พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษพระองค์ที่ 40 สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งมีขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ได้ผ่านพ้นไปแล้วในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. นี้ ท่ามกลางบรรยากาศเฉลิมฉลองคึกคักจากประชาชนในอังกฤษและพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้จัดขึ้นในรอบ 70 ปี หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 และเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีให้คนทั่วไปได้รับชม โดยพิธีกรรมต่างๆ ที่มีขึ้นส่วนใหญ่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมโบราณที่ถือปฏิบัติกันมาตลอดระยะเวลากว่า 1,000 ปี แต่ก็มีการปรับปรุงให้มีความกระชับเหมาะกับยุคสมัย และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บรรยากาศโดยรวมจะเป็นไปด้วยความรื่นเริงยินดีกับการเสด็จขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็ได้รับแรงเสียดทานไม่น้อยจากการจัดพระราชพิธีนี้ นับตั้งแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องค่าใช้จ่าย ไปจนถึงการชูป้ายประท้วงในวันงาน
ประมวลเหตุการณ์การเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเริ่มขึ้นด้วยการเคลื่อนขบวนเสด็จจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ โดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ได้เสด็จไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ด้วยราชรถพัชราภิเษก ที่ทำขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนราชรถทองคำตามธรรมเนียมดั้งเดิม
เมื่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา เสด็จถึงมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ทางประตูใหญ่ด้านทิศใต้เรียบร้อยแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จไปยังพระราชอาสน์แห่งฐานันดร เพื่อประกอบพระราชพิธีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ โดยประกอบไปด้วย
การรับรองความเป็นกษัตริย์โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี
การกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ ที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงวางพระหัตถ์ลงบนพระคัมภีร์ไบเบิลเพื่อตรัสคำปฏิญาณว่าจะทรงพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรอังกฤษ
การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ที่อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ลงบนพระนลาฏ พระอุระ และพระหัตถ์ทั้งสองข้างของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อแสดงถึงสถานะของพระองค์ในฐานะองค์ประมุขสูงสุดของศาสนาจักรอังกฤษ
การสวมพระมหามงกุฎ ที่อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะถวายลูกโลกประดับกางเขน, พระธำมรงค์ประจำองค์พระมหากษัตริย์, พระคทากางเขน, และพระคทานกพิราบ ให้แก่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ก่อนจะถวายการสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งเป็นมงกุฎที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว กษัตริย์อังกฤษจะได้สวมครั้งเดียวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น
การเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งหมายถึงการที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นประทับบนพระราชอาสน์อันเป็นสัญลักษณ์ของการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ
หลังพระราชพิธีทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ก็ได้เสด็จออกจากมหาวิหารเพื่อทรงเข้าร่วมขบวนที่เตรียมเคลื่อนกลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮมท่ามกลางพสกนิกรทั้งสองข้างของถนนที่มาร่วมเฉลิมฉลองพิธีครั้งประวัติศาสตร์
การเฉลิมฉลองท่ามกลางเสียงวิจารณ์
จากการรายงานของ CNBC สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงปรับเปลี่ยนพระราชพิธีให้มีความกระชับและสั้นมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยลดความยาวของพิธีลงเหลือประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากประมาณ 3 ชั่วโมง
และลดจำนวนแขกผู้เข้าร่วมงานลงเหลือประมาณ 2,200 คน จากประมาณ 8,200 คน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างไรก็ตาม การจัดพระราชพิธีนี้ก็ยังเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนบางกลุ่ม เพราะแน่นอนว่าถึงแม้จะมีการปรับลดค่าใช้จ่ายเท่าใด งานพระราชพิธีในระดับนี้ก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลอยู่ดี
จากคาดการณ์ของสื่อตะวันตก พระราชพิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50-100 ล้านปอนด์ หรือราว 2.13 - 4.26 พันล้านบาท และที่สำคัญคือเนื่องจากพระราชพิธีนี้เป็นพิธีของรัฐ ในส่วนนี้จะมีเงินจากรัฐบาล หรือก็คือภาษีของประชาชนเข้าไปสมทบด้วย
จากการสำรวจของ YouGov ประชาชน 51% ของอังกฤษไม่เห็นด้วยที่มีการใช้เงินภาษีของประชาชนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทั้งที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาวะเงินเฟ้อ และวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซียและยูเครน
โดยนอกจากคำวิจารณ์บนสื่อโซเชียลออนไลน์แล้ว ในระหว่างพระราชพิธี มีประชาชนจำนวนหนึ่งจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์อังกฤษ ที่ชื่อ "รีพับลิก" หรือ กลุ่ม "สาธารณรัฐ" เข้าร่วมชุมนุม ประท้วงขัดขวางขบวนสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินี จากพระราชวังบักกิงแฮม และมีการชูป้าย “Not my king.” หรือ “ไม่ใช่กษัตริย์ของเรา” ซึ่งจบลงที่มีการรวบตัวแกนนำของกลุ่มดังกล่าวออกไปจากสถานที่
เป็นผลดี หรือภาระกับเศรษฐกิจอังกฤษ?
สำหรับบางฝ่าย การจัดพระราชพิธีนี้อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย ทั้งจากการจับจ่ายใช้สอย ดื่มกินในสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงค่าเดินทางในการเดินทางมาชมพระราชพิธี โดยจากข้อมูลของ Brand Finance พระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียมกับแคเธอริน มิดเดิลตัน ทำรายได้ให้อังกฤษถึง 1.5 พันล้านยูโร หรือราว 5.67 หมื่นล้านบาท
จากการรายงานของ Bloomberg พระราชพิธีนี้ทำให้ราคาโรงแรมในลอนดอนสูงขึ้นถึง 54% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่มีการจองตั๋วเครื่องบินมาอังกฤษเพิ่มขึ้นถึง 149% ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมีการประกาศกำหนดการและวันที่ที่แน่นอน
อย่างไรก็ตาม พระราชพิธีนี้ก็อาจทำให้ประเทศเสียมากกว่าได้ เพราะนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายกับพระราชพิธีที่เรายังไม่ทราบมูลค่าแล้ว การทำให้วันจันทร์ที่ 8 พ.ค. เป็นวันหยุด และทำให้ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวันนั้นยังจะทำให้อังกฤษที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้วเสียรายได้ไปมหาศาลในวันนั้น และอาจทำให้ GDP เดือนพ.ค. ลดลง 0.7%