การเงิน

มีรายได้จากต่างประเทศ เสียภาษีที่ไทยอย่างไร ?

14 ก.ย. 67
มีรายได้จากต่างประเทศ เสียภาษีที่ไทยอย่างไร ?

คนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ถึงเวลาต้องเตรียมตัวรับมือกับภาษีที่อาจต้องจ่ายให้สรรพากรไทย ซึ่งก่อนหน้านี้รายได้จากต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 67 ก็เข้าข่ายต้องเสียภาษีให้สรรพากรไทยมากกว่าปีก่อนๆ อยู่แล้ว แต่นับตั้งแต่ปี 68 เป็นต้นไป อาจต้องเข้าข่ายเสียภาษีมากขึ้นไปอีก จากท่าทีล่าสุดของสรรพากรเมื่อต้น ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ที่มีข่าวว่าสรรพากรอยู่ระหว่างเตรียมแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1.ปี 67 รายได้จากต่างประเทศ เสียภาษีไทยอย่างไร

ด้วยเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (เริ่มใช้ปี 67) ปีใดก็ตามที่เรามีการใช้ชีวิตหรือพำนักอยู่ในประเทศไทย 180 วันขึ้นไป หากปีนั้นเรามีรายได้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ เช่น มีกำไรจากการทำธุรกิจร้านอาหาร/ค้าขายที่ต่างประเทศ มีรายได้จากค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์ มีกำไรหรือเงินปันผลจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ หรือมีไปรับจ้างทำงาน Freelance ที่ต่างประเทศในบางช่วงเวลา ฯลฯ เมื่อมีการนำรายได้นั้นกลับเข้าประเทศไทย ต้องนำรายได้ที่ว่าไปยื่นรวมกับรายได้อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกับที่โอนเงินนั้นกลับเข้าไทย เพื่อเสียภาษีให้กับสรรพากรไทยด้วย

เช่น รายได้ที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศในช่วงปี 67 หากมีการนำเข้าประเทศไทยปี 68 ก็ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงปี 68 เพื่อยื่นภาษีภายใน มี.ค. 69 เป็นต้น แต่หากยังไม่นำกลับเข้ามาในไทย ก็ยังไม่ต้องนำรายได้นั้นไปยื่นภาษีต่อสรรพากรไทย

ซึ่งในทางปฏิบัติ การปล่อยเวลาให้ล่วงเลยและมีการนำรายได้โอนกลับเข้ามาในไทยหลังจากรายได้นั้นเกิดขึ้นมาหลายปี อาจมีอุปสรรคในเรื่องหลักฐานแสดงที่มาของรายได้ เช่น เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นปีไหน หากเป็นรายได้จากการลงทุนเงินส่วนไหนเป็นต้นทุนซึ่งไม่ถือเป็นรายได้ เงินส่วนไหนเป็นกำไรที่ถือเป็นรายได้ อีกทั้งรูปแบบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายได้ดังกล่าวในแต่ละประเทศก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน ยากต่อการนำไปใช้อ้างอิงเพื่อแถลงรายได้ต่อสรรพากร

2.ปี 68 รายได้จากต่างประเทศ เสียภาษีไทยอย่างไร

จากข่าวที่เผยแพร่ในช่วงต้นเดือน ก.ย. 67 ที่ผ่านมานั้นระบุว่าสรรพากรไทยอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายซึ่งจะส่งผลให้ ผู้ที่มีรายได้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ หากปีนั้นพำนักอยู่ในประเทศไทย 180 วันขึ้นไปแล้ว ต้องนำรายได้นั้นไปยื่นรวมกับรายได้อื่นๆ ที่เกิดขึ้นที่ไทยในปีเดียวกัน เพื่อเสียภาษีให้กับสรรพากรไทยด้วย ไม่ว่าจะมีการโอนรายได้หรือเงินนั้นกลับเข้ามาในไทยหรือไม่ก็ตาม

เช่น รายได้ที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศในช่วงปี 68 ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงปี 68 เพื่อยื่นภาษีภายใน มี.ค. 69 เป็นต้น แม้ว่าจะมีการโอนเงินกลับเข้ามาหลังปี 68 หรือไม่โอนกลับมาไทยเลยก็ตาม

ซึ่งหากเกณฑ์ภาษีปี 68 เป็นไปตามข่าวที่เผยแพร่จริง ผู้เขียนขอสรุปลักษณะของรายได้ที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศในแต่ละช่วงปี ที่ต้องเสียภาษีให้สรรพากรไทย ตามตารางดังนี้

8460953.อยากมีรายได้จากต่างประเทศ แต่อยากบรรเทาภาษีที่ไทย ทำอย่างไร

1)ในแต่ละปีอยู่ในไทยไม่ถึง 180 วัน หรือไม่อยู่เลย เช่น คนที่ไปเรียนหรือทำงานที่ต่างประเทศ แม้มีรายได้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ แต่หากปีนั้นไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาในไทย หรือกลับมาแต่อยู่ในไทยไม่ถึง 180 วัน รายได้ที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ ก็ไม่ต้องเสียภาษีให้สรรพากรไทย อย่างไรก็ตามทางเลือกนี้ไม่สามารถใช้ได้กับคนทั่วไป ที่เป็นคนไทยหรือมีที่พักอาศัยหลักอยู่ในประเทศไทย

2) เลือกลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศ ในทางเลือกที่ยกเว้นภาษีหรือถูกหักภาษีแบบ Final Tax เช่น

  • ลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ ที่ (1) กำไรจากการซื้อขาย ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งไม่ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อยื่นภาษี และ (2) เงินปันผล ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ซึ่งเป็นการหักแบบ Final Tax (ภาษีสุดท้าย) ซึ่งผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกว่าจะเงินปันผลที่ได้รับ ไปรวมหรือไม่รวมกับรายได้อื่น ในการยื่นภาษีหรือไม่ก็ได้ โดยกองทุนรวมสามารถซื้อขายได้ผ่านช่องทางธนาคารหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

  • ลงทุนผ่าน ETF (Exchange Traded Fund) ที่ (1) กำไรจากการซื้อขาย ได้รับการยกเว้นภาษี และ (2) เงินปันผล ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เช่นเดียวกับกองทุนรวม โดยปัจจุบันมี ETF ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศอยู่ 3 ETF* ด้วยกัน โดย ETF สามารถซื้อขายผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น เดียวกับการซื้อขายหุ้น

  • ลงทุนผ่านตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งกำไรจากการซื้อขาย ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อยื่นภาษี โดยตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีการอ้างอิงทั้งหุ้นบริษัทต่างประเทศและดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ อย่าง DR ที่ปัจจุบัน มีการอ้างอิงมากถึง 37 หลักทรัพย์* ส่วน DRx มีการอ้างอิง 13 หลักทรัพย์* โดย DR และ DRx สามารถซื้อขายผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ โดยการซื้อขาย DRx ต้องเปิดบัญชีหรือแจ้งความประสงค์ที่ต่างจากการซื้อขายหุ้น


เสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศ

ภาษีเงินได้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากรายได้ของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการทำงานอย่างมมุษย์เงินเดือน ที่เสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าสูงสุดถึง 35% รายได้จากการลงทุนอย่างเงินปันผลและดอกเบี้ย ที่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% และ 15% ตามลำดับ รวมไปถึงรายได้จากการปล่อยเช่าด้วย จึงไม่แปลกที่รายได้จากต่างประเทศสรรพากรจะเริ่มหันมาจัดเก็บอย่างจริงจัง เราในฐานะผู้มีเงินได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องภาษีไม่แพ้กัน เพื่อให้รู้เท่าทันเกณฑ์ใหม่และเตรียมความพร้อมการวางแผนเพื่อลดภาระภาษีลงให้มากที่สุด

*ข้อมูล ณ 12 ก.ย. 67 จาก website www.set.or.th

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT