เมนูซุป “หม้อไฟ” ของจีนไม่ใช่แค่เมนูอาหารเลื่องชื่อธรรมดาเท่านั้น แต่นี่คืออุตสาหกรรมอาหารที่มูลค่ามหาศาลอย่างมากในจีน เพราะเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ ถึงกับมีหน่วยงานรายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมหม้อไฟของจีนเลยทีเดียว และพบว่าในปี 2021 ยอดขายของอุตสาหกรรม หม้อไฟ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 33.3 ของรายได้การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศจีน หม้อไฟจีนจึงถูกจัดเป็นอุตสาหกรรมไปแล้ว และยังมีการขึ้นทะเบียน “เชฟหม้อไฟ” ให้เป็นอีกหนึ่งสาขาอาชีพอีกด้วย เห็นมั้ยว่าหม้อไฟจีนไม่ธรรมดาจริงๆ
และในฐานะที่ประเทศไทยของเราก็ได้ชื่อว่าครัวของโลก มีอาหารอุดมสมบูรณ์ไทยก็อาจจะได้อานิสงค์กับอุตตสาหกรรมหม้อไฟของจีนได้เช่นกัน โดยมุมมองจากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยมองว่า “หม้อไฟ”ของจีนเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบไทยแน่นอน SPOTLIGHT สรุปข้อมูลที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมหม้อไฟจีนมาให้
อีก 2 ปีมูลค่าตลาดหม้อไฟจีนจะทะลุ 4.25 ล้านล้านบาท
ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Meituan Dianping แอปพลิเคชันเดลิเวอรีชื่อดังของจีน เปิดเผยว่า ในปี 2021 มีจำนวนร้านหม้อไฟออนไลน์ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15 % เทียบปีต่อปี ในจำนวนนี้เป็นร้านหม้อไฟเสฉวน-ฉงชิ่ง ถึง 60 % ของจำนวนร้านหม้อไฟทั่วประเทศ เรียกว่าเป็นของเด็ดของดังที่ใครไปเยือนก็ต้องไปทานหม้อไฟ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ของมูลค่าตลาดหม้อไฟจีนอยู่ที่ร้อยละ 9.5 ต่อปี คาดการณ์ว่าในปีค.ศ. 2025 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า รายได้ของตลาดหม้อไฟของจีนจะสูงถึง 850,100 ล้านหยวน หรือประมาณ 4.25 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
กระแสทานหม้อไฟที่บ้านมากขึ้น ฉุดตลาดเครื่องปรุงน้ำซุปโตตาม
น่าสนใจว่าเมื่อพิจารณากลุ่มผู้บริโภคภายในอุตสาหกรรมหม้อไฟจีน พบว่าผู้บริโภคที่เกิดระหว่าง ปี ค.ศ 1996 – 1999 (พ.ศ. 2539 – 2542) และปี ค.ศ. 2000 – 2009 (พ.ศ. 2543 – 2552) ได้กลายเป็นกลุ่ม ผู้บริโภคหลัก
ปัจจุบันการบริโภคหม้อไฟจีนมีความหลากหลาย นอกจากทานที่ร้านแล้ว การทำทานที่บ้านก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 49.3 นิยมรับประทานหม้อไฟที่บ้าน โดยเฉพาะ ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองขนาดเล็ก นั่นจึงทำให้อุตสาหกรรมเครื่องปรุงแบบดั้งเดิมมีโอกาสขยายมากขึ้น และทำให้บริษัทอาหาร-เครื่องดื่มหลายราย เริ่มเข้าสู่ตลาดเครื่องปรุงน้ำซุป เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสและช่องทางที่ผู้บริโภคชาวจีนส่วน ใหญ่เริ่มรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 และความ ไม่แน่นอนของมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ทำให้เครื่องซุปหม้อไฟมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
“หม้อไฟ” ของจีนธุรกิจที่ยังไม่มีเจ้าใหญ่ผูกขาด
แม้ว่าผลจากการระบาดของโรค COVID – 19 ในปีค.ศ. 2020 ทำให้ภาพรวมการ พัฒนาของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของจีนหยุดชะงักไปชั่วคราวรายได้ชะลอตัวเป็นครั้งแรก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2021 เป็นต้นมา การบริโภคภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ชาวจีนมี ค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเฉลี่ยอยู่ที่ 3,320 หยวนต่อคน หรือประมาณ 16,600 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 ปีต่อปี จากเดิมที่ติดลบในปี ค.ศ. 2020 โดยในที่นี้ อุตสาหกรรมเครื่องซุปหม้อไฟ ของจีนก็ได้รับอานิสงส์จากความต้องการในการบริโภคอาหารประเภทหม้อไฟ
แน่นอนว่าการขยายตัวยิ่งทำให้ขนาดตลาดเครื่องซุป หม้อไฟของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อพิจารณาด้านการแข่งขันของตลาดเครื่องซุปหม้อไฟ พบว่าค่อนข้างกระจายตัว โดยในตลาด จีนมี5 บริษัทชั้นนำที่ครองสัดส่วนผู้นำตลาดรวมกันเพียง33% ซึ่งในที่นี้ ยังไม่มีบริษัทใดที่ครองส่วนแบ่ง ตลาดเกินกว่า 10% โดยบริษัทหลักในตลาดเครื่องซุปหม้อไฟในจีน ได้แก่
1.บริษัท Hongjiujiu
2.บริษัท Yihai
3.บริษัท Teway
4.บริษัท MORALS VILLAGE
5.บริษัท Hongtaiyang
“ความเผ็ด”คือโอกาสผู้ประกอบการไทย
เสน่ห์ของหม้อไฟจีน โดยเฉพาะถ้าเป็นทางเสฉวน ฉงชิ่ง ความชอบในรสชาติโดยเฉพาะ”รสเผ็ด”กลายเป็นตัวเลือกหลักของผู้บริโภค และเครื่องซุปหม้อไฟสำเร็จรูปถูกนำไปใช้ในตลาด อาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพราะมีความสะดวกในการนำไปใช้ในการปรุงอาหาร
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ มูลค่าตลาดเครื่องซุปหม้อไฟจีนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 15.36 ต่อปี ขณะที่มูลค่าตลาดเครื่องปรุงสำเร็จรูปแบบจีนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 15.38 ต่อปี ดังนั้น เครื่องซุปหม้อไฟจีนจึงถือว่าเป็นเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปแบบจีนชนิดหนึ่งที่ เติบโตอย่างรวดเร็วไปพร้อมกับการเติบโตที่มีเสถียรภาพของตลาดอาหารประเภทหม้อไฟ
ยิ่งความนิยมในรสเผ็ดมีมาก บวกกับยังไม่มีเจ้าใหญ่ครองตลาดอย่างชัดเจน จึงนับเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย รสเผ็ดจัดจ้านที่ใกล้เคียงกับอาหารประเภทต้มยำของไทย ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และมีร้านอาหารไทยหลายแห่งที่มีเจ้าของเป็นคนจีนได้นำรูปแบบต้มยำกุ้งมาผสมผสานกับหม้อไฟของจีนจนได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังมีจำนวนไม่มากนักในจีน จึงทำให้ตลาดเครื่องซุปหม้อไฟที่มีรสชาติแบบไทยน่าจะมี โอกาสขยายตลาดได้อีกมากในตลาดจีน เนื่องจากชาวจีนมีการรับรู้ถึงอาหารไทยมากขึ้นจากการร่วมมือกันในการประชาสัมพันธ์อาหารไทย และร้านอาหารไทยที่ได้รับตรา Thai Select ของ สคต. ทั้ง 7 แห่งในประเทศ จีน และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหารของจีนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้จากข้อมูลพบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตในจีนมีผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงสำเร็จรูป อาหารไทยวางจัดจำหน่ายมากขึ้น เช่นเดียวกับบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็หาซื้อได้ง่ายดายและสะดวกขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ ทำให้รสนิยม และความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละ ท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย อย่างถ่องแท้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งยังต้องมีการประชาสัมพันธ์แบรนด์ ให้เป็นที่รู้จักอย่างต่อเนื่องบนโลกโซเชียลจีน และแสวงหาโอกาสในการเจาะตลาดออฟไลน์โดยการร่วมมือกับ ผู้ประกอบการท้องถิ่นในลักษณะการเป็นคู่ค้า-พันธมิตรร่วมลงทุน นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้มีความโดดเด่น สวยงาม และมีความสะดวกในการใช้และพกพา ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ให้ ความสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส เครื่องซุปหม้อไฟไทย สามารถเข้ามาขยายตลาดส่งออก และแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ