อินไซต์เศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมชิปเซ็ตเวียดนามใหญ่แค่ไหน ? ทำไมบริษัทเทคฯระดับโลกแห่ลงทุน ?

5 ก.ย. 67
อุตสาหกรรมชิปเซ็ตเวียดนามใหญ่แค่ไหน ? ทำไมบริษัทเทคฯระดับโลกแห่ลงทุน ?
ไฮไลท์ Highlight
  • ในปี 2022 ‘เวียดนาม’ เป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากอันดับ 1 คือ มาเลเซีย และอันดับ 2 คือ สิงคโปร์ และเป็นผู้ส่งออกวงจรรวม อันดับที่ 11 ของโลก และอันดับ 3 ในอาเซียน

  • สิ่งที่เวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดเช่นเดียวกันคือ ศูนย์ R&D หรือศูนย์วิจัยและพัฒนา โดยปัจจุบัน เวียดนามเป็นที่ตั้งของศูนย์ R&D ของบริษัทชิปเซ็ตระดับโลกจำนวนมาก

  • ปัจจุบัน เวียดนามถือเป็นแหล่งวิศวกรไอที และนักพัฒนาและออกแบบชิปเซ็ต ที่เป็นที่ต้องการของบริษัทผลิตพัฒนาชิปเซ็ตทั่วโลก เพราะมีความรู้ดี เข้าใจภาษาอังกฤษ ขยันและเอาจริงเอาจังกับการทำงาน อีกทั้งมีค่าแรงต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับวิศวกรในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน 

ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชิปเซ็ต เป็นผลิตภัณฑ์และสินค้าหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นที่ต้องการสูง จากการที่บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกเริ่มแข่งขันกันพัฒนาเอไอ ซึ่งต้องใช้ชิปเซ็ตระดับสูงในการเรียนรู้และทำงานจำนวนมาก ทำให้ประเทศที่สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในซัพพลายเชนของชิปเซ็ตได้ มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสูงตามไปด้วย

ซึ่งท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลายๆ ประเทศในอาเซียน รวมถึงไทย มีโอกาสสูงที่จะดึงดูดการลงทุนแต่หนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดก็คือ ‘เวียดนาม’ โดยเฉพาะในด้านการวิจัยและพัฒนาเพราะปัจจุบัน เวียดนามเป็นที่ตั้งของศูนย์ R&D ของผู้พัฒนาชิปเซ็ตระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Qualcomm หรือ Marvell Technologies

ในวันนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าอุตสาหกรรมชิปเซ็ตในเวียดนามเป็นอย่างไร? พัฒนาไปขนาดไหน? และมีข้อดีอย่างไรจึงสามารถดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน และตั้งศูนย์ R&D ภายในประเทศได้สำเร็จ?

เวียดนาม ผลิตชิปเซ็ต

เวียดนาม ขึ้นแท่นผู้ส่งออกชิปเซ็ตรายใหญ่ของโลก 

ปัจจุบัน ‘เวียดนาม’ เป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ และวงจรรวม หรือ IC รายใหญ่ของโลก โดยในปี 2022 ‘เวียดนาม’ เป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากอันดับ 1 คือ มาเลเซีย และอันดับ 2 คือ สิงคโปร์ และเป็นผู้ส่งออกวงจรรวม อันดับที่ 11 ของโลก และอันดับ 3 ในอาเซียน นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังสหรัฐฯ ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากมาเลเซียและไต้หวัน 

โดยในปี 2023 เวียดนามส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่าถึง 562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ซึ่งนี่ก็เป็นเพราะว่า ปัจจุบัน เวียดนามสามารถดึงดูดให้บริษัทพัฒนาชิปเซ็ตระดับโลกให้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงโรงงานบรรจุภัณฑ์ และทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ ได้เป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น

  • Intel บริษัทพัฒนาชิปเซ็ต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จากสหรัฐฯ ที่เข้าไปลงทุน และก่อตั้งโรงงานผลิตและทดสอบชิปเซ็ตในนครโฮจิมินห์ ตั้งแต่ปี 2006 โดยในปี 2021 Intel มีมูลค่าลงทุนในเวียดนามทั้งหมด 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างงานกว่า 6,500 ตำแหน่ง

  • Amkor Technology บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ที่ในปี 2023 ได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานบรรจุเซมิคอนดักเตอร์ในเมืองบั๊กนินห์ (Bac Ninh) ด้วยเงินทุน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Nvidia บริษัทออกแบบและพัฒนาชิปเซ็ตอันดับ 1 ของโลก ที่ประกาศเข้าไปตั้งฐานการดำเนินงานในเวียดนามหลังจากได้ลงทุนในเวียดนามไปแล้วถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาค

เวียดนาม ที่ตั้งศูนย์ R&D ของบริษัทชิปเซ็ตระดับโลก 

อย่างไรก็ตาม นอกจากโรงงานแล้ว อีกสิ่งที่เวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดเช่นเดียวกันคือ ศูนย์ R&D หรือศูนย์วิจัยและพัฒนา โดยปัจจุบัน เวียดนามเป็นที่ตั้งของศูนย์ R&D ของบริษัทชิปเซ็ตระดับโลกจำนวนมาก เช่น

  • Qualcomm บริษัทเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคมชั้นนำจากสหรัฐฯ ซึ่งได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2003 และได้สร้างศูนย์ R&D แห่งแรกในเวียดนามและอาเซียนในปี 2020 เพื่อขยายการผลิตชิปเซ็ตสำหรับระบบ 5G

  • Marvell Technologies บริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาชิประบบเครือข่าย และการเก็บข้อมูลจากสหรัฐฯ ที่ได้เข้าไปตั้งศูนย์ R&D ในเวียดนามตั้งแต่ปี 2013

  • Synopsys บริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์จากสหรัฐฯ ที่เข้าไปเปิดสำนักงานและศูนย์ R&D ในเวียดนามตั้งแต่ปี 2016 และสร้างงานกว่า 500 ตำแหน่ง

เวียดนาม แหล่งแรงงานคุณภาพดีและค่าจ้างไม่สูงเทียบเพื่อนบ้าน 

ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีเข้าไปตั้งศูนย์ R&D ในประเทศได้ก็คือ “แรงงาน” หรือกำลังคน ที่ทั้งมีความสามารถ และมีค่าแรงที่ต่ำกว่าที่อื่นเมื่อเทียบกับคุณภาพงานที่จะได้รับ โดยปัจจุบัน เวียดนามถือเป็นแหล่งวิศวกรไอที และนักพัฒนาและออกแบบชิปเซ็ต ที่เป็นที่ต้องการของบริษัทผลิตพัฒนาชิปเซ็ตทั่วโลก เพราะมีความรู้ดี เข้าใจภาษาอังกฤษ ขยันและเอาจริงเอาจังกับการทำงาน อีกทั้งมีค่าแรงต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับวิศวกรในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน 

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Salary Explorer ระบุว่า ค่าตอบแทนเฉลี่ยของวิศวกรไอทีในเวียดนามอยู่ที่เพียง 665 ดอลลารสหรัฐ หรือราว 22,745 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าแรงเฉลี่ยของวิศวกรในสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 5,627 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 192,460 บาทต่อเดือน ในไต้หวันซึ่งอยู่ที่ 3,782 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 129,354 บาทต่อเดือน มาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ 1,313 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 44,908 บาทต่อเดือนและไทย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 85,100 บาท ต่อเดือน

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนาม ยังมีแผนดึงดูดการลงทุนด้วยการออกมาตรการทางภาษี ทั้งด้วยการลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีให้กับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติและมีข้อได้เปรียบในแง่ที่มีเสถียรภาพการเมือง โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรง และมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ ทำให้บริษัทต่างๆ อยากเข้าไปลงทุน ดังนั้น จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เวียดนามจึงเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางการออกแบบ พัฒนา และผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต 

และถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับทุกประเทศในอาเซียน รวมถึงไทย ในการสร้างที่ยืนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพราะมีความพร้อมทั้งในฐานะฐานการผลิต และฐานการวิจัยซึ่งหากเวียดนามสามารถปั้นอุตสาหกรรมและซัพพลายเชนชิปเซ็ตขึ้นมาในประเทศได้สำเร็จเวียดนามก็มีศักยภาพสูงมากในการแซงไทย และถีบตัวเองขึ้นไปเป็นหนึ่งในประเทศรายได้สูงในอนาคต เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์นั้น เป็นสินค้ามูลค่าสูงที่เป็นที่ต้องการมากในปัจจุบัน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT