ความยั่งยืน

ยุคเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน ใช้ "เจ็ตส่วนตัว" ระวังทัวร์ลง

5 ส.ค. 65
ยุคเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน ใช้ "เจ็ตส่วนตัว" ระวังทัวร์ลง

ยุคเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน การบินเจ็ตส่วนตัวอาจไม่ใช่วิธีอวดฐานะที่ดีต่อภาพลักษณ์อีกต่อไป เพราะอาจถูกประณามได้ว่าเป็นพวก “ทำลายโลก”

 

เวลาเราดูภาพยนตร์หรือละคร สิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าตัวละคร “รวยจริง” อย่างหนึ่งก็คือภาพตัวละครเหล่านั้นกำลังเดินขึ้นหรือจิบแชมเปญเอกเขนกบนเครื่องบินส่วนตัวที่แสนสะดวกสบายและเป็นส่วนตัว เพราะแค่ค่าเช่าอย่างต่ำก็ประมาณชั่วโมงละ 36,000 บาท หรือ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐเข้าไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึงคนที่มีเงินซื้อและเสียค่าพนักงาน และค่าบำรุงเครื่องปีละหลายๆ ล้าน

แม้มันจะเป็นเครื่องช่วยบอกสถานะได้ แต่ในยุคที่คนตระหนักเรื่องมลพิษและภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น เครื่องมือ “อวยรวย” บางประเภทก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เอาออกมาประดับตัวเปิดเผยเหมือนกระเป๋าแอร์เมส หรือนาฬิกาปาเต็ก ได้อีกต่อไปเพราะอาจมี “ทัวร์ลง” ได้หากคนรู้ว่าคุณเป็นหนึ่งในตัวการทำลายโลก

เพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนไป และค่านิยมของคนก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

เหมือนที่ชาวเน็ตตั้งชื่อเล่นให้ไคลีย์ เจนเนอร์ (Kylie Jenner) ว่าเป็น “อาชญากรด้านภูมิอากาศ” (Climate Criminal) หลังเธอโพสต์ภาพตัวเองกับสามีคู่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวบนอินสตาแกรม

 

img_0601

 


หรือที่นักร้องดัง เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) กลายเป็นมีมชั่วข้ามคืนหลังบริษัทมาร์เก็ตติงที่ชื่อว่า Yard ได้ตีพิมพ์บทความแฉว่า เธอเป็นคนดังที่ปล่อยมลพิษทางอากาศจากการบินเจ็ตส่วนตัวมากที่สุดในปี 2022 โดยในบทความระบุว่านักร้องสาวบินเจ็ตส่วนตัวไปถึง “170 ครั้ง” และปล่อยคาร์บอนไปถึง “8,293.54 ตัน” มากกว่าปริมาณคาร์บอนเฉลี่ยที่คนทั่วไปปล่อยต่อปีถึง 1,184.8 เท่า

ถึงแม้เบื้องต้นตัวแทนของนักร้องสาวจะออกมาโต้ว่า เทย์เลอร์ไม่ได้เป็นคนปล่อยคาร์บอนแปดพันกว่าตันนั้นทั้งหมดเพราะเธอปล่อยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวให้คนอื่นเช่าหารปริมาณคาร์บอนไปกับเธอด้วย แต่การที่เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบและล้อเลียนในโลกออนไลน์ก็พอจะบ่งบอกถึงปฏิกิริยาทางสังคมในยุคใหม่ได้ว่า การมีเครื่องบินส่วนตัวใช้อาจไม่ใช่เครื่องแสดงฐานะที่ดีอีกต่อไป

หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องปกปิดและ “แอบใช้เงียบๆ” ไปเสียแล้วถ้าไม่อยากถูกประณามว่าเป็นพวกทำลายสิ่งแวดล้อมโลก



10 อันดับคนดังที่ทาง Yard เปิดเผยว่าปล่อยมลพิษทางอากาศโดยการใช้เจ็ตส่วนตัวมากที่สุด

 

1. Taylor Swiftscreenshot2565-08-05at13.

  • บินไป 170 ไฟลท์ ปล่อยคาร์บอนไป 8,293.54 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 1,184.8 เท่า

2. Floyd Mayweatherscreenshot2565-08-05at12.

  • นักมวยอาชีพ บินไป 177 ไฟลท์ ปล่อยคาร์บอนไป 6,981.3 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 1,011เท่า

 

3. Jay-Z

000_9p93j3

  • แร็ปเปอร์ชื่อดัง สามีของนักร้องสาวบียอนเซ บินไป 136 ไฟลท์ ปล่อยคาร์บอนไป 7,076.8 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 997.3 เท่า

 

4. A-Rod

screenshot2565-08-05at13._1

  • นักเบสบอลอาชีพ อดีตคู่หมั้นของเจนนิเฟอร์ โลเปซ บินไป 106 ไฟลท์ ปล่อยคาร์บอนไป 5,342.7 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 763.24 เท่า

 

5. Blake Shelton

screenshot2565-08-05at13._2

  • นักร้องคันทรีชาวอเมริกัน บินไป 111 ไฟลท์ ปล่อยคาร์บอนไป 4,495 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 642 เท่า

 

6. Steven Spielberg

000_sawh990125456150

  • ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง บินไป 61 ไฟลท์ ปล่อยคาร์บอนไป 4,465 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 637.9  เท่า

 

7. Kim Kardashian

screenshot2565-08-05at12._1

  • เซเลบริตี้นักธุรกิจ พี่สาวของไคลีย์ เจนเนอร์ บินไป 57 ไฟลท์ ปล่อยคาร์บอนไป 4,268.5 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 609.8 เท่า

 

8. Mark Wahlberg

screenshot2565-08-05at13._3

  • นักแสดงชาวอเมริกัน บินไป 101 ไฟลท์ ปล่อยคาร์บอนไป 3,772.85 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 538.9 เท่า

 

9. Oprah Winfrey

screenshot2565-08-05at12._2

  • นักจัดรายการทีวีชื่อดัง บินไป 68 ไฟลท์ ปล่อยคาร์บอนไป 3,493.17 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 499 เท่า

 

10. Travis Scott

screenshot2565-08-05at13._4

  • แร็ปเปอร์ชื่อดัง สามีของไคลีย์ เจนเนอร์ ปล่อยคาร์บอนไป 3,033.3 ตัน มากกว่าคนทั่วไปปล่อยเฉลี่ยทั้งปี 433 เท่า

  

ภาพลักษณ์ รักษ์โลกกำลังมา

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดกระแสตีกลับ คือการที่คนทั่วไปมีความรู้และหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้คนส่วนมากเลือกที่จะสนับสนุนบริษัทหรือบุคคลที่มี “ภาพลักษณ์” รักษ์โลกมากกว่า

บริษัทหลายๆ แห่งจึงพยายามปรับวิธีการดำเนินธุรกิจของตัวเองให้เป็นไปตามแนวคิดความยั่งยืน หรือ Environmental, Social and Governance (ESG) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์สังคม และมีหลักธรรมาภิบาลที่ดีผ่านการทำกิจกรรมแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ Social Corporate Responsibility (CSR) หรือกลยุทธ์การตลาดแบบต่างๆ เพื่อ “สร้างภาพ” ให้ตัวเองดูเป็นบริษัทรักษ์โลกใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ถึงการพยายามสร้างภาพลักษณ์สีเขียวให้บริษัทแบบนี้จะถูกนักสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวหลายคนวิจารณ์ว่า “ปลอม” จนทำให้เกิดคำอย่าง “การฟอกเขียว” (Greenwashing) ขึ้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแค่การแปะป้ายสินค้าว่า “ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล” “ออร์แกนิค” หรือ “ธรรมชาติ” ก็ทำให้สินค้านั้นเป็นที่นิยมและขายดีขึ้นจริงๆ ถึงแม้สินค้านั้นจะไม่ได้เป็นอย่างที่โฆษณาเอาไว้ก็ตาม

เพราะฉะนั้นในสมัยนี้สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่ว่าคุณใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ สิ่งสำคัญคือ คนต้อง “คิด” ว่าคุณใส่ใจ

และอย่างน้อยถ้าจะทำอะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อความสะดวกสบายของตัวเองบ้าง ก็แค่ “ระวังอย่าให้ถูกจับได้” หรือ “อย่าเอาออกมาอวด” เหมือนนักธุรกิจระดับสูงจำนวนมากที่ตัดสินใจซื้อหรือใช้เจ็ตส่วนตัวกัน “เงียบๆ” ในช่วงที่โควิดกำลังระบาดหนักเพราะสายการบินพาณิชย์ไม่ทำงาน และไม่อยากนั่งเครื่องบินร่วมกับคนอื่น ถึงแม้ทริปนั้นจะเป็นแค่ทริปสั้นๆ ข้ามเมืองที่นั่งรถไปได้

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยข้อมูลการบิน Wingx ในปี 2021 มีนักธุรกิจใช้เจ็ตส่วนตัวถึง 3.3 ล้านครั้ง สูงกว่าในปี 2019 ก่อนโควิดระบาดถึง 7% และส่วนหนึ่งก็เพิ่มขึ้นมาจากผู้ซื้อเจ็ตส่วนตัว “หน้าใหม่” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโรคระบาด

รายงานของ Financial Times ยังระบุอีกว่า ในปี 2021 จำนวนเงินที่บริษัทในอเมริกาจ่ายให้ผู้บริหารระดับสูงนั่งเจ็ตส่วนตัวยังเพิ่มขึ้นถึง 35% จากปีก่อนหน้า พุ่งขึ้นไปแตะ 33.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากที่สุดในรอบสิบปี

โดยบริษัทที่จ่ายไปมากที่สุดก็คือ Meta ที่เสียไปถึง 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐให้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท นั่งเจ็ตส่วนตัวไปทำงาน

ถึงแม้คนอาจจะอ้างได้ว่านักธุรกิจจำเป็นต้องใช้เจ็ตส่วนตัวเพื่อความรวดเร็ว และการที่คนรวยจะใช้เงินของตัวเองอย่างไรก็เป็นเรื่อง “ส่วนตัว”

แต่ถ้าดูจากงานวิจัยของ Transport & Environment ที่ระบุว่า 50% ของคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากการบินทั่วโลกมาจากเจ็ตส่วนตัวของคนรวยยอดพีระมิดที่คิดเป็นประชากรเพียง 1% ของโลก ก็น่าคิดว่าการใช้จ่ายแบบที่ส่งผลกระทบต่อคนอีก 99% เป็นเรื่อง “ส่วนตัว” จริงไหม

เพราะหลายคนก็มีสิทธิตั้งคำถามได้ว่า มันยุติธรรมหรือไม่ที่คนส่วนมากของโลกต้องมาร่วมรับกรรม และผลกระทบจากมลพิษจำนวนมากที่ถูกปล่อยออกมา เพื่อความสะดวกสบายชั่วคราวของคนรวยไม่กี่คน

 

ที่มา: Yard, BBC, Financial Times, CNBC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT