Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ฝุน PM2.5 กระทบศก.ไทย มูลค่าความสูญเสีย 6%/GDP แนะไทยเก็บภาษีคาร์บอน
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ฝุน PM2.5 กระทบศก.ไทย มูลค่าความสูญเสีย 6%/GDP แนะไทยเก็บภาษีคาร์บอน

22 ธ.ค. 66
13:25 น.
|
633
แชร์

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  ได้รายงานการติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยฉบับเดือนธันวาคม 2566 ของธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 6% ของ GDP จากผลกระทบของวิกฤตฝุ่นควัน PM2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมให้คำแนะนำว่า ไทยควรใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่นับวันจะรุนแรงหนักมากขึ้นทุกปี กำลังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย ข้อมูลจากนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. พบว่า ภาคบริการที่ครอบคลุมธุรกิจหมวดใหญ่ ๆ ถึง 15 สาขา เช่น กิจกรรมการค้าส่ง-ค้าปลีก กิจกรรมการขนส่งและจัดเก็บสินค้า หรือธุรกิจโลจิสติกส์ที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งผู้โดยสาร  ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งสิ้นเพราะมีการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่อากาศปิด เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีการจราจรหนาแน่น

ทั้งนี้สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) ถึงกว่า 8.19 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 4.02 หมื่นราย มีการจ้างงานกว่า 6.49 แสนคน ขณะที่ภาพรวมของภาคบริการเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของไทย โดยในปี 2565 ภาคบริการมีสัดส่วนสูงถึง 58.71% ของ GDP ไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 10.2 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการมากถึงกว่า 2.6 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 12.8 ล้านคน 

วิกฤต PM 2.5

ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนไทย ควรหันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนภาคบริการไปสู่ธุรกิจบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเน้นที่การใช้มาตรการเชิงส่งเสริมสนับสนุน เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค สามารถเลือกใช้สินค้าและบริการที่ปลดปล่อยฝุ่นควันลดลง โดยให้กระทบต่อภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด อาทิ

  1. สนับสนุนธุรกิจในสาขากิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ ให้เกิดการวิจัยและพัฒนาให้ได้เทคโนโลยีทดแทนการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่ง ซึ่งมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดผลกำไรสูงขึ้น โดยลดความซับซ้อนยุ่งยากในการปฏิบัติและต้นทุนลง เพื่อให้เกษตรกรทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านนำไปใช้ได้อย่างแท้จริงและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  2. สนับสนุนธุรกิจในสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสาร ให้ใช้ยานยนต์พลังงานทางเลือกที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจน ตลอดจนเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้งานยานยนต์พลังงานทางเลือกเหล่านั้น

  3. สนับสนุนธุรกิจในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ให้มีระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ ให้ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ปลดปล่อยฝุ่นควัน ตลอดจนคาร์บอนในระดับต่ำได้ รวมถึงยังเป็นข้อมูลที่จะมีความสำคัญยิ่งขึ้นในการค้าระหว่างประเทศ

  4. สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลและบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอัตราการปลดปล่อยฝุ่นควัน PM2.5 และคาร์บอน

  5. สนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นเพื่อให้ธุรกิจของตนสามารถลดการปลดปล่อยฝุ่นควัน PM2.5 และคาร์บอนได้

  6. สนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการบริการและด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน รวมถึงสามารถเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความต้องการมายังภาครัฐได้อย่างมีพลัง

  7. สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้พิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น เช่น การจ้างบริการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนพิจารณาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการที่หน่วยงานใช้ ให้ลดอัตราการปลดปล่อยฝุ่นควัน PM2.5 และคาร์บอน

  8. ดำเนินนโยบายร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน

ธุรกิจบริการ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤตฝุ่นควัน ซึ่งภาคบริการ รวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ ล้วนแต่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้ ผ่านการบริหารจัดการการผลิต และห่วงโซ่อุปทานของตน ทั้งนี้ ภาคธุรกิจและผู้บริโภค อาจจำเป็นจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงาน และการดำเนินชีวิต รวมถึงอาจมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องบางส่วนสูงขึ้นกว่าปัจจุบันบ้าง แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อสุขภาพ และอนาคต ซึ่งภาครัฐ ก็เป็นอีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตนี้ ผ่านการสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนในการปรับตัวอย่างเหมาะสม

แชร์

ฝุน PM2.5 กระทบศก.ไทย มูลค่าความสูญเสีย 6%/GDP แนะไทยเก็บภาษีคาร์บอน