ปฏิเสธไม่ได้ว่า การศึกสงครามในทุกครั้งล้วนเป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทางชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้ รวมไปถึงสงครามระหว่าง ‘รัสเซีย’ และ ‘ยูเครน’ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 15,000 คน ทำให้คนยูเครนจำนวนมากต้องพลัดถิ่นเป็นผู้อพยพ และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างไปทั่วโลกจากราคาน้ำมันและพลังงานที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความโหดร้ายของสงครามนั้น ได้ทำให้เกิด “จุดเปลี่ยน” อย่างหนึ่งทางสิ่งแวดล้อมตามมา
องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA เปิดเผยรายงานล่าสุดว่า สงครามครั้งนี้ทำให้หลายๆ ประเทศหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) ในปริมาณและอัตราที่เร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนเหตุการณ์นี้อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ “เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของคนทั่วโลกไปตลอดกาล” เลยก็ได้
โดยในรายงาน World Energy Outlook (WEO) ของปี 2022 IEA ระบุว่า นอกจากมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้นแล้ว หลังเกิดวิกฤติพลังงานขึ้น หลายๆ ประเทศได้ออกแผนเปลี่ยนแปลงแผนการใช้พลังงานของประเทศ และลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานฟอสซิล เพื่อกระจายความเสี่ยงในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นในอนาคต เพราะเห็นจากเหตุการณ์นี้แล้วว่า “การพึ่งพาประเทศส่งออกน้ำมันเพื่อพลังงานในการดำเนินเศรษฐกิจนั้นไม่มีความยั่งยืน”
จากรายงาน แผนการเปลี่ยนแปลงแผนการใช้พลังงานของประเทศในระยะยาวนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ
- สหรัฐอเมริกา กับ ‘US Inflation Reduction Act’
- สหภาพยุโรป กับแพคเกจ ‘Fit for 55’ และ ‘REPowerEU’
- ญี่ปุ่น กับ ‘Green Transformation’
- เกาหลีใต้ที่ออกมาประกาศว่าจะเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียน
- จีน และอินเดีย ที่ประกาศเป้าหมายในการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด
IEA ระบุว่า เมื่อดูมูลค่างบประมาณที่รัฐบาลแต่ละประเทศวางแผนจะลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในแผนงานเหล่านี้แล้ว งบประมาณที่ใช้ลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะเพิ่มไปถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 หรือ ‘เพิ่มขึ้นมากกว่า 50%’ จากงบประมาณที่ทั่วโลกลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็น “ก้าวกระโดดครั้งใหญ่”
นั่นก็เป็นเพราะว่า มันจะทำให้ ปริมาณการใช้พลังงานฟอสซิลทั่วโลกขึ้นไปแตะ ‘จุดพีค’ ในปี 2025 หรือขึ้นไปสู่ระดับการใช้สูงสุด ก่อนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ IEA “ไม่เคยทำได้มาก่อน” เพราะไม่เคยมีครั้งไหนที่รัฐบาลทั่วโลกออกมาประกาศแผนเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศแบบเป็นรูปเป็นร่างพร้อมกันมากเท่านี้
Fatih Birol กรรมการบริหารของ IEA กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลทั่วโลกริเริ่ม “การเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์” เพื่อสร้างระบบการใช้พลังงานที่สะอาด ราคาถูก ปลอดภัย และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
เขากล่าวว่า ถ้ารัฐบาลทุกประเทศทำตามแผนที่วางไว้ได้ ปริมาณการใช้ถ่านหินจะลดลงภายใน 2-3 ปี อุปสงค์การใช้ก๊าซธรรมชาติจะถึงจุดสูงสุดและไม่เพิ่มขึ้นอีกในปลายทศวรรษนี้ และเมื่อนำมาประกอบกับการที่ทั่วโลกกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) นั่นหมายความว่าปริมาณการใช้พลังงานฟอสซิลโดยรวมจะลดลงตั้งแต่ปี 2025 และลดไปเหลือเพียง 60% ของโครงสร้างการใช้พลังงานของโลกภายในปี 2050 จากที่ระดับ 80% ในปี 2021
และที่สำคัญ ยังจะทำให้ปริมาณคาร์บอนที่โลกปล่อยออกมาให้ชั้นบรรยากาศในแต่ละปีค่อยๆ ลดลงจาก 3.7 หมื่นล้านตันต่อปี ลงมาเหลือ 3.2 หมื่นล้านตันต่อปี ภายในปี 2050 อีกด้วย
เปลี่ยนโลกด้วยยาแรง?
จากรายงานของ IEA สาเหตุที่สงครามนี้ทำให้หลายๆ ประเทศออกมาเคลื่อนไหวเพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนขนานใหญ่ได้อย่างที่เหตุการณ์อื่นไม่เคยทำได้มาก่อนเป็นเพราะว่า เหตุการณ์นี้ทำให้หลายๆ ประเทศตระหนักได้จากประสบการณ์ตรงว่าการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและน้ำมันต่อไปนั้น บ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ
จึงนับได้ว่าวิกฤติพลังงานที่กำลังทำให้คนทั่วโลกเผชิญวิบากกรรมกันอยู่ตอนนี้เปรียบเสมือน “ยาแรง” ที่ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบที่การรณรงค์แบบธรรมดาๆ ไม่เคยทำได้
Birol กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามขึ้น ประเทศในยุโรปยังเลือกนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอยู่เพราะราคาถูก ซึ่งทำให้ประเทศในยุโรปไม่สามารถลดปริมาณการใช้พลังงานฟอสซิลได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ในเมื่อตอนนี้เกิดปัญหาขึ้น ประเทศในยุโรปจึงไม่มีทางเลือกอื่นอีกต่อไปนอกจากลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนให้ตัวเองผลิตพลังงานใช้ได้ในประเทศได้อย่างยั่งยืน
พัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อการช่วยโลก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้การรณรงค์ลดการใช้พลังงานฟอสซิลมีความคืบหน้าขึ้นมาบ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้
เพราะในความเป็นจริง โลกต้องการการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่จะโลกจะเป็น ‘Net-Zero’ ได้ภายใน 2050 อย่างที่ตั้งเป้าไว้ เพราะฉะนั้นการลงทุนเพียง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น จึงเท่ากับยังไปได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น
โดยนอกจากหน่วยงานรัฐแล้ว เพื่อให้แผนการลดการใช้พลังงานฟอสซิลและการปล่อยคาร์บอนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกประเทศยังต้องการความร่วมมืออย่างเป็นระบบจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระบบที่เอื้อให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการลงทุนในแบตเตอรี่ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ และ Electrolysers หรือกระบวนการสร้างไฮโดรเจนด้วยพลังงานสะอาด
นอกจากนี้ IEA ยังย้ำอีกว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกประเทศ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาควรเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนไปพร้อมๆ กันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะหากปล่อยให้การพัฒนาด้านนี้เกิดขึ้นเพียงในประเทศพัฒนาแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสองกลุ่มนี้ก็จะถูกถ่างให้กว้างขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัสเซียอาจหันมาส่งออกน้ำมันให้ประเทศในเอเชียแทน
ซึ่งเมื่อเห็นแบบนี้แล้ว ก็เป็นที่น่าจับตาว่าประเทศไทยเองจะมีการเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้นหรือไม่ หรือถ้ามี จะมีอย่างไรเพื่อไม่ให้ตัวเองตกขบวน เพราะถึงแม้ในตอนนี้เรายังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างที่ประเทศยุโรปโดน ในอนาคตประเทศเราก็อาจได้ประสบกับวิกฤติจนเดือดร้อนหนัก จนต้องเร่งเปลี่ยนแปลงบ้างก็ได้
แต่คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ เราจะต้องรอให้ถึงเวลานั้นก่อนหรือจึงได้ฤกษ์ลงมือทำ?
ที่มา: IEA, The Guardian