อินไซต์เศรษฐกิจ

รู้จักค่าบริการ NSW แพลตฟอร์มนำเข้า-ส่งออก ผู้ประกอบการปรับตัวอย่างไร?

28 ส.ค. 67
รู้จักค่าบริการ NSW แพลตฟอร์มนำเข้า-ส่งออก ผู้ประกอบการปรับตัวอย่างไร?

‘การส่งออก’ คือ หนึ่งในแหล่งรายได้หลักของประเทศไทย หรือมากถึง 70% ของ GDP ประเทศไทย โดยสินค้าที่มีการส่งออกมากถึงที่สุด คือ ‘ทุเรียน-มังคุด’ และตามมาด้วย ‘น้ำมัน’ จากการสอบถามผู้ประกอบการค้าชายแดนทางภาคอีสานแห่งหนึ่ง

ส่วน ‘การนำเข้า’ ก็สำคัญไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าวัตถุดิบ นำเข้าเครื่องจักรในการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึง กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ล้วนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีประกาศอัตราค่าบริการแพลตฟอร์มขออนุญาตนำเข้าส่งออก หรือ National Single Window (NSW) ที่เพิ่มขึ้น ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งกระทบถึงผู้ประกอบการจำนวนมาก และอาจกระทบถึงผู้บริโภคในอนาคต

SPOTLIGHT ได้มีโอกาสลงพื้นที่จังหวัดนครพนมและมุกดาหาร เพื่อดูถึงต้นตอของปัญหา รวมไปถึงพูดคุยกับตัวแทนผู้ประกอบการไทยที่กำลังได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราของ NSW

การเปลี่ยนผ่านของ NSW: จาก ‘ภาครัฐ’ สู่ ‘NT’

National Single Window (NSW) คือ บริการแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้กระบวนการต่างๆ ง่ายขึ้น ลดการซ้ำซ้อน และช่วยในการประหยัดเวลา

จุดเริ่มต้นของระบบ NSW เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา โดย ‘กรมศุลกากร’ มีนโยบายการใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในการสร้างความโปร่งใส และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ จึงทำให้เกิดการพัฒนาระบบ ซึ่งภาคเอกชนได้มีส่วนเข้ามาร่วมพัฒนาระบบสำหรับการเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบ NSW ระหว่างผู้ประกอบการมายังหน่วยงาน 

โดยกรมศุลกากรไม่ต้องจัดหางบประมาณในการดูแลระบบ NSW เนื่องจากได้รับงบประมาณจากรัฐบาล จึงไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการใดๆ จากผู้ประกอบการ และในขณะนั้นมีเอกชน 3 ราย เป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระบบ NSW ของกรมศุลกากร เพื่อรับ-ส่งข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Trade Siam, Netbay, และ CAT (หรือ NT ในปัจจุบัน) 

ต่อมาในปี 2564 ครม. มีมติให้ NT เป็นผู้ให้บริการระบบ NSW หรือ NSW Operator ของประเทศ เพื่อความคล่องตัว จึงได้ให้ NT  ที่เป็นองค์กรของรัฐดำเนินการในเรื่องนี้

ทำให้ NT หรือ CAT ในตอนนั้น จากที่เคยมีสถานะเป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระบบ NSW เช่นเดียวกับ Netbay และ Trade Siam ยกระดับขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลระบบ NSW แทนกรมศุลกากรแบบเต็มตัว 

NT กับปัญหาการปรับค่าบริการ NSW

ในระยะแรก NT จะเป็นผู้รับผิดขอบงบประมาณในการดูแลรักษาระบบ  พร้อมกับลงทุนในระบบตามเงื่อนไขมติ ครม. กำหนดขอบเขตหน้าที่ ซึ่งผู้ให้บริการระบบ NSW ประกอบด้วย

  1. พัฒนาระบบศูนย์กลางของประเทศ
  2. พัฒนาระบบ Single Form
  3. พัฒนาระบบ Gateway ของภาครัฐ
  4. ออกแบบมาตรฐานทางเทคนิคต่างๆ
  5. ให้คำปรึกษาแนะนำและแก้ไขปัญหา
  6. ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในการพัฒนาปรับปรุงระบบของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
  7. จัดทำ SLA ผ่านระบบ NSW กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  8. ศึกษาและพัฒนาระบบ NSW

โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 NT เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ และได้ประกาศอัตราค่าบริการ NSW ใหม่ที่เพิ่มขึ้น และยังไม่รวม VAT ทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่า อัตราค่าบริการที่ NT ประกาศใช้ ‘ไม่เป็นธรรม’ ต่อผู้ประกอบการ

ส่วนหนึ่ง NT ไม่เคยหารือกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ส่งออกและ นำเข้า ผู้ประกอบการตัวแทนออกของ ผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e- Express) ทั้งทางอากาศและทางบก และผู้ประกอบการคลังสินค้าทางอากาศยาน (Air Port Terminal Operator)

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มองเป็นเสียงเดียวกันว่า NT ไม่เข้าใจธุรกิจที่มีความซับซ้อน จากการขึ้นอัตราค่าบริการ NSW ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น สินค้าบางประเภทต้องคิดแบบเหมารวม แต่ NT เปลี่ยนอัตราค่าบริการ NSW ให้คิดเป็นรายชิ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ทั้งการจ้างแรงงานนับสินค้า การตรวจสอบสินค้าเบื้องต้น และค่าเสียเวลา โดยบางรายการ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง 100%

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ข้ามชาติไม่เข้าใจอัตราค่าบริการระบบ NSW แบบใหม่ ที่คิดเป็นรายชิ้น และมีการปรับอัตราใหม่ที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น จากเดิม ในกรณีที่นำเข้าสินค้าในจำนวนมาก จะได้รับส่วนลดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการชักจูงให้ผู้ประกอบการสนใจทำธุรกิจการค้าในไทยเพิ่มขึ้นด้วย

เสียงสะท้อนจาก ‘Netbay’ และผู้ประกอบการไทย

SPOTLIGHT  ได้มีโอกาสลงพื้นที่กับ Netbay โดย Netbay เผยว่า บริษัทไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ดำเนินการในฐานะที่ทำหน้าที่ดูแลระบบ และให้บริการช่วยเหลือลูกค้า ทั้งภาครัฐและเอกชน รายเล็กและรายใหญ่ เกือบ 70% ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว

ทั้งนี้ Netbay มีลูกค้าที่ใช้บริการแต่ละราย ไม่ใช่เป็นเพียงลูกค้ารายใหญ่ แต่เป็นกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เฉพาะ อีกทั้ง เป็นบริษัทข้ามชาติ เช่น DHL, Fedex, สายการเดินเรือ, หรือคลังสินค้าต่างๆ  ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ คือ ‘เครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย’

ในขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการทางบก เผยว่า การปรับอัตราค่าบริการ NSW จะส่งผลไปที่ผู้ประกอบการอย่างมาก และอาจมีแนวโน้มกระทบถึงผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งหากยังมีมาตรการนี้ รวมถึงการนับค่าบริการรายชิ้น จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น มีแต่ผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอน

โดยทางผู้ประกอบการ ต้องการให้รัฐบาลรีบเร่งแก้ปัญหานี้ เพื่อดูความเหมาะสมที่จะเกิดขี้นกับทุกฝ่าย รัฐต้องมีการปรับสมดุลระหว่างฝั่ง NT และผู้ประกอบการ ให้ถึงจุดสมดุล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ จากกรณีของทุนจีนที่เข้ามาในไทยมากขึ้น โดยภายในหนึ่งวัน มีตู้คอนเทนเนอร์ส่งด่วน (e-express) จากจีนโดยเฉลี่ย 5-10 ตู้ รัฐยิ่งต้องมีมาตราการรัดกุม ไม่ให้การเข้ามาของทุนจีนกระทบถึงผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก จะบอกให้ห้ามทุนจีนเข้ามาก็คงเป็นเรื่องยาก การ ‘ปรับสมดุล’ เท่านั้น คือ ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้

“NT ต้องหันหน้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ หาจุดที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ถ้าตกลงไม่ได้รัฐบาลอาจจะต้องโยนกลับมาให้กรมศุลกากร ที่มีความเข้าใจในธุรกิจนำเข้า-ส่งออกและโลจิสติกส์เป็นอย่างดีดูแลเหมือนเดิม” ผู้บริหาร Netbay เผยกับ SPOTLIGHT

นอกจากนี้ รัฐบาลอาจจะยกเลิก ‘มติคณะรัฐมนตรีปี 64’ เท่ากับยกเลิกการผูกขาดรายเดียวและเปิดเสรีให้เอกชนทำระบบให้เกิดการแข่งขัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและราคาที่เหมาะสม เชื่อว่า Netbay และแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็พร้อมจะลงทุน

ทั้งนี้ Netbay ย้ำว่า บริษัทไม่ใช่คู่กรณี NT แต่เพียงทำหน้าที่ ‘คนกลาง’ เพราะไม่ต้องการที่จะผลักภาระให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการข้ามชาติ ที่อาจไม่มีความเชื่อมั่น และย้ายธุรกรรมไปยังประเทศที่มีระบบดีกว่าและต้นทุนถูกกว่า ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และขัดต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อผลักดันให้ ‘ไทย’ เป็นประตูการค้าที่สำคัญ

NT ชี้แจงให้บริการ NSW ตอบโจทย์ทุกภาคส่วน

NT แจงคิดค่าบริการ NSW กับผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลทุกรายด้วยมาตรฐานเดียวกันตามหลักเกณฑ์หน่วยงานกำกับดูแล ย้ำนำรายได้ไปพัฒนาบริการตามมาตรฐานสากล ตอบโจทย์การแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกภาคส่วน  

พันเอก สรรพชัยย์  หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ NT เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีที่ Netbay ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเรื่องการคิดค่าบริการ NSW ว่า เป็นบริการแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกกับหน่วยงานต่างๆ 

ทั้งนี้ ระบบ NSW เริ่มให้บริการโดยกรมศุลกากรมาตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่จะมอบให้ NT ดำเนินการในปี 2563 ตามมติ ครม. ซึ่งโครงสร้างการให้บริการ NSW เดิมที่ให้บริการโดยกรมศุลกากรนั้น ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกเกือบทั้งหมดจะไม่ได้เชื่อมต่อโดยตรงกับระบบ NSW แต่จะเชื่อมต่อผ่านผู้ให้บริการ VAN/VAS (Value Added Network/Value Added Service) หรือ Gateway ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ NSW 

โดยผู้ให้บริการ VAN/VAS หรือ Gateway มีการคิดค่าบริการเชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกอ้างอิงตามอัตราที่กรมศุลกากรกำหนด 

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ให้บริการ VAN/VAS หรือ Gateway เนื่องจากกรมศุลกากรได้ขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลในการพัฒนาและให้บริการระบบ NSW  

ทั้งนี้ ต่อมา ครม. ได้มีมติให้ NT เป็นผู้ให้บริการระบบ NSW แทนกรมศุลกากรเพื่อลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ โดยให้ NT ลงทุนจัดหาระบบ NSW ใหม่ทดแทนระบบเดิมของกรมศุลกากร และให้คิดค่าใช้บริการระบบ NSW เพื่อให้ระบบสามารถดำเนินการและพัฒนาขีดความสามารถได้อย่างต่อเนื่อง  

พันเอก สรรพชัยย์  ชี้แจงเพิ่มเติมว่า NT ได้พัฒนาระบบ NSW ใหม่ทดแทนระบบเดิมของกรมศุลกากรและเริ่มทดลองให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 โดยระหว่างการทดลองให้บริการนั้น NT ได้เปิดให้ผู้สนใจร่วมให้บริการ NSW กับ NT ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการ VAN/VAS และ Gateway เดิมที่เคยให้บริการอยู่บนระบบ NSW ของกรมศุลกากร สมัครเป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (NSP : NSW Service Provider) เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกเข้ากับระบบ NSW ใหม่ 

โดย NT ได้นำเสนออัตราค่าบริการ NSW ต่อคณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ National Single Window เพื่อประกาศใช้ รวมถึง ได้หารือกับชมรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และบริการแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ให้บริการ VAN/VAS และ Gateway เดิมถึงความเหมาะสมในการคิดอัตราค่าบริการ ซึ่งผู้ให้บริการเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับอัตราค่าบริการดังกล่าวและได้ลงทะเบียนเป็น NSP พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านคุณสมบัติและหน้าที่ต่าง ๆ ที่คณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ National Single Window กำหนด 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ NSP ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกและระบบ NSW ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 8 รายได้ ได้แก่ 

  1. บริษัท ทิฟฟ่า อีดีไอ เซอร์วิสเซส จำกัด 
  2. บริษัท อี-คัสตอม เซอร์วิส จำกัด 
  3. บริษัท เค-ซอฟท์แวร์ จำกัด 
  4. บริษัท คอมพิวเตอร์ ดาต้า ซิสเต็ม จำกัด
  5. บริษัท ไทยเทรดเน็ท จำกัด 
  6. บริษัท อีดีไอ สยาม จำกัด 
  7. บริษัท ขวัญชัย เทคโนโลยี แอนด์ คอนซัลแตนท์จำกัด 
  8. บริษัท เทรด สยาม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

โดยหลังจากที่ NT เปิดให้บริการ NSW อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 นั้น NSP ทุกรายที่ขึ้นทะเบียนแล้วชำระค่าใช้บริการ NSW มาโดยตลอดและไม่ได้มีปัญหากับผู้ประกอบการการนำเข้าส่งออกแต่อย่างใด 

สำหรับบริษัทที่ร้องเรียนเป็นผู้ให้บริการ Gateway เดิมซึ่งให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกกับระบบ NSW เดิมของกรมศุลกากร ลักษณะคล้ายกับผู้ให้บริการ VAN/VAS หรือ Gateway รายอื่นที่มาขึ้นทะเบียนเป็น NSP บนระบบ NSW ใหม่ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเรียนปฏิเสธไม่ลงทะเบียนและปฏิบัติตามข้อกำหนดการเป็นผู้ให้บริการ NSP บนระบบ NSW ใหม่ แต่ยังมีการใช้บริการ NSW ต่อเนื่องมาตั้งแต่ NT เปิดทดลองให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่ง NT ได้พยายามเจรจากับผู้ร้องเรียนมาโดยตลอดเพื่อให้ผู้ร้องเรียนขึ้นทะเบียนเป็น NSP และปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับ NSP รายอื่นและไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันระหว่าง NSP ด้วยกัน ตามที่มี NSP บางรายแจ้งปัญหาเข้ามา 

แต่การเจรจาไม่บรรลุผล ผู้ร้องเรียนยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็น NSP และไม่ชำระค่าบริการทำให้สูญเสียรายได้ที่จะต้องนำส่งรัฐ NT จึงต้องดำเนินการทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก NT ยังคงรักษาคุณภาพการให้บริการตามมาตรฐานมาโดยตลอด  

“NT นำรายได้ที่ได้จากการให้บริการ NSW มาเพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการและพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ได้รับโอนระบบมาจากกรมศุลกากร เราได้พัฒนาบริการเพิ่มเติมทั้งระบบรายงานเรือและใบขนสินค้าชายฝั่ง (e-Coasting Trade) ระบบนำเข้าส่งออกพืชกระท่อม ระบบใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto) ระบบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (e-C/O) และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ Single Submission เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ผ่าน NSW ณ จุดเดียวได้“

รวมถึง ระบบให้บริการใบสั่งปล่อยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-D/O) ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคธุรกิจในรูปแบบ B2B ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ 

นอกจากนี้ NT ยังได้พัฒนาคุณภาพบริการ NSW จนผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานสากลทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO27001 ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ISO27701 และด้านการบริหารความต่อเนื่องบริการ ISO22301 สร้างความมั่นใจระบบไม่มีความเสี่ยง 

advertisement

SPOTLIGHT