป็นยังไง
เพราะสำหรับคนทำงานกินเงินเดือนหลักหมื่นในไทย ไลฟ์สไตล์ที่พอจะมีได้โดยไม่ต้องเป็นหนี้สินใหญ่โตก็คงมีตั้งแต่ระดับต้องประหยัดจำกัดจำเขี่ยใช้เงินไปแค่กับของจำเป็น ไปจนถึงมีเงินเหลือเก็บเหลือใช้กับของฟุ่มเฟือยหาความสุขใส่ตัวได้
แต่สำหรับคนเงินเดือนหกหลักขึ้นไป ไปจนถึงเศรษฐีต่างชาติ เมืองไทยแม้แต่ในกรุงเทพที่ค่าครองชีพค่อนข้างโหดสำหรับคนไทยก็อาจอยู่สบายขึ้นมาได้เพราะค่าแรงที่ต่ำ ทำให้ค่าครองชีพของไทยต่ำไปด้วยเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ในประเทศอื่นๆ
ในปี 2022 ดัชนีค่าครองชีพ Mercer’s Cost of Living Index ระบุว่าเมืองไทยมีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับ 106 จาก 227 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดว่าอยู่ระดับกลางไม่สูงมาก
และเพราะดัชนีนี้เป็นดัชนีที่นายจ้างมักใช้พิจารณาประกอบเวลาตั้งค่าแรงให้พนักงานในแต่ละประเทศ นั่นก็หมายความว่าคนจากเมืองที่ค่าครองชีพสูงกว่าประเทศไทยก็มักจะมีรายได้ที่สูงกว่าคนไทยไปด้วย และเมื่อมาเที่ยวหรือย้ายมาอยู่ในประเทศไทยก็มักจะมีเงิน ‘ส่วนเกิน’ มาใช้ชีวิตหรูหราเกินที่ตัวเองจะเอื้อมถึงในประเทศบ้านเกิด
เหมือนอย่าง Jesse Schoberg นักธุรกิจและนักพัฒนาเว็บไซต์ชาวอเมริกันวัย 41 ปีคนหนึ่งที่ให้ข้อมูลกับ CNBC ว่าเขาสามารถเลื่อนชั้นจากชนชั้นกลาง กลายเป็นคนรวยมีไลฟ์สไตล์ ‘หรูหรา’ คือได้อยู่ในคอนโดมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ มีรถหรูขับ ไปดินเนอร์ร้านอาหารแพงๆ ได้เพียงย้ายมาอยู่เมืองไทย เพราะใช้จ่ายเงินเพียงเดือนละประมาณ 8,000 เหรียญสหรัฐหรือ 288,240 บาท ก็ทำได้ทั้งหมดนั้น
อ่านมาถึงตรงนี้คนไทยอาจจะกลอกตา คิดว่าใช้เงินได้ตั้งเกือบสามแสนบาทต่อเดือนก็ไม่แปลกหรือเปล่าที่จะมีไลฟ์สไตล์หรูๆ ได้
แต่ถึงแม้เงินจำนวนนี้จะดูเยอะมากสำหรับคนไทยทั่วไป เงินนี้เมื่อเทียบกับรายได้ของ Jesse ที่สูงถึง 8,287,820 บาท ต่อปี หรือประมาณ 690,651 บาท ต่อเดือนแล้ว ก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น
พูดง่ายๆ ก็คือถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้ว เมืองไทยไม่ได้ค่าครองชีพสูง แต่ที่สูงเพราะค่าแรงคนไทยต่ำ
และเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติตัดสินใจเข้ามาใช้เงินที่ไทย เราก็อาจต้องรักษาระดับค่าครองชีพที่ต่ำนี้ไว้ต่อไปเพื่อให้เรายังคงแข่งขันด้านราคากับประเทศท่องเที่ยวอื่นได้
ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนต่างชาติรายได้ 'ปานกลาง' หรือ 'สูง' หลายคนถึงติดอกติดใจการอยู่ที่ไทย และตัดสินใจมา 'ยกระดับชีวิต' ที่ไทยแบบง่ายๆ โดยอาศัยความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้นี้