อินไซต์เศรษฐกิจ

ไปรษณีย์ไทย ‘ใช้เรือ’ ส่งจดหมายมานับร้อยปี ก่อนมอเตอร์ไซค์เสียอีก!

12 ต.ค. 65
ไปรษณีย์ไทย ‘ใช้เรือ’ ส่งจดหมายมานับร้อยปี ก่อนมอเตอร์ไซค์เสียอีก!
ไฮไลท์ Highlight
  “แม้ตอนสงครามโลก ไปรษณีย์ก็ไม่หยุดให้บริการ”

ในช่วงน้ำท่วมแบบนี้ มีหนึ่งคลิปไวรัลที่สร้างความประทับใจให้กับชาวโซเชียลก็คือ ‘คลิปบุรุษไปรษณีย์ขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าน้ำท่วม’ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘การสื่อสาร และการขนส่ง’ ที่จะหยุดชะงักไม่ได้แม้จะเจออุปสรรคเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ และนอกจากการใช้มอเตอร์ไซค์นำส่งจดหมาย และพัสดุในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมรอการระบายแล้ว ในบางพื้นที่ บุรุษไปรษณีย์ยังใช้ ‘เรือ’ เพื่อนำของไปส่งให้กับผู้รับอีกด้วย


แม้ ‘บุรุษไปรษณีย์ชุดสีแดง กับมอเตอร์ไซค์คู่ใจ’ จะเป็นภาพที่เราเห็นกันจนคุ้นตาตั้งแต่เด็กๆ แต่รู้หรือไม่ว่า แม้จะไม่ใช่ช่วงน้ำท่วม พี่ๆ บุรุษไปรษณีย์บางพื้นที่ ก็มีพาหนะคู่ใจเป็น ‘เรือ’ ด้วย Spotlight จะพาไปชมเรื่องราวของเรือ กับไปรษณีย์ไทย ซึ่งอยู่ร่วมกันมายาวนานนับร้อยปี

 

บุรุษไปรษณีย์ เรือ
 

บุรุษไปรษณีย์วันนั้น : มีพาหนะคู่ใจเป็น ‘จักรยาน และ เรือพาย’

 

ย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในยุคที่พระองค์ได้ทรงจัดตั้ง ‘กรมไปรสนีย์’ (สมัยก่อน คำว่า ไปรษณีย์ ใช้ ส แทน ษ)
ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อดูแลกิจการด้านไปรษณีย์ในพ.ศ. 2426 นั้น ประเทศไทยยังมีถนนหนทางที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีแบบตะวันตกเพียงไม่กี่เส้นเท่านั้น เช่น ถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร แม้ ‘ถนนราชดำเนิน ก็เริ่มก่อสร้างหลังจากนั้นกว่า 16 ปี ในปีพ.ศ. 2442 เพราะคนไทยในสมัยนั้นยังนิยมสัญจรด้วยคลอง บทความนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า ทัศนคติของเจ้านาย ข้าราชการ และประชาชนสมัยนั้น “ยังต้องการคลอง มากกว่าถนน”

 

ไปรษณีย์ จักรยาน



ในสมัยก่อน เราเลยเห็นรูปภาพของ ‘โปสต์แมน หรือบุรุษไปรษณีย์’ มีพาหนะคู่ใจเป็น จักรยาน หรือเรือพาย เพื่อนำจดหมายไปส่งให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ด้วยปริมาณของที่ทำการไปรษณีย์ และผู้ที่ส่งจดหมายหากันยังมีไม่มาก โดยในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2485 เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์กลางบางรัก ได้ใช้เรือพายในการทำหน้าที่นำส่งจดหมาย และพัสดุไปรษณีย์ให้ถึงมือประชาชน

 

บุรษไปรษณีย์ มอเตอร์ไซค์



‘มอเตอร์ไซค์’ เพิ่งถูกนำมาใช้ในการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2495 โดยสมัยนั้นนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์นำเข้ายี่ห้อ Lambretta และ Vespa เพื่อให้การส่งไปรษณีย์เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึงมากขึ้น เป็นจุดกำเนิดของพาหนะคู่ใจบุรุษไปรษณีย์ดังที่เราคุ้นตา
 

 
บุรุษไปรษณีย์วันนี้ : ใช้เรือเพื่อเข้าถึงชุมชนริมน้ำ และผู้ประสบภัย

 

ตัดภาพมายังปัจจุบัน ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเดินทางหากันด้วยความเร็วเพียงชั่วพริบตา พัฒนาการด้านโลจิสติกส์เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีจดหมายและพัสดุจำนวนมหาศาลที่ถูกส่งในแต่ละวัน แถมถนนหนทางก็ทอดไปยังแทบทุกพื้นที่ในประเทศแล้ว ‘จักรยานและเรือพาย’ จึงถูกแทนที่ด้วยพาหนะชนิดต่างๆ ที่มีศักยภาพมากกว่า

 

บุรุษไปรษณีย์ เรือ เก่า



แม้ประชากรส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ชีวิตริมน้ำเหมือนอย่างในอดีตแล้ว แต่ก็ยังมีชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ที่ใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการสัญจร หรือมีถนนเส้นเล็กซึ่งยากแก่การให้มอเตอร์ไซค์ขับผ่าน เพื่อให้พัสดุและจดหมายยังคงสามารถเดินทางไปถึงมือผู้รับได้ ไปรษณีย์ไทยจึงใช้ ‘เรือหางยาว’ ในการให้บริการในพื้นที่ริมน้ำบางเส้นทาง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบัน มีเพียงไม่กี่เส้นทางแล้ว

สื่อระดับโลกอย่าง Mint และ AFP เคยตามติดชีวิตของ ‘คุณนพดล’ บุรุษไปรษณีย์ผู้มีพาหนะคู่ใจเป็นเรือหางยาว ออกให้บริการนำจ่ายจดหมายและพัสดุแก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในย่านบางกรวย ซึ่งในย่านที่ถนนเข้าไม่ถึงเช่นนี้ ก็ยังมีบุรุษไปรษณีย์คอยไปดูแลอยู่

ติดตามเรื่องราวของคุณนพดล ได้จากคลิปวีดิโอของ Mint

 




และเนื่องจากประเทศไทยอยู่ใกล้กับน้ำ จึงเกิดน้ำท่วมขึ้นแทบทุกปี บางปีท่วมมาก บางปีท่วมน้อย ผู้ให้บริการขนส่งอย่างไปรษณีย์ จึงต้องระดมพาหนะที่สามารถฝ่าน้ำท่วมนอกเหนือจากมอเตอร์ไซค์ เตรียมพร้อมไว้ให้บริการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เรือ นั่นเอง

 

ไปรษณีย์ น้ำท่วม

 

เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ ไปรษณีย์ไม่เพียงทำหน้าที่ในการส่งจดหมาย และพัสดุทั่วไป หลายครั้ง ยังต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในการนำความช่วยเหลือ เช่น ถุงยังชีพ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ไปส่งให้กับพี่น้องผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ด้วย

 
 

บุรุษไปรษณีย์ระดับพระกาฬ : บุกป่า ฝ่าห้วย ปีนเขา ข้ามเกาะ ก็ต้องส่งให้ถึง

 

หากคุณคิดว่า ‘บุรุษไปรษณีย์ชุดสีแดง กับมอเตอร์ไซค์คู่ใจ’ ที่เราเล่าให้ฟังเมื่อตอนต้น คือที่สุดของบุคคลากรในวงการไปรษณีย์ไทยแล้ว ยังมีบุรุษไปรษณีย์อีกมากมาย (อันที่จริงควรเรียกว่า ‘พนักงานนำจ่าย’ เพราะไม่ว่าเพศไหนก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้) ที่ต้องเผชิญกับสุดยอดความท้าทาย เพื่อจะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้บนจ่าหน้าซอง

 

ไปรษณีย์ โก้

ภาพจาก Reporter Journey

 

ตัวอย่างเช่น ‘คุณโก้’ บุรุษไปรษณีย์ แม่ตื่น จ.ตาก ส่งจดหมายสุดวิบากทั้งข้ามคืน ขึ้นดอย ลุยโคลน ทายาทบุรุษไปรษณีย์ผู้รับช่วงต่อจากผู้เป็นพ่อ ให้บริการชาวบ้านทั้งตั้งตำบล

ติดตามเรื่องราวของคุณโก้ ได้จากบทความของ Reporter Journey

 

ไปรษณีย์ ดารัตน์

ภาพจาก : Logistics Time


หรือ ‘คุณดารัตน์’ พนักงานนำจ่ายหญิงหนึ่งเดียวแห่งเกาะนกเภา จ.ตรัง ผู้ที่มีพาหนะคู่ใจ ไม่ใช่แค่มอเตอร์ไซค์ แต่เป็น ‘เรือใบ’ ที่คุณดารัตน์จะต้องแล่นพาไปรษณียภัณฑ์จากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ มานำจ่ายที่เกาะแห่งนี้

ติดตามเรื่องราวของคุณดารัตน์ ได้จากบทความของ Logistics Time

 
บุรุษไปรษณีย์ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ก็ต้องนำส่งของไปให้ถึงมือ

 

“แม้ตอนสงครามโลก ไปรษณีย์ก็ไม่หยุดให้บริการ”

 
ไปรษณีย์ ซีอีโอ ดนันท์

 

คุณดนันท์ สุภัทรพันธุ์ CEO คนปัจจุบันของ “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” กล่าวว่า ในสมัย ไปรษณีย์เป็นผู้ให้บริการเพียงโลจิสติกส์เพียงรายเดียว จึงหยุดให้บริการไม่ได้ แม้จะเป็นช่วงสงครามโลก (ไปรษณีย์ไทย ผ่านมาแล้วทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2) น้ำท่วมใหญ่ หรือโควิด-19 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร ก็จะต้องหาวิธีบริหารจัดการให้ประชาชนได้รับบริการได้ต่อเนื่อง หรืออย่างในสมัยนี้ที่เป็นยุคแห่งการค้าขายออนไลน์ คนขายของก็ต้องการได้รับเงิน ไปรษณีย์ก็ต้องดูแล เพราะถ้าเก็บเงินไม่ได้สักที ภาระก็จะมาตกที่แม่ค้า ไม่มีเงินไปใช้จ่ายในธุรกิจ

อย่างภาพที่เห็นว่าไปรษณีย์นำเรือมาช่วยส่งของ ก็เป็นเรือที่ไปรษณีย์มีอยู่แล้ว ซึ่งจะนำมาใช้ในการขนส่งจดหมายและพัสดุทางน้ำในบางเส้นทาง รวมถึงช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมอย่างที่เป็นอยู่ในช่วงนี้ เพื่อนำจ่ายให้ถึงมือของประชาชน

 

ไปรษณีย์ ซีอีโอ ดนันท์ สัมภาษณ์

 

สิ่งที่ไปรษณีย์ให้ความสำคัญที่สุดเลยก็คือ “ปลายทางได้รับของอย่างปลอดภัย และตรงเวลา”

 

บุรุษไปรษณีย์ ถูกปลูกฝังภาระหน้าที่ ว่าไปรษณีย์ไทย ‘ไม่ได้ทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว’ แต่มีหน้าที่ในการดูแลสังคมไทย ตราบใดก็ตามที่คนอยู่ที่บ้าน รอพัสดุหรือจดหมาย อาจมีความจำเป็นในการใช้งาน อาจเป็นจดหมายทางธุรกิจจากทางธนาคาร เอกสารสำคัญอื่นๆ หรือยาอื่นๆ จึงเป็นจิตสำนึกของไปรษณีย์ไทย ในการดูแลสังคมและคนไทย

 

 ที่มา : ไปรษณีย์ไทย, ศิลปวัฒนธรรม, Postjung, Sanook, Reporter Journey, Logistics Time, คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด

advertisement

SPOTLIGHT