ได้หนังสือแจ้งเสียภาษีที่ดินแล้ว
อย่าลืมเช็ค 3 เรื่องนี้ก่อนเสียภาษีให้ถูกต้อง
สำหรับใครหลายคนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2565 คงทยอยได้รับหนังสือแจ้งเสียภาษีที่ดินแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือที่ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรามีที่ดินตั้งอยู่ส่งมาให้เพื่อประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เราต้องจ่ายนั่นเองครับ เมื่อได้รับแล้ว หลายคนอาจจะเริ่มสับสน มึนงงเล็ก ๆ ว่าควรจะเริ่มต้นเช็คตรงไหน และจะไปเสียอย่างไร วันนี้มี 3 เรื่องที่ต้องเช็คให้ดีก่อนที่จะไปเสียภาษีมาฝากกันครับ
โดยเอกสารตัวนี้ชื่อเต็ม ๆ ของมันก็คือ หนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในรายละเอียดของหนังสือฉบับนี้เขาก็จะบอกว่าส่งมาจากไหน จากใคร โดยเราต้องเริ่มต้นดูที่รายการต่อไปนี้ครับ
ในหน้าแรกของ หนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีรายละเอียดบอกว่า แจ้งประเมินเดือนไหน (จากตัวอย่างคือภายในเดือนเมษายน) ซึ่งตรงนี้จะมีทางเลือก 2 ทาง ระหว่าง เห็นด้วย กับ ไม่เห็นด้วย ในการประเมินตามหนังสือฉบับนี้ ถ้าเราเห็นด้วยก็สามารถชำระภาษีตามช่องทางที่เขาบอกได้เลย คือ สำนักคลังขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ หรือผ่านเคานเตอร์ธนาคารกรุงไทย หรือ ผ่าน Internet banking แต่ถ้าไม่เห็นด้วยนี่ เราต้องยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมชำระภาษีภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งหนังสือการประเมินครับ
สำหรับส่วนที่สองนี้ เป็นเรื่องของข้อมูลการประเมิน ตั้งแต่ทรัพย์สินของเรามีอะไรที่ประเมินบ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคารชุด (กรณีนี้เป็นห้องชุด) และจำนวนเงินที่ประเมินภาษี (กรณีนี้คือ 282.64 บาท) ซึ่งในหนังสือส่วนนี้จะมีระยะเวลาการชำระภาษีแจ้งมาด้วยครับ (กรณีนี้คือ กรกฎาคม 2565) ซึ่งต้องบอกตรงๆ ว่าแต่ละองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เขาเลื่อนไม่เหมือนกันครับ เช่น ถ้าหากเป็นทางฝั่ง กทม. เห็นว่าเลื่อนให้ถึงมิถุนายน ดังนั้นอย่าลืมเช็คตามหนังสือแจ้งฯที่ได้รับนะครับ
สำหรับกรณีที่ไม่จ่าย จะเจอเรื่องของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังนี้ครับ
- ชำระก่อนออกหนังสือแจ้งเตือนการชำระภาษี ต้องชำระเบี้ยปรับ 10%
- ชำระภายในวันที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือนการชำระภาษี ต้องชำระเบี้ยปรับ 20%
- ชำระเกินวันที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือนการชำระภาษี ต้องชำระเบี้ยปรับ 40%
ส่วนกรณีของเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) จะคิดในอัตรา 1% ต่อเดือนนับจากวันที่ค้างชำระครับ โดยเศษของเดือนก็จะนับเป็น 1 เดือนด้วยครับซึ่งถ้าใครจะจ่าย ก็สามารถจ่ายได้ตามรายละเอียดตรงนี้นะครับ 3 ช่องทางตามที่ว่ามา สะดวกแบบไหนจ่ายได้เลย แต่ก่อนจะจ่าย ลองมาเช็คข้อมูลส่วนสุดท้ายกันก่อนกันครับ
สำหรับส่วนนี้เราจะได้รู้ว่าจำนวนภาษีที่เขาประเมินมันมาจากไหน คิดอย่างไร โดยจะมีรายละเอียดอีกใบหนึ่งครับ นั่นคือ ใบแนบหรือแบบแสดงการคำนวณภาษีครับ
สิ่งที่ใบคำนวณภาษีบอกจะมีตั้งแต่ข้อมูลของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือ อาคารชุดของเรา โดยแยกว่าเป็นพื้นที่เท่าไร มีราคาประเมินแบบไหน และมีการใช้งานในลักษณะใดบ้าง อย่างกรณีนี้เป็นห้องชุด เขาก็จะแบ่งราคาประเมินออกเป็นสองส่วน นั่นคือ ห้อง กับ ระเบียง และระบุว่าใช้งานเป็นที่อยู่อาศัยครับ
ส่วนกรณีของที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้าง ก็จะแบ่งตามพื้นที่ใช้งานเช่นเดียวกันครับ แต่จะมีรายละเอียดการคำนวณเพิ่มเติม เช่น อายุการใช้งาน เพื่อคิดค่าเสื่อมหักออกจากราคาประเมินอีกทีหนึ่ง หรือ การได้รับสิทธิ์ยกเว้นมูลค่าฐานภาษีต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่มีผลต่อการประเมินภาษีหลัก ๆ คือ พื้นที่การใช้งาน และ ใช้ประโยชน์ (เช่น ที่อยู่อาศัย) และถ้าหากใครดูรายละเอียดตรงนี้แล้วพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็สามารถยื่นคำร้องได้ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นครับ (ภ.ด.ส. 10 คำร้องคัดค้านการประเมินภาษี) แต่ถ้าหากถูกต้องก็สามารถจ่ายได้ตามช่องทางทีระบุไว้ในหนังสือแจ้งการประเมินครับ
สรุปสุดท้ายอีกที สำหรับคนที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่าลืมเช็คให้ดีว่า หนังสือที่ส่งมานั้นข้อมูลถูกต้องไหม โดยเฉพาะเรื่องของการใช้งานพื้นที่แบบไหน มีวิธีการคำนวณอย่างไร และถ้าไม่ถุกต้องตามข้อเท็จจริงก็สามารถยื่นคำร้องได้ภายใน 30 วันนะครับ แต่ถ้าไม่มีปัญหาใด ๆ ก็อย่าลืมจ่ายภายในเวลาที่กำหนดไว้ด้วยนะครับผม
บทความอื่นจาก พี่หนอม ตามลิงค์นี้
วางแผนการเงินยังไงดี ถ้าคิดจะลาออกจากงาน
9 ข้อคิดดี ๆ เรื่องเงิน จากหนังสือ The Psychology of Money
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms