วันนี้แล้วที่ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" ของจีน เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ระบาด เพื่อไปเข้าร่วมการประชุม "องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้" (SCO) โดยสีจะไปเยือนประเทศคาซัคสถาน ก่อนในวันนี้ (14 ก.ย. 65) จากนั้นจึงจะเดินทางต่อไปยังเมืองซามาร์คานด์ ประเทศอุซเบกิสถาน เพื่อร่วมการประชุม
และการประชุม SCO ครั้งนี้ก็น่าจาะเป็นครั้งที่ทั่วโลกให้ความสนใจและจับตามองมากที่สุดด้วย เพราะเป็นครั้งที่สี จะได้พบกับประธานาธิบดี "วลาดิเมียร์ ปูติน" แห่งรัสเซีย เป็นครั้งแรกนับตั้งเกิดสงครามยูเครน เมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
สื่อจีนเขียนถึงการพบกันครั้งนี้ว่าเป็น "การจับมือกันเพื่อจัดระเบียบโลก ให้ไปในทิศทางที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผลมากขึ้น"
แต่สื่อตะวันตกเขียนถึงการพบกันครั้งนี้ว่าเป็น "การจับมือกันของ 2 ผู้นำ(อันตราย) เพื่อรวมพลังกันต่อต้านตะวันตก
จริงๆ แล้ว การพบกันระหว่าง "สี-ปูติน" เป็นเรื่องที่น่ากังวลจริงหรือ? และเราควรรู้อะไรจากการพบกันของ 2 ผู้นำในครั้งนี้บ้าง?
ทำไมคู่นี้ถึงพบกัน?เพราะทั้งคู่จะเข้าร่วมการประชุม
"องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้" (SCO) ซึ่งเป็นเวทีประชุมด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารใยูเรเชีย (แถบเอเชียกลาง) โดยมี "จีน" เป็นผู้ริเริ่ม แต่เดิมนั้นคือกลุ่มที่ชื่อว่า "Shanghai 5" เน้นความร่วมมือในเรื่องพรมแดนเป็นหลัก (จีนมีพรมแดนติด 14 ประเทศ) ต่อมาขยายใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น SCO ในปี 2001 ปัจจุบันมีสมาชิก 9 ประเทศ คือ จีน อินเดีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ปากีสถาน รัสเซีย ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และอิหร่าน
การประชุม SCO จะมีขึ้นเป็นปราะจำทุกๆ ปี โดยหมุนเวียนสถานที่ไปตามประเทศสมาชิก ในระยะหลังถูกจับตามองเป็นพิเศษในแง่การเป็น "ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน" หรือโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives) โดยจีนถูกมองว่าพยายามสร้าง "อาณาจักรโลจิสติกส์" ทั้งทางบกและทางทะเล
การพบกันครั้งนี้มีนัยยะอะไร?
มีนัยยะตรงที่การพบกันเกิดขึ้นในช่วงที่ "ไม่ปกติ" ของผู้นำทั้งคู่
เป็นที่รู้กันดีว่าปูตินและรัสเซียนั้นกำลังถูก "คว่ำบาตร" จากทั่วโลก หลังเปิดปฏิบัติการณ์ทางทหารในยูเครน ตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา การคว่ำบาตรนี้เป็นไปทั้งในแง่การเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีผู้นำคนไหนในโลกที่อยากแสดงตัวตนเป็นปฏิปักษ์กับโลกตะวันตก ด้วยการพบปะปูตินแบบออกสื่อ
ส่วนสี จิ้นผิง ก็กำลังอยู่ในภาวะที่ตึงเครียดกับสหรัฐที่สุดในรอบหลายปีเช่นกัน หลังจากประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ แนนซี เพโลซี เดินทางไปเยือนไต้หวันเมื่อเดือน ส.ค. ชนิดท้าทายหลักการจีนเดียว และหลังจากนั้นมาบรรยากาศระหว่าง 2 ประเทศก็ยิ่งแย่ลงอีกเมื่อสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะทำ "สงครามชิป" กับจีน ด้วยการผ่านกฎหมายใหม่ดึงการลงทุนชิปคอมพิวเตอร์ให้มาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐ
จึงไม่น่าแปลกใจหากบรรดาสื่อตะวันตกจะมองว่า การพบกันระหว่างสีกับปูติน คือการผนึกกำลังกันของ 2 ประเทศใหญ่เพื่อท้าทายโลกตะวันตก
รายงานของบลูมเบิร์กระบุว่าการพบกันครั้งนี้คือ "การจัดระเบียบโลกใหม่" ตามคำกล่าวของหยาง เจียฉี นักการทูตระดับสูงของจีนที่ระบุว่า จีนยินดีร่วมมือกับรัสเซียเพื่อจัดระเบียบโลก “ให้เป็นไปในทิศทางที่ยุติธรรม และสมเหตุสมผลมากขึ้น”
“ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเป็นไปในทางที่ถูกต้องเสมอมา และทั้งสองฝ่ายก็สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างแข็งขันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลักของพวกเขา”
“ฝ่ายจีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายรัสเซียเพื่อดำเนินการความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระดับสูงระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง ปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน และส่งเสริมการพัฒนาระเบียบระหว่างประเทศในทิศทางที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผลมากขึ้น” หยางกล่าว ในแถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศจีน
นัยยะที่อาจตีความออกมาได้อย่างหนึ่งก็คือ "ถึงโลก(ตะวันตก)จะทิ้งเรา แต่เราจะไม่ทิ้งกัน"
ที่ผ่านมาหลังเกิดสงคราม สี จิ้นผิง อาจจะไม่ได้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งเกินไปว่าเข้าข้างรัสเซีย แต่สิ่งที่สะท้อนผ่านการกระทำก็คือ จีนไม่เคยประณามรัสเซีย แม้แต่ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ในช่วงแรกที่จะออกมติเพื่อประณามรัสเซียนั้น แต่จีนในฐานะ 1 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวรของ UNSC ก็เลือกใช้สิทธิไม่ออกเสียง
และยิ่งหลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจโลกแย่ลงเพราะน้ำมันแพงกับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ บวกกับความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ที่ตึงเครียดในช่วงหลัง ก็ทำให้ จีน-รัสเซีย กลับมาแน่นแฟ้นและพึ่งพากันมากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจการค้า
รู้หรือไม่ การค้าจีน-รัสเซีย ในปีนี้พุ่งขึ้นเกือบ 30%
จากข้อมูลของกรมศุลกากรจีน พบว่า การค้าระหว่างจีน-รัสเซีย ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 พุ่งขึ้นถึง 29% ไปแตะ 9.77 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.58 ล้านล้านบาท) โดยกราฟเริ่มกลับมาพุ่งในช่วง 2 เดือนหลัง
สินค้าที่จีนนำเข้าจากรัสเซียมากเป็นพิเศษก็คือ "น้ำมัน" ส่วนสินค้าจีนที่ฮอตฮิตในรัสเซีย ก็คือ "รถยนต์" และ "สมาร์ทโฟน" ถึงแม้ว่าจะไม่มีรถยุโรปและรถญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าจะไม่มีไอโฟนและซัมซุง แต่ทั้งหมดนี้ก็ถูกแทนที่ได้ด้วย "สินค้าจีน"
เมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า 81% ของการนำเข้ารถยนต์ใหม่ของรัสเซียเป็นของจีน ขณะที่ "เสี่ยวมี่" (Xiaomi) ขึ้นแท่นกลายเป็นสมาร์ทโฟนขายดีที่สุดในรัสเซียไปแล้ว
บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่า มีโอกาสที่การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียในปีนี้จะขยายตัวแซงหน้าในปีที่แล้ว เนื่องจากรัสเซียเปลี่ยนนโยบายหันมาขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเอเชียมากขึ้นแทนฝั่งตะวันตก
จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?
สำนักข่าวรอยเตอร์สอ้างมุมมองนักวิเคราะห์ซึ่งเชื่อว่า สี จิ้นผิง อาจจะใช้โอกาสนี้เน้นย้ำอิทธิพลทางการเมืองของตนเอง ขณะที่ปูติน ก็สามารถแสดงจุดยืนของรัสเซียที่เอนเอียงไปทางเอเชียมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองยังสามารถแสดงจุดยืนต่อต้านอเมริกาและชาติตะวันตกร่วมกัน
แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการทำ "ข้อตกลงการค้า" หรือ "ความร่วมมือทางการเมือง" ระหว่างการพบกันครั้งนี้ หรือไม่
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปูติน เปิดเผยว่า Gazprom ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย ได้บรรลุข้อตกลงส่งออกก๊าซไปยังจีน ผ่านทางมองโกเลีย ในโครงการขนส่งผ่านท่อก๊าซ Power of Siberia 2 ซึ่งสามารถรองรับก๊าซได้ราว 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซที่รัสเซียเคยส่งออกไปยังยุโรป
แต่ไม่ว่าจะมีดีลอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ที่แน่ๆ ก็คือ การพบกันตัวต่อตัวครั้งนี้ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนให้โลกรู้ว่า จีนกับรัสเซียคือพันธมิตรกัน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลากยาวมาเกือบปี ก็อาจไม่จบลงง่ายๆ ด้วยวีธีกดดันคว่ำบาตร ตราบใดที่รัสเซียยังมีทางเลือกอื่นๆ อยู่ และโลกก็อาจต้องรับมือความเสียงทางการเมืองและเศรษฐกิจจากเรื่องนี้ไปอีกสักพักเช่นกัน