เข้าสู่ช่วงเวลานี้ หลายคนคงเริ่มยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีกันแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ผมเองก็ได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับการยื่นภาษีประจำปีครับ เลยอยากจะรวบรวมข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้ก่อนจะยื่นภาษี หรือ ขอคืนภาษีสำหรับใครหลายคน รวมถึงการติดตามสถานะต่างๆ ของการนำส่งเอกสารให้กับทางสรรพากรครับ
เอาล่ะครับ เพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาเริ่มกันทีละข้อเลยดีกว่าครับ
คำถามนี้เป็นคำถามที่หลายคนถามเข้ามาบ่อยๆครับ เพราะอยากรู้ว่าปีที่ยื่นภาษีนี้จะได้คืนภาษีหรือเปล่า ซึ่งการที่จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องเข้าใจ 2 เรื่องครับ นั่นคือ ความสัมพันธ์ของภาษี และ วิธีการคำนวณภาษี
การได้คืนภาษีนั้น มาจากความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับ ภาษีประจำปีที่คำนวณได้ หักออกด้วย ภาษีที่จ่ายล่วงหน้าไว้ระหว่างปี ซึ่งได้แก่ ภาษีครึ่งปีที่จ่ายไว้ (ถ้ามี) กับ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ถูกผู้จ่ายเงินได้หักไว้ ครับ
ดังนั้นเราจะได้คืนภาษี ก็ต่อเมื่อ เรามีภาษีที่จ่ายล่วงหน้าไว้มากกว่าภาษีที่เราต้องจ่ายจริงนั่นเองครับ ซึ่งหลักฐานสำคัญที่ต้องใช้ ก็คือ ใบเสร็จการยื่นภาษีครึ่งปี (ถ้ายื่น)และ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ที่ได้รับ)
ส่วน วิธีการคำนวณภาษี มี 2 วิธี คือ วิธีเงินได้พึงประเมิน และ วิธีเงินได้สุทธิ โดยเราต้องเสียภาษีจากวิธีที่คำนวณได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบจากสองวิธีที่ว่ามานี้ และโดยปกติแล้ววิธีเงินได้สุทธิจะคำนวณภาษีได้มากกว่าครับ
ถ้าใครอ่านตรงนี้แล้วยังไม่เข้าใจ หรือ สับสนเรื่องการคำนวณภาษีและความสัมพันธ์ที่ว่ามา ผมแนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมจากคลิปนี้ก่อนนะครับ
ดูคลิปวิธีคำนวณภาษ๊จากพี่หนอม
สำหรับคำถามนี้ ต้องบอกว่าการยื่นภาษีนั้นจะอยู่ที่จำนวนเงินได้หรือรายได้ที่กฎหมายกำหนดครับ ซึ่งรายได้ที่ต้องยื่นภาษีในปัจจุบัน มีหลักการตามนี้ครับ
โดยคำว่า ยื่นภาษี หมายถึง เราต้องยื่นเมื่อรายได้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนคำว่า เสียภาษี หมายถึงเราต้องเสียเมื่อคำนวณแล้วมีภาษีต้องจ่าย ตามวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ
โดยในปี 2565 เราสามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 10 เมษายน 2566 (แบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต) ซึ่งหากใครมีข้อมูลพร้อมแล้วก็สามารถยื่นภาษีได้เลยครับ
คำตอบของเรื่องนี้ คือ 3 ตัวนี้ครับ นั่นคือ รายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน
รายได้ หรือ เงินได้ สิ่งสำคัญ คือ ตัวเลขรายได้ที่แท้จริงของเรา และที่สำคัญกว่านั้น คือ ต้องรู้ด้วยว่าเงินได้ของเราเป็นเงินได้ประเภทไหนตามกฎหมาย (ที่มีทั้งหมด 8 ประเภท) เพื่อให้เรายื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง
สำหรับกรณีรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ควรมีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)เป็นเอกสารประกอบด้วยครับ
ค่าใช้จ่าย เข้าใจวิธีการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายที่ว่า จะสัมพันธ์กับประเภทเงินได้ โดยเงินได้แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันไปในกรอบของวิธีการหักแบบเหมา (ตามอัตรา % ที่กฎหมายกำหนด) และ ตามจริง (ตามจำเป็นและสมควร) เช่น มนุษย์เงินเดือนหรืือฟรีแลนซ์สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% ของเงินได้แต่สูงสุดแล้วไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไปสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ของรายได้ หรือ หักตามค่าใช้จ่ายจริง (พร้่อมกับมีหลักฐานการจ่าย)
ค่าลดหย่อน รู้จักรายการลดหย่อนภาษีที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ว่ามีรายการอะไรบ้างเพื่อใช้ในการยื่นภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น ค่าลดหย่อนกลุ่มครอบครัว การใช้จ่าย การลงทุนต่างๆ บริจาคตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด
โดยหลักฐานทั้งหมดควรเก็บไว้ให้ครบถ้วนเพื่อใช้ในการยื่นภาษี และสามารถนำส่งเอกสารให้กับทางสรรพากรได้ในกรณีที่เราขอคืนภาษี หรือ สรรพากรเรียกตรวจสอบเพิ่มเติมครับ (หมายเหตุ ซ ตอนยื่นไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารทันที ใครที่มีข้อมูลก็สามารถยื่นได้เลยครับ)
สุดท้ายนี้หากใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นภาษี สามารถดูได้จากคลิปที่ผมทำไว้ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2565 ขอให้ทุกคนยื่นภาษีอย่างถูกต้อง และได้คืนภาษีครบถ้วนตามที่ยื่นไว้ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms