อินไซต์เศรษฐกิจ

ทําไมค่าไฟ และ FT แพงผิดปกติ 2566 สาเหตุมาจากอะไร?

1 ม.ค. 66
ทําไมค่าไฟ และ FT แพงผิดปกติ 2566 สาเหตุมาจากอะไร?
ไฮไลท์ Highlight
  “เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ภาระหรือวิกฤตที่เข้ามา ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันในการมอง”

ทําไมค่าไฟแพงผิดปกติ 2566? ค่า FT แพงจังเลย? คงเป็นคำถามคาใจหลายคน เพราะ 2565 ที่ผ่านมา โลกของเราเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในมิติของพลังงาน เห็นได้ชัดสุดคงเป็น ‘ราคาน้ำมัน’ ที่พุ่งกรฉูดจากการเปิดประเทศดันความต้องการพุ่งสูง ประกอบกับเหตุการณ์ Black Swan ที่ไม่มีใครคาดคิดอย่าง ‘สงครามรัสเซีย - ยูเครน’ นอกจากราคาน้ำมันแล้ว ‘ค่าไฟ’ เองก็เป็นรายจ่ายพื้นฐานของทุกบ้าน และเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่นับวันราคาจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งปัจจัยความต้องการใช้ไฟที่พุ่งสูงขึ้น ล้อไปกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคัก และวิกฤตการณ์พลังงานที่รุนแรงขึ้นเมื่อหน้าหนาวมาถึง

 

แล้วในปี 2566 นี้ ‘ค่าไฟ’ จะได้รับผลกระทบอย่างไร เราทำอย่างไรได้บ้าง Spotlight ชวน ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือ ดร. โอ ไขข้อสงสัยในเรื่องนี้

 

ค่าไฟ ค่า  FT
 

 

ปัจจัยค่าไฟแพง ปัจจัยที่ 1 : ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟ (Quantity)

 

เนื่องจากประเทศใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกว่า 80% ในการผลิตไฟฟ้า ปัจจัยต่างๆ ที่กระทบราคาน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ก็จะส่งผลกระทบมายังค่าไฟด้วย โดยจะกระทบมาถึงเราๆ ผ่าน ‘ค่า FT’

ทำความเข้าใจค่า FT และสาเหตุที่ค่า FT ช่วงนี้ปรับสูงขึ้นได้ที่นี่

@spotlightbiz ส่อง 3 สัญญาณ ขึ้น #ค่าFT ฤดูกาลนี้ #ค่าไฟแพง มาแน่! #กฟผ #การไฟฟ้า #กระทรวงพลังงาน #ค่าไฟ #ประหยัดไฟ #ค่าครองชีพ #ปีใหม่ #ค่าเงิน #น้ำมันแพง #ก๊าซแพง #ของแพง #ความรู้ #ข่าวธุรกิจ #Spotlight #egat #ข่าวTikTok Powerful songs like action movie music - Tansa



สำหรับปัจจัยกดดันในประเทศนั้น เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก (กว่า 50%) ในการผลิตไฟฟ้านั้น อยู่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน จากที่เคยใช้ผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือเพียง 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลง 4 เท่า ส่งผลให้ต้องจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงเพิ่มเติม จากทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุด ปตท.สผ. เผยว่ากำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะกลับมาสู่ระดับปกติที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ใช้ช่วงเดือน เม.ย. 2567

นอกจากปัจจัยในประเทศแล้ว สถานการณ์ด้านพลังงานของโลกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันราคาเชื้อเพลิงธรรมชาติทั่วโลก ในหน้าหนาวความต้องการใช้พลังงานจากกลุ่มประเทศตะวันตกจะเพิ่มสูงขึ้น และมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าส่วนที่รับซื้อมาจากต่างประเทศ มีสัดส่วนเกือบ 20% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และมีต้นทุนที่แพงกว่าเชื้อเพลิงในประเทศถึง 6 เท่า

หากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศมีเกินกว่ากำลังการผลิตในประเทศไปมากจนต้องนำเข้าเชื่อเพลิงในปริมาณมาก ก็จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงส่วนนี้ ทั้งภาคประชาชน ที่ใช้ไฟฟ้าราว 1 ใน 4 ของทั้งหมด และภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้ไฟฟ้ารวมกัน 3 ใน 4 ของทั้งหมด
 

ค่าไฟ กฟผ.

ปัจจัยค่าไฟแพง ปัจจัยที่ 2 : คุณภาพการจ่ายไฟ (Quality)

 

ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ไม่ใช่แค่ไฟฟ้าที่ดี แต่ต้องมีคุณภาพในการส่งที่ดีด้วย ในบรรดา 10 ประเทศอาเซียนนั้น การให้บริการไฟฟ้าของประเทศไทยนั้น อยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย โดยข้อมูลในปี 2019 เผยว่า ในเฉลี่ย 1 ปี ผู้ใช้ไฟชาวไทย 1 คนเจอไฟดับ 0.72 ครั้ง และไฟดับต่อครั้งราว 0.38 ชม. ต่อคน ซึ่งน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว 30 - 50 เท่าเลยทีเดียว

 

ค่าไฟ ไฟดับ

 

ไฟดับน้อยกว่าแล้วดีอย่างไร?

 

ในครัวเรือนทั่วไป ไฟดับ 1 ครั้ง อาจหมายถึงความไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิต แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ละเอียดอย่างอิเล็กทรอนิกส์ ยาและเวชภัณฑ์ หรือเคมีภัณฑ์แล้ว การที่ไฟดับ 1 ครั้ง หมายถึงค่าใช้จ่ายมูลค่ามหาศาล จากการต้องทิ้งชิ้นงานไปทั้งล็อต ความมั่นคงทางการจ่ายพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องที่โรงงานอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ

เพื่อรองรับการลงทุนด้านสร้างฐานการผลิตขั้นสูงจากต่างชาติที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และในทางกลับกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านการจ่ายไฟฟ้า กระทรวงพลังงานและกฟผ. จึงต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพื่อให้ทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจใช้ไฟได้อย่างมีคุณภาพ

 

ค่าไฟ พลังงานทดแทน
 


ปัจจัยค่าไฟแพง ปัจจัยที่ 3 : เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ความท้าทายในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย คือการต้องขยับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จากเดิมที่ราว 10% ขึ้นไปเป็นราว 50% ช่องว่างดังกล่าวนั้นหมายถึงการลงทุนมูลค่ามหาศาล ที่ต้องทยอยเกิดขึ้น จนกว่าจะถึงปี 2050

นอกเหนือจากการลงทุนในการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ แล้ว การลงทุนในที่นี้ ยังต้องรวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเสถยรภาพของระบบไฟฟ้า ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ไฟฟ้าพลังงานสะอาดเอาแน่เอานอนได้น้อยกว่าไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล จึงต้องเตรียมการเพื่อให้จ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชม.

 


แต่รักษ์โลกไป แล้วเราได้อะไร?

 

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

 

 

ดร. โอ กล่าวว่า หากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เคยเป็นความ ‘โชติช่วงชัชวาล’ ของประเทศไทย ในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้ว พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) นี่แหละที่จะกลายเป็นโอกาสที่จะทำให้ไทย ‘โชติช่วงชัชวาล’ อีกครั้ง เพราะธุรกิจทั่วโลกตอนนี้ กำลังหันหาประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยนับว่าเนื้อหอม และมีความพร้อมด้านและศักยภาพด้านพลังงานสะอาดมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค พร้อมดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน

ดร. โอยังเผยว่า ปัจจุบัน ไทยเราเริ่มใช้ ‘Green Tariff’ หรือ ‘อัตราค่าไฟสีเขียว’ เช่นเดียวกับต่างชาติแล้ว ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟที่ภาคอุตสาหกรรมต้อง ‘จ่ายแพงเป็นพิเศษ’ เพื่อใช้โควต้าไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ Carbon Tracking ว่าการผลิตสินค้าของบริษัทนั้นๆ มาจากการใช้พลังงานสะอาด ทำให้ไม่ถูกกีดกันจากกำแพงภาษีสิ่งแวดล้อมของนานาประเทศ และช่วยขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสะอาดของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
 

 

Smart Energy Solution 
ปัจจัยค่าไฟแพง ปัจจัยที่ 4 : ปริมาณการ/ความต้องการใช้ไฟ (Consumption/Demand)

 

ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลให้ค่าไฟแพงก็คือ ปริมาณการใช้ไฟที่จะพุ่งสูงขึ้นในปี 2566 จากทั้งฝั่งครัวเรือน และฝั่งธุรกิจ เพราะเมื่อปริมาณการใช้ไฟพุ่งสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้นนี้ ก็จะส่งผลให้ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ดันให้ค่า FT พุ่งสูงขึ้น วนกลับมาในบิลค่าไฟให้เรารู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้ากันตลอดปี 2566

ถ้าจะพูดกันแบบง่ายๆ ดร. โอ อยากให้พวกเราช่วยกันประหยัดไฟ

แต่จะไม่ใช้การประหยัดไฟแบบทั่วไป เป็นการประหยัดไฟแบบ ‘ชาญฉลาด ด้วยเทคโนโลยี’

 

ค่าไฟ IOT



ในบิลค่าไฟบ้านแต่ละเดือน ค่าไฟจากแอร์มีสัดส่วนถึง 70% ของค่าการใช้ไฟทั้งหมด นวัตกรรมในอนาคตอันใกล้ที่จะเข้ามาช่วยเรื่องการใช้พลังงานคือนวัตกรรม IOT ที่ดูแลเรื่อง ‘ความสบาย’ อันประกอบด้วย ‘ความชื้น และ อุณหภูมิ’

ทุกวันนี้ เราเปิดแอร์เย็นๆ เพื่อไล่ความชื้น และลดอุณหภูมิ เราไม่ได้ต้องการ ‘แอร์เย็นๆ’ แต่เราต้องการที่จะ ‘สบายตัว’ ในอนาคตอันใกล้ ในแต่ละบ้านจะต้องติดตั้งระบบตรวจวัดความชื้นและอุณหภูมิ (ปัจจุบันมีใช้งานจริงแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย) ซึ่งจะตรวจวัดความสบายของห้อง แล้วปรับแอร์ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งนี่จะเป็นการปรับพฤติกรรมการใช้พลังงาน ให้เหลือเท่าที่จำเป็น โดยไม่กระทบต่อพฤติกรรมของลูกบ้านเลย

แต่ถ้าในระยะเวลาอันสั้นนี้ ใครที่ได้โบนัสปลายปี ดร. โอ แนะนำให้เปลี่ยนแอร์บ้านเป็นแอร์รุ่นใหม่ ซึ่งประหยัดไฟกว่าแอร์เก่าอย่างมาก และการันตีได้เลยว่าจะคืนทุนภายใน 1 - 2 ปี สบายตัวกว่า แถมสบายกระเป๋าด้วย

 

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน



แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นการใช้ไฟฟ้าแค่ 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ

 

การใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่งนับเป็น 3 ใน 4 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดนั้น หากปรับกลยุทธ์ ลดการใช้พลังงานได้ จะส่งแรงกระเพื่อมอย่างมากต่อค่า FT และถือเป็นการช่วยเหลือทุกภาคส่วน ส่งผลดีต่อทั้งภาคธุรกิจเอง และภาคครัวเรือน เพราะที่สุดแล้ว ทุกคนต้องกลับบ้าน ใช้ไฟฟ้า และจ่ายค่าไฟ

 

เพื่อความกระจ่างชัด Spotlight จึงถามดร. โอ ว่า นี่นับเป็นการผลักภาระไปยังภาคประชาชนและภาคธุรกิจหรือเปล่า?

 

“เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ภาระหรือวิกฤตที่เข้ามา ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันในการมอง”

 

smart building 


ดร. โอ กล่าวเสริมว่า นี่นับเป็นโอกาสในวิกฤต สำหรับภาคธุรกิจ สามารถใช้โอกาสนี้ในการทรานสฟอร์มพฤติกรรมการใช้พลังงานของตัวเอง ให้สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปรับลดสัดส่วนการพึ่งพิงพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะส่งผลให้ค่า FT แพงขึ้น เพิ่มการลงทุนในพลังงานสะอาด และนวัตกรรมประหยัดพลังงานต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าทุกที่มีแผนจะทำอยู่แล้วเพื่อมุ่งไปสู่ Carbon Neutality แต่หากขยับไทม์ไลน์มาเป็นช่วงนี้ ก็จะเป็นการช่วยส่วนรวมด้วย

ทางกระทรวงพลังงานเองได้ออก ‘Building Energy Code หรือ BEC’ ซึ่งเป็นกฎกระทรวงกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร อาคารที่ออกแบบภายใต้ BEC จะมีลักษณะ

  • ออกแบบโดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน
  • ติดตั้งอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง + สมาร์ทเทคโนโลยี
  • ค่าใช้จ่ายพลังงานต่ำ 

ซึ่งผู้ประกอบการที่ออกแบบอาคารตามหลัก BEC ประกอบกับมีนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงาน และมีแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ ก็จะช่วยลดการใช้ไฟลงได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ ดร. โอ ยังแนะนำว่า องค์กรต่างๆ ยังสามารถใช้จุดแข็งนี้ในการสื่อสารเป็น กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) หรือกระทั่งผนวกเป็นหนึ่งในคุณค่าหลักขององค์กร เกิดเป็น Creating Shared Value (CSV) หรือ กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผสานการดำเนินงานเพื่อสร้างให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับผลประโยชน์แก่สังคมได้อีกด้วย
 

995557

 

3 มุมต้องบาลานซ์ ‘สะอาด - ไม่ดับ - ราคารับได้’

 

แม้จะฟังดูไม่น่ารื่นหูเท่าไร แต่ต้องยอมรับกันก่อนว่า ‘ของถูกและดี ไม่มีในโลก’ ไฟฟ้าก็เช่นกัน กว่าจะได้ออกมาเป็นไฟฟ้าให้เราใช้ มีปัจจัยต้องให้ชั่งน้ำหนักมากมาย ดร. โอ เผยว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า และสะท้อนมายังค่าไฟของประชาชน คือ ‘สะอาด - มั่นคง - ราคาพอรับได้’

สะอาด : เชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย กว่า 80% ยังคงมาจากพลังงานฟอสซิล และ 13.5% ที่มาจากพลังงานสะอาด ซึ่งในกว่า 80% ที่เป็นพลังงานฟอสซิลนั้น เป็น ‘ถ่านหิน’ ซึ่งพลังงานที่สะอาดน้อยที่สุด แต่ ‘ราคาถูกที่สุด’ อยู่ 16% ซึ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่ใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานถึง 48% ของชนิดเชื้อเพลิงทั้งหมด หรืออินโดนีเซีย ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 36.15% ก็ยังนับว่าการใช้ถ่านหินในไทยเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า เป็นพิษต่อโลกน้อยกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาต่อหน่วยที่สูงกว่า

 

Energy Mix Thai

 



คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดอีกได้ไหม?

 

มั่นคง : พลังงานสะอาด แม้จะดีต่อโลก แต่ด้วยเทคโนโลยีและต้นทุนในปัจจุบันนั้น ยังไม่สามารถทำให้เกิด ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ ได้มากพอ เพราะทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลมนั้น ผันแปรไปตามสภาพอากาศแต่ละฤดู จึงยังสร้างไฟฟ้าได้ไม่เสถียร และต้องการการลงทุนในแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกมาก แถมค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบการจ่ายไฟให้เสถียรและมั่นคง ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงอีกด้วย

 

จึงเกิดคำถามที่ว่า แล้วถ้าต้องการมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งต้องการการลงทุนมาก ประชาชนจะจ่ายไหวไหม?

 

ราคาพอรับได้ : ทั้งเอกชนและประชาชน ‘ค่าไฟ’ คือหนึ่งในต้นทุนของการทำธุรกิจและการใช้ชีวิต หากราคาสูงเกินไป ก็จะกระทบการใช้ชีวิต และธุรกิจได้ จึงจะต้องบาลานซ์ทั้งความสะอาดของเชื้อเพลิงต้นทาง รวมไปถึงความมั่นคงในการจ่ายไฟ ให้อยู่ในระดับราคาที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์โลก เป็นความท้าทายที่กระทรวงพลังงานและหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล จะต้องจัดการให้ได้

 

พลังงานไฟไฟ้า ไทย


 

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ราคาพลังงานไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อน ดร. โอ กล่าวว่า มาจาก 4 ปัจจัย คือ ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟ (Quantity), คุณภาพการจ่ายไฟ (Quality), เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality), และปริมาณการ/ความต้องการใช้ไฟ (Consumption/Demand)

 

ถ่านหิน แม่เมาะ



สุดท้ายนี้ ดร. โอ ฝากถึงทุกคนว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้ฝากนโยบาย ‘รวมพลังหาร 2’ ไว้ ให้ทุกคนลดการใช้พลังงาน แต่ในยุคปัจจุบันนี้ อยากเชิญชวนทุกคนยกระดับ ไม่แค่ ‘รับทราบ’ ถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงานเพื่อโลก แต่เริ่มลงมือ ‘เปลี่ยน’ ทั้งความคิด พฤติกรรม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เราใช้พลังงานได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน จึงควรร่วมมือและฝ่าฟันวิกฤตพลังงานนี้ไปด้วยกัน

advertisement

SPOTLIGHT