ในขณะที่มหาเศรษฐีทั่วโลกกำลัง "จนลง" เพราะตลาดหุ้นผันผวนหนัก แต่กลับมีมหาเศรษฐีไม่กี่คนที่ "รวยขึ้น"
หนึ่งในนั้นคือ "โกตัม อดานี" มหาเศรษฐีอินเดียที่มาแรงแซงทุกโค้ง เมื่อต้นปี 2022 นี้เพิ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของโลกไปหมาดๆ แต่ล่าสุดได้ขยับก้าวขึ้นเป็น "อันดับ 3" ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว และยังนับเป็นครั้งแรกที่มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุด 3 คนแรกของโลก "เป็นชาวเอเชีย"
ทีมข่าว SPOTLIGHT จะพาไปรู้จักมหาเศรษฐีอินเดียที่ชื่อยังไม่คุ้นหูรายนี้กัน
เขาคือใคร มาจากไหน ทำอะไร ทำไมถึงรวย?
โกตัม อดานี (Gautam Adani) วัย 60 ปี คือมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ในอินเดีย และเบอร์ 3 ของโลกในทำเนียบของ Bloomberg Billionaires Index มีทรัพย์สิน 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 5 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 30 ส.ค.)
อดานีเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจในเครือ อดานี กรุ๊ป (Adani Group) ซึ่งทำธุรกิจหลากหลายอย่าง โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่ม "โครงสร้างพื้นฐาน" ตั้งแต่ท่าเรือ ธุรกิจเหมือง ถ่านหิน ผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนถึงเทคโนโลยีอวกาศ เขายังเป็นผู้บริหารสนามบิน 7 แห่งในอินเดีย ครอบคลุมเกือบ 1 ใน 4 ของการเดินทางทางอากาศของอินเดีย
เมื่อต้นปีนี้ (ก.พ. 65) อดานี เพิ่งก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีเบอร์ 4 ด้วยสินทรัพย์ 1.125 แสนล้านดอลลาร์ แต่ผ่านไปเพียง 6 เดือน ก็ขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือเท่ากับว่าในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา เขารวยขึ้นถึง 30,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท)
ตัวเลขดังกล่าวทำให้ไม่ต้องแปลกใจเลยที่ อดานี จะเป็นมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่รายที่ "รวยขึ้น" ทั้งที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนหนักในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจในกลุ่ม "พลังงาน" มีแต่ขาขึ้นแทบไม่มีขาลง ซึ่งทำให้ตลอดทั้งปี 2022 นี้ อดานีมีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สวนทางกับมหาเศรษฐีส่วนใหญ่ที่จนลง (มูลค่าหุ้น)
ซึ่งในแง่หนึ่งก็คล้ายกับ มหาเศรษฐีเมืองไทย "สารัชถ์ รัตนาวดี" แห่งอาณาจักรพลังงาน กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ที่ขึ้นมาเป็นเศรษฐีเบอร์ 1 ของไทย ไปเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกัน
จาก "เด็กเรียนไม่จบ" สู่ "นายหน้าค้าเพชร" และ "เศรษฐีพลังงาน"
โกตัม นับเป็นอีกหนึ่งมหาเศรษฐีที่มีสตอรี "เรียนไม่จบก็รวยได้" เช่นกัน
โกตัม เกิดในครอบครัวที่มีพี่น้อง 7 คน ที่บ้านมีธุรกิจสิ่งทอเล็กๆ เขาได้เข้าเรียนคณะพาณิชย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคุชราต แต่เรียนได้แค่ 2 ปี ก็ขอดรอปออกมาเพราะมุ่งมั่นอยากไปทำธุรกิจมากกว่า
อดานี ย้ายจากเมืองบ้านเกิดไปยังนครมุมไบ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอินเดีย เพื่อทำงานเป็นคนคัดแยกเพชร ซึ่งทำงานได้แค่ 3 ปี ก็ออกมาตั้งบริษัทนายหน้าค้าเพชรของตัวเองได้ และในปี 1981 ก็ย้ายกลับมายังบ้านเกิดเพื่อร่วมลงทุนธุรกิจกับพี่ชายเป็นผู้ค้าและนำเข้าพลาสติกพีวีซี จากนั้นก็ขยับขยายกิจการไปเรื่อยๆ จนก่อตั้งบริษัท Adani Enterprises ในปี 1988
แต่ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความรวยจริงๆ ก็คือ การทำมาค้าขายกับรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการทำสัญญา "สัมปทาน" เพราะรัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้อดานีได้สัญญาสัมปทานเป็นผู้บริหารจัดการ "ท่าเรือ Mundra" กับรัฐบาลท้องถิ่นคุชราต เมื่อปี 1995 จนมาถึงปัจจุบัน และขยายใหญ่โตจนเป็นท่าเรือเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีการจัดการสินค้ามากถึง 210 ล้านคาร์โก/ปี
อดานีขยายกิจการออกไปอีกหลายอย่าง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ "ธุรกิจพลังงาน" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้อดานีร่ำรวยขึ้นในปีนี้ สวนทางหลายธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐและความเสี่ยงเศรษฐกิจขาลง อดานี กรุ๊ป มีบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินเดียมากถึง 7 บริษัท ราวมทั้งอดานี พาวเวอร์ (Adani Power) บริษัทโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในอินเดีย ขณะที่ปัจจุบัน ธุรกิจพลังงานของเขายังมีการแตกแขนงสู่พลังงานสะอาดที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น
แซงใครขึ้นมาบ้าง?
ในบ้านเกิดตัวเองที่อินเดียนั้น อดานีขับเคี่ยวไล่บี้กับ "มูเกช อัมบานี" แห่งอาณาจักร Reliance ผู้ที่ครองชื่อเศรษฐีเบอร์ 1 ของอินเดียมาหลายปี โดยผลัดกันขึ้นที่ 1 ที่ 2 มาตลอด ก่อนที่จะขึ้นแซงในยุคที่ราคึ้นาน้ำมัน-พลังงานทั่วโลกแพง
ส่วนในระดับโลกนั้น อดานีแซงบรรดาบิ๊กเนมเศรษฐีชื่อดังไปแล้วหลายคน ตั้งแต่ "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ตำนานนักลงทุนวีไอจากเบิร์กเชอร์ แฮธาเวย์ จนถึง "บิลล์ เกตส์" เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ และล่าสุดก็เพิ่งโค่นเจ้าพ่อ LVMH แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ แซงขึ้นมาเป็นเบอร์ 3 ได้สดๆ ร้อนๆ
แต่ทั้งนี้สื่อฝรั่งก็ได้ให้เครดิตด้วยว่า การที่บิล เกตส์ รวยน้อยลงจนถูกแซงได้นั้น นอกจากจะเป็นเพราะราคาหุ้นเทคโนโลยีที่ตกลงแล้ว ก็ยังเป็นเพราะว่าเขาเป็นมหาเศรษฐีใจบุญ (Philanthropist) ที่เพิ่งบริจาคเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (กว่า 7 แสนล้านบาท) ให้กับมูลนิธิไป เช่นเดียวกับบัฟเฟต์ที่มีการบริจาคเงินล็อตใหญ่ไปเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน อดานี ร่ำรวยเป็นรองเพียงบุคคลแค่ 2 คนเท่านั้น คือ อีลอน มัสก์ แห่ง Tesla ที่มีสินทรัพย์ 2.47 แสนล้านดอลลาร์ และ เจฟฟ์ เบโซส แห่ง Amazon.com ที่มีสินทรัพย์อยู่ 1.52 แสนล้านดอลลาร์