UNICEF เผยในปีนี้เด็กกว่า 243 ล้านคนในเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิกเสี่ยงป่วยและเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัด เพราะคนอายุน้อยสามารถปรับตัวกับอากาศร้อนได้น้อยกว่า แนะผู้ปกครองดูแลไม่ให้เล่นกลางแจ้ง
ปี 2024 เป็นปีหนึ่งที่นักวิจัยและนักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกคาดว่า จะเป็นปีที่มีหน้าร้อนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำลายสถิติปี 2023 โดยสำหรับประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าปีนี้ไทยมีสิทธิ์จะร้อนทะลุสถิติแตะ 45 องศา สูงสุดในรอบ 73 ปี จากทั้งภาวะโลกร้อน และปรากฎการณ์เอลนีโญ เป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน
ทั้งนี้ แม้คนในทุกช่วงอายุจะมีสิทธิ์ป่วยและเสียชีวิตจากอากาศร้อนทั้งหมด จากข้อมูลของ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) กลุ่มคนอายุน้อยมีความเสี่ยงที่จะป่วยและเสียชีวิตจากอากาศร้อนมากที่สุด
ในวันนี้ (11 เม.ย. 2024) ยูนิเซฟ เผยว่า ในปีนี้ มีเด็กถึงกว่า 243 คนในเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิกมีสิทธิ์ที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากอากาศที่กำลังจะร้อนทะลุ 40 องศาเซลเซียสในปีนี้ เพราะหน้าร้อนในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะเอเชียแปซิก มีความชื้นสูง ทำให้ร่างกายของผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้สามารถปรับตัวให้เย็นลงได้ยากกว่า
นอกจากนี้ ยูนิเซฟ ยังเผยอีกว่า ภายในปี 2050 เด็กกว่า 2.02 พันล้านคนทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ไม่ว่าทุกประเทศทั่วโลกจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีโอกาสสูงที่อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น 1.7 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 หรือมากที่สุดถึง 2.4 องศาเซลเซียสหากทั่วโลกยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงอยู่
ยูนิเซฟ ระบุว่า เด็กมีโอกาสป่วยและเสียชีวิตจากอากาศร้อนมากกว่า เนื่องจากร่างกายเด็กปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เสี่ยงป่วยจากภาวะที่เกิดจากความร้อนหลายอย่าง ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง หอบหืด และโรคหลอดเลือดหัวใจ
นอกจากนี้ อากาศร้อนยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้และจดจ่อกับบทเรียนของเด็ก ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด หรือทำให้เด็กในครรภ์เสียชีวิต
ดังนั้น ยูนิเซฟ จึงแนะนำให้ผู้ปกครองทุกคนช่วยปกป้องลูกหลาน และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จากคลื่นอากาศร้อนด้วยการไม่ปล่อยให้เด็กออกไปเล่นกลางแจ้งในอากาศร้อนเป็นเวลานาน ให้เด็กใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อน ดูแลให้เด็กดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ รวมถึง การจัดระบบปรับอากาศในพื้นที่โรงเรียนให้มีอากาศเย็นเอื้อกับการเรียนรู้ของเด็ก
ทั้งนี้ หากพบว่า มีเด็กหรือผู้หญิงตั้งครรภ์มีอาการจากฮีทสโตรก เช่น อาหารวิงเวียน เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ มีไข้อ่อนๆ เลือดกำเดาไหล หรืออาการปวดกล้ามเนื้อ ยูนิเซฟแนะนำให้นำผู้ป่วยเข้าไปในร่มหรือที่เย็นที่มีการระบายอากาศที่ดี และเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นเพื่อลดความร้อนในร่างกายลง แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น เป็นลม มึนงงสับสน หัวใจเต้นเร็ว หรือชัก ก็ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว พร้อมปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ที่มา: ReliefWeb