ความยั่งยืน

'พลาสติกชีวภาพ' ทำจากน้ำตาล ย่อยสลายได้ โอกาสไทยเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร 10 เท่า

18 ส.ค. 66
'พลาสติกชีวภาพ' ทำจากน้ำตาล ย่อยสลายได้ โอกาสไทยเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร 10 เท่า

ในปัจจุบัน กระแสด้านความยั่งยืนและความตระหนักด้านภาวะโลกรวนทำให้คนหันมาใส่ใจใช้สินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นก็รวมไปถึง “พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้” (biodegradable bioplastics) ที่ใช้แล้วย่อยสลายได้ภายในระยะไม่กี่เดือน ไม่เหมือนพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียมทั่วไปที่ใช้เวลาหลายร้อยถึงพันปีในการย่อยสลาย

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะดีต่อโลกแล้ว พลาสติกชนิดนี้อาจเป็นโอกาสใหม่ของนักลงทุน นักธุรกิจ และเกษตรกรชาวไทยด้วย เพราะพลาสติกชีวภาพบางประเภทผลิตมาจากน้ำตาลและแป้งของพืช เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยผลิตและส่งออกได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้มีวัตถุดิบพร้อมนำไปแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกให้กับสินค้าเกษตร

วันนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักพลาสติกชีวภาพกันว่าคืออะไร ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร และมีศักยภาพเติบโตในอนาคตอย่างไรบ้าง

 

พลาสติกชีวภาพคืออะไร แตกต่างจากพลาสติกธรรมดาอย่างไร?

พลาสติกชีวภาพ (bioplastics) คือพลาสติกที่ส่วนใหญ่มีวัตถุดิบในการผลิตพื้นฐานส่วนใหญ่เป็นพืช (biobased) เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีการผลิตหมุนเวียนได้ (renewable) จะไม่เหมือนพลาสติกทั่วไปในยุคแรกที่ทำมาจากปิโตรเลียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ผลิตมาทดแทนไม่ได้ (non-renewable) ทำให้ลดการใช้น้ำมันและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างมหาศาล

วัตถุดิบที่ทำมาจากพืชทำให้พลาสติกชีวภาพบางชนิดมีคุณสมบัติในการย่อยสลายทางชีวภาพ (biodegradable) ได้ แต่ก็ไม่ทุกชนิด เพราะคุณสมบัติในการย่อยสลายของพลาสติกขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางเคมีเป็นหลัก ทำให้ถึงแม้จะผลิตมาจากพืชก็อาจย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้ เช่น พลาสติก polyethylene (PE) , polypropylene (PP) หรือ Polyethylene Terephthalate (PET) 

นอกจากนี้ยังมีพลาสติกบางชนิดที่สามารถย่อยสลายได้ (degradable) แต่ไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์และกลับกลายไปเป็นสารตามธรรมชาติได้ อย่างเช่น oxo-biodegradable plastic ที่สามารถสลายตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ว่าไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ จนสุดท้ายกลายไปเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งในปัจจุบันพบได้ทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อากาศ ร่างกายสัตว์ และร่างกายมนุษย์

นี่ทำให้เมื่อพูดถึงพลาสติกชีวภาพเราจึงต้องระวัง เพราะว่าพลาสติกชีวภาพทุกชนิดไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป และเราควรมองหาพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้ (biodegradable bioplastics) ตัวอย่างเช่น พลาสติก poly(lactic acid) (PLA) ,Polyhydroxyalkanoates (PHA), Poly(butylene succinate) (PBS) ซึ่งผลิตมาจากพืชและสามารถย่อยสลายกลับไปเป็นสารอินทรีย์ได้อย่างแท้จริง

 

อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพดีต่อไทยอย่างไร?

วิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) เปิดเผยว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการผลิตพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เพราะเป็นแหล่งเพาะปลูกและส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญต่อการผลิตพลาสติกชีวภาพอย่าง อ้อย และมันสำปะหลัง ที่สามารถนำน้ำตาลมาแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ ได้ 

โดยหากภาครัฐให้ความสนใจ ใช้ความได้เปรียบจากการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบมาส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำ ที่เป็นการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ รวมถึงปลายน้ำ ที่เป็นการใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกในกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย พลาสติกชีวภาพจะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความสำเร็จกับภาคเกษตรกรรมทั้งในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และสามารถสร้างรายได้ และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรได้เป็นจำนวนมาก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘น้ำตาล’ ที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลกรองจากบราซิล และอินเดีย ซึ่งปัจจุบันส่งออกในราคาที่ไม่สูงนัก คือประมาณ 10-11 บาท แต่ถ้าหากแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพราคาจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 เท่า หรือประมาณ 100 บาท/ กิโลกรัม 

โดยจากข้อมูลของ Grandview Intelligence ในปี 2022 ตลาดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติมีมูลค่าสูงถึง 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6 แสนล้านบาท และจะมีอัตราการเติบโตรายปีถึง 9.7% ระหว่างปี 2023-2030 เพราะหลายรัฐบาลเริ่มออกมาแบนการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ และคนเริ่มตระหนักเรื่องผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ตลาดนี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมากในอนาคต ซึ่งไทยควรจะคว้าโอกาสนี้ไว้

 

ปัจจุบันไทยผลิตพลาสติกชีวภาพได้เท่าไหร่?

จากข้อมูลของนายวิบูลย์ ปัจจุบันไทยสามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติสำหรับใช้เองและส่งออกได้ 2 ประเภท คือ พลาสติก poly(lactic acid) (PLA) และ Poly(butylene succinate) (PBS) กำลังการผลิตรวม 100,000 ตันต่อปี จากผู้ผลิต 2 ราย

รายแรกคือบริษัท TotalEnergies Corbion ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตพลาสติก poly(lactic acid) (PLA) อยู่ที่จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากกำลังการผลิตในสหรัฐฯ โดยพลาสติกชนิดนี้ทำมาจากน้ำตาลอ้อยนำไปหมักกับกรดแลคติก 

รายที่ 2 คือ PTT MCC Biochem Company Limited (PTTMCC) ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของ  PTT Global Chemical (GC) และ Mitsubishi Chemical Corporation ปัจจุบันมีโรงงานผลิต Poly(butylene succinate) (PBS) หรือที่ PTTMCC เรียกว่า BioPBS อยู่ที่ระยอง กำลังการผลิต 25,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา GC ยังได้ประกาศร่วมทุนกับ Cargill Incorporated (Cargill) เพื่อสร้างโรงงานผลิต PLA อีกแห่งในจังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้บริษัท NatureWorks LLC (NatureWorks) ซึ่งจะมีกำลังผลิต 75,000 ตันต่อปี ทำให้ไทยจะมีกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพทั้งหมด 175,000 ตันต่อปีในอนาคต

 

ไทยมีโอกาสเป็นที่หนึ่งด้านพลาสติกชีวภาพได้ไหม?

นายวิบูลย์กล่าวว่า ถึงแม้ไทยจะมีศักยภาพในแง่ที่มีวัตถุดิบพร้อมในการผลิต ด้านกำลังการผลิตอาจสู้ประเทศอย่างจีนที่กำลังตีตื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็วไม่ได้ เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายในการแบนการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งหรือ ‘ซิงเกิลยูส’ อย่างจริงจังใน 5 เมืองหลัก ทำให้กำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนผลิตได้ประมาณ 100,000 ตันต่อปี

ทำให้หลังจากจีนประกาศแบนพลาสติกทั่วประเทศ กำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพของจีนจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า เพราะผู้ผลิตเห็นว่ามีตลาดที่กำลังเติบโต จนแย่งเข้าไปลงทุน และแน่นอนว่าจะเพิ่มแซงไทยในอีกไม่ช้า จากสเกลตลาดที่ใหญ่กว่าหลายเท่า

ดังนั้น นายวิบูลย์มองว่า ไทยอาจไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งด้านการผลิตพลาสติกชีวภาพได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่ควรสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ เพราะมันมีศักยภาพจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญมากของไทยในอนาคต รวมไปถึงเป็นหนึ่งในธุรกิจตามหลัก bcg หรือ bio-circular-green economy ที่ทั่วโลกกำลังพยายามผลักดันอยู่ 

ทั้งนี้ หากใครสนใจหาความรู้เพิ่มเติมหรือสนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ สามารถศึกษาหาข้อมูลและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญได้ที่งานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง หรือ International Trade Fair for the Plastics and Rubber Industries : T-PLAS 2023 ที่จะจัดขึ้นช่วงวันที่ 20 – 23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 

โดยภายในงานมีการนำเสนอโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมครอบคลุมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อัปเดทล่าสุด พร้อมทั้งวัตถุดิบต่างๆ ชิ้นส่วนทางเทคนิค ไปจนถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการจากทั้งอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยาง เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและยางของไทยให้เติบโตในระดับนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมุ่งนำเสนอมุมมองเศรษฐกิจหมุนเวียนในมิติของพลาสติกและยางที่กำลังเติบโต พร้อมทั้งยังตั้งเป้าหมายสร้างการจับคู่ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในไทยตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการจัดตั้งอุตสาหกรรมของรัฐบาล ผู้สนใจสามารถติดตามการจัดงานงาน T-PLAS 2023 ได้ที่ https://www.tplas.com/

 

อ้างอิง: SciMath, Grandview Research, PTTGC, TotalEnergies Corbion  

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT