อินไซต์เศรษฐกิจ

รู้จักบ้านทองหยอด ร้านขนมไทยเป็นหนี้ร้อยล้านปั้นแชมป์แบดมินตันระดับโลก

5 ส.ค. 67
รู้จักบ้านทองหยอด ร้านขนมไทยเป็นหนี้ร้อยล้านปั้นแชมป์แบดมินตันระดับโลก
ไฮไลท์ Highlight
แม่ปุก ได้เล่าให้ SPOTLIGHT ฟังว่า “ ตอนนั้นเราก็พอมีเงิน แต่ไม่เยอะเพียงพอที่จะสร้างโรงเรียน เราก็ซื้อได้แค่ที่ดิน (ประมาณ 5 ไร่เศษๆ) ที่เหลือเราก็ต้องขอกู้ธนาคาร รวมๆแล้วเกือบ 100 ล้านบาท พอมองกลับไปก็เสี่ยงอยู่เหมือนกัน”

โอลิมปิก มหกรรมเกมส์กีฬาที่คนทั่วโลกต่างรอคอย ที่ทรงคุณค่าที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าภาพที่จัดงาน ต่างจัดเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาเยือน แฟนๆ สายกีฬาที่รอเชียร์นักกีฬาทั้งขอบสนามและหน้าจอทีวี รวมถึง นักกีฬาหลายคนที่กว่าจะคว้าตั๋วไปโอลิมปิกว่ายากแล้ว การคว้าเหรียญโอลิมปิกนั้นเป็นเรื่องยากกว่า เพราะหากคุณพลาด เล่นไม่ดี ฟอร์มไม่มา เท่ากับว่าคุณอาจต้องใช้เวลาถึง 4 ปี ในการกลับมาแก้ตัวใหม่อีกครั้ง

และนี่คือ ภาระอันยิ่งใหญ่ของนักกีฬาระดับโลก ที่ต้องแบกรับ เหมือนกับคำเปรียบเปรยที่ว่า “ยิ่งสูง ยิ่งหนาว” ที่ต้องแบกความฝันของตัวเอง ครอบครัว โค้ช และสิ่งที่หนักหนามากที่สุด คือความฝันของคนทั้งประเทศ

โดยโอลิมปิก 2024 ในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นักกีฬาจากประเทศไทยของเรา ได้คว้าตั๋วเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส ทั้งหมด 51 คน จาก 17 ชนิดกีฬา แต่ดูเหมือนว่ากีฬาที่เข้าใกล้ความฝัน คว้าเหรียญรางวัลได้ในไม่ช้า นั้นคือ กีฬาแบดมินตัน จากผลงานของวิว- กุลวุฒิ วิทิตศานต์ (มือ 8 ของโลก) ที่โค่นมือวางอันดับ 1 ของโลกจากจีน และเอาชนะ ลี ซี เจีย (มือวางอันดับ 7) นักกีฬาแบดมินตันจากมาเลเซียไปได้เมื่อวาน

454072102_925428776289470_848

จนตอนนี้เป็นแน่ชัดแล้วว่า วิว- กุลวุฒิ จะสามารถคว้าเหรียญไม่ทองก็เงินได้ในไม่ช้าเกินรอ หลังจากการแข่งรอบชิงชนะเลิศในคืนนี้กับมือวางอันดับ 2 ของโลก อย่าง วิคเตอร์  อเซลเซ่น ตัวแทนจากประเทศเดนมาร์ก

แต่กว่าที่ต้นกล้า นั้นจะเติบใหญ่ จนสร้างชื่อเสียงและเป็นที่ภาคภูมิใจของคนในประเทศนั้น ต้นกล้าก็ต้องเกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านจากดูแล รดน้ำ พรวนดิน จนต้นกล้าต้นนี้กลายเป็นต้นไม้ที่ยิ่งใหญ่ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการดูแลต้นไม้ต้นนี้ นั้นก็คือ บ้านทองหยอด โรงเรียนแบดมินตันที่ผลิตแชมป์เปี้ยนระดับโลกของ วิว- กุลวุฒิ วิทิตศานต์ และ เมย์ รัชนก อินทนนท์

บทความนี้ SPOTLIGHT ได้มีโอกาสสัมภาษณ์สุด Exclusive กับแม่ปุก -กมลา ทองกร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และ ประธานโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด

56685866_10157366886919201_40

บ้านทองหยอด เริ่มจากธุรกิจขายขนมไทย

หลายๆ คนพอได้ยิน บ้านทองหยอด คงนึกว่าอาจมาจากชื่อ ลูกหยอด เทคนิคการตีลูกตัดหยอดของนักหวดลูกขนไก่ แต่แท้จริงแล้วที่มาของชื่อ บ้านทองหยอด นั้น มาจากโรงงานของหวาน ขายขนมไทย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง

โดยคนก่อตั้ง บ้านทองหยอด นั้นก็คือ แม่ปุก-กมลา ทองกร ประธานโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด จากความคิดริเริ่ม เพียงแค่ว่า อยากสร้างพื้นที่ให้แก่ลูกๆ และเพื่อนๆ ของลูกมาเล่นแบดมินตันเท่านั้น โดยเริ่มแรกมีเพียงแค่ 1 สนาม และนักกีฬาเพียงแค่ 4 คน ซึ่งในขณะนั้นลูกๆ ของเธอยังไม่มีสังกัดจึงไม่สามารถลงแข่งขันได้ เลยทำให้แม่ปุกได้ก่อตั้งเป็นชมรมขึ้นเองโดยใช้ชื่อว่า "ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด" ในปี 2534 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว

ทางชมรมจึงย้ายไปเช่าสนามแบดมินตันเพชรเกษม 59 และเปิดสอนได้ประมาณ 3 เดือน ก็ทำการย้ายไปเปิดสอนที่สนามแบดมินตันหรรษา อยู่ประมาณ 7 ปี ทางชมรมฯ จึงได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และสอนได้อีกประมาณ 4 ปี จำนวนสนามเริ่มไม่พอกับจำนวนนักกีฬา

แม่ปุก ได้เล่าให้ SPOTLIGHT ฟังต่อว่า “ ตอนนั้นเรามีนักกีฬาในมือแล้วกว่า 70 คน แต่คอร์ดแบดที่เรามีอยู่ไม่มันพอต่อเด็กๆ หาที่เช่าคอร์ดที่มีจำนวนเยอะๆก็ไม่มี เลยตัดสินใจ สร้างสนามแบดมินตันและเปิดสอนเป็นโรงเรียนแบดมินตันโดยเฉพาะ ”

banthongyord-stadium-856x482x

ยอมเป็นหนี้ 100 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด

การที่จะสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากสถานที่ ที่ต้องใหญ่เพียงพอต่อเด็กๆ แล้ว บุคคลากร ที่ไม่ว่าจะเป็นคุณครู ก็ต้องเพียงพอต่อความต้องการ หรือจะเป็นหลักสูตรที่สามารถถ่ายทอดให้เด็กคนหนึ่ง กลายเป็นผู้มีวิชาที่แตกฉาน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ เงินทุน

แม่ปุก ได้เล่าให้ SPOTLIGHT ฟังว่า “ ตอนนั้นเราก็พอมีเงิน แต่ไม่เยอะเพียงพอที่จะสร้างโรงเรียน เราก็ซื้อได้แค่ที่ดิน (ประมาณ 5 ไร่เศษๆ) ที่เหลือเราก็ต้องขอกู้ธนาคาร รวมๆแล้วเกือบ 100 ล้านบาท พอมองกลับไปก็เสี่ยงอยู่เหมือนกัน”

ขณะนั้น แม่ปุก ได้เข้าไปคุยกับธนาคาร เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ คือ ผ่อนด้วยจำนวนที่น้อยลง แต่ใช้ระยะเวลาที่นานขึ้น  ทำให้แม่ปุกใช้เวลานานเกือบ 12 ปี ในการปลดหนี้ 100 ล้านได้สำเร็จ ภายหลังที่เมย์-รัชนก อินทนนท์ ได้คว้าแชมป์โลกแบดมินตันได้สำเร็จ ในปี 2556

แต่อีกหนึ่งแรงสำคัญที่ทำให้แม่ปุกปลดหนี้ได้สำเร็จ คือ การสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน หรือ อุปกรณ์ทางการกีฬา

ปั้นเด็กแต่ละคนไม่ใช่เรื่องง่าย

แม่ปุก ได้เผยว่า ทุกค่าใช้จ่ายของนักกีฬาโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดเป็นผู้สนับสนุนเองทั้งหมด โดยนำเงินมาการค่าเรียนจากเด็กๆ การขายขนมหวาน และเงินทุนจากสปอนเซอร์

“ยิ่งถ้าเป็นช่วงก่อนโอลิมปิก เมย์ กับ วิว ใช้เงินค่อนข้างเยอะมาก เพราะเราต้องส่งเก็บคะแนนทุกแมตซ์ ทุกที่ ถึงแม้ไปได้ไปไม่ได้ ก็ต้องสมัครไว้ก่อน จองโรงแรมไว้ก่อน ทำวีซ่า ทุกที่ที่มีแข่งเราต้องไปหมด เพื่อเก็บคะแนนให้ได้ไปโอลิมปิก และถ้านักกีฬามีอุบัติเหตุ หรือป่วยขึ้นมา ก็ต้องใช้เงินเยอะมาก เพราะตอนที่เมย์-วิวไปแข่งต่างประเทศ มันมีการ แข่งขันค่อนข้างเยอะ เกมส์ค่อนข้างหนัก ทำให้นักกีฬาเกิดการบาดเจ็บและต้องรักษาอาการ โดยเมย์มีอาการบาดเจ็บ ส่วนวิวก็มีโรคภูมิแพ้ และสายตาสั้น”

451824130_914638620701819_749

เมย์ รัชนก ไอดอลขวัญใจเด็กๆ

แม่ปุก ได้เผยให้ฟังด้วยน้ำเสียงอย่างภาคภูมิใจว่า “เมย์ เป็นนักกีฬาแบดมินตันหญิงคนแรกของไทย ที่ได้แชมป์โลก”

" ตอนนั้นก็ไม่ได้คาดหวังเท่าไร เพราะแต่ก่อนประเทศไทย ยังไม่เคยมีแชมป์โลกเลย ก็เลยคิดว่าเราคงไม่มีโอกาสได้หยิบเหรียญแชมป์โลกเหมือนประเทศอื่นๆเค้า ก็เลยไม่มีใครคาดหวัง แต่พอน้องเมย์ทำได้ มันก็เริ่มกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆหลายคน สนใจในกีฬา สนใจในแบดมินตัน อยากเก่งแบบพี่เมย์ เหมือนพี่เมย์กลายเป็นไอดอลให้แก่น้องๆด้วย รวมถึงน้องวิว- กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ที่ได้เข้ามาที่โรงเรียนบ้านทองหยอดตั้งแต่อายุ 12 ขวบ " 

สําหรับการเเข่งขันของวิว- กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ในคืนนี้ (5 ส.ค.67) เเม่ปุกได้เผยว่า " แม่ปุกก็อยากฝากถึงวิวนะคะ ว่า วันนี้ก็ทำให้เต็มที่ ทำให้สนุก ไม่ต้องกังวลมาก คิดว่าวันนี้เป็นของวิว สนุกกับมันให้เต็มที่ วิวก็มาไกลแหละ อันนี้ถือว่าเป็นกำไรจากที่ผ่านมา ช่วงนี้เป็นฟอร์มที่ดีของวิว ขอให้วิวสนุกกับเกมส์นะคะ " 

454381756_835076912082346_389

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT