ความยั่งยืน

พายุฝนถล่มดูไบ-โอมาน หนักสุดในรอบ 75 ปี ฝนตก 1 วันเท่าปริมาณฝนกว่า 2 ปี

18 เม.ย. 67
พายุฝนถล่มดูไบ-โอมาน  หนักสุดในรอบ 75 ปี ฝนตก 1 วันเท่าปริมาณฝนกว่า 2 ปี

อากาศโลกวิปริตหนัก พายุฝนถล่มเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศโอมาน เพียงแค่ 1 วันฝนตกเท่าปริมาณน้ำฝนกว่า 2 ปี ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงเฉียบพลัน ประชาชนต้องทิ้งรถ ข้าวของเสียหาย เครื่องบินหยุดบิน

ในวันที่ 16-17 เมษายนที่ผ่านมา เกิดเหตุประหลาดขึ้นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน ที่กำลังประสบกับพายุฝนกระหน่ำเฉียบพลัน จนเกิดน้ำท่วมสูงในเมืองใหญ่ เกิดภาพประชาชนทิ้งรถจักรยานยนต์ และรถหรูไว้กลางถนนเพราะไม่สามารถสัญจรได้ ขณะที่สนามบินดูไบต้องงดการบินทุกเที่ยวบินเพราะรันเวย์น้ำท่วมจนไม่สามารถใช้งานได้

afp__20240417__34pn939__v1__h

เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 20 คน 18 คนเป็นประชาชนในโอมาน และสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ เช่น รถยนต์ ร้านค้า และที่อยู่อาศัยอย่างมหาศาล เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่มีใครสามารถตั้งรับทันได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างทันทีแล้ว สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง เพราะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมานเป็นประเทศตะวันออกกลางที่สภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้ปกติแล้วจะมีปริมาณน้ำฝนต่อปีไม่มาก 

จากการรายงานของสื่อต่างประเทศ ในช่วง 24 ชั่วโมงระหว่างวันที่ 16 ถึง 17 เมษายน “ดูไบ” ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องเจอปริมาณน้ำฝนถึง 6.26 นิ้ว ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำฝนกว่า 2 ปีของเมือง เพราะจากข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของดูไบอยู่ที่เพียง 3.12 นิ้วต่อปีเท่านั้น 

2024-04-17t173043z_1_lov59251_1

นอกจากนี้ บางพื้นที่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังต้องเจอปริมาณน้ำฝนสูงถึง 10 นิ้ว ทำให้รวมแล้วพายุฝนในครั้งนี้ ทำให้เกิดประมาณน้ำฝนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 75 ปี 

นี่ทำให้พายุฝนนี้เป็นเหตุการณ์ที่ผิดธรรมชาติอย่างร้ายแรง นำไปสู่คำถามสำคัญว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภัยพิบัติครั้งนี้ และประเทศเหล่านี้มีสิทธิที่จะต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกหรือไม่

นักวิทยาศาสตร์คาดเพราะโลกร้อน ไม่ใช่ฝนเทียม

ในเบื้องต้น มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนคาดว่าพายุฝนนี้เกิดขึ้นจากความพยายามทำฝนเทียม (Cloud Seeding) เพราะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความพยายามทำฝนเทียมมาตั้งแต่ปี 2002 เพื่อแก้ไขปัญหาแล้งภายในพื้นที่ และการขาดแคลนน้ำภายในพื้นที่ ซึ่งทำได้โดยการใช้ผงสารขนาดเล็กระดับผลึกน้ำแข็ง เช่น Silver Iodide, Potassium Iodide และน้ำแข็งแห้ง (Solid Carbondioxide) โปรยเหนือเมฆเพื่อเร่งให้โมเลกุลน้ำเกิดการควบแน่น และตกลงมาเป็นฝน

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วม The National Center for Meteorology (NCM) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการทำฝนเทียมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า NCM ไม่ได้ออกไปปฏิบัติการทำฝนเทียมก่อนที่พายุจะเข้า

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเช่น Maarten Ambaum ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์บรรยากาศจาก University of Reading ยังออกมายืนยันว่า การทำฝนเทียมไม่สามารถทำให้เกิดพายุฝนหนักขนาดนี้ได้ เพราะเทคนิคทำฝนเทียมนิยมใช้กับเมฆที่เกิดฝนเองไม่ได้ ทำให้การกระตุ้นในลักษณะนี้ให้ควบแน่นและเกิดฝน ไม่ควรทำให้เกิดพายุฝนรุนแรงขนาดนี้

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นผลกระทบโดยตรงจาก “ภาวะโลกร้อน” และก๊าซเรือนกระจก ที่มีการศึกษายืนยันแล้วว่าจะทำให้เกิดภัยพิบัติที่เฉียบพลันและรุนแรงมากขึ้นในโลก รวมไปถึงเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ที่ปกติค่อนข้างแห้งแล้ง เพราะว่าอากาศที่อุ่นขึ้นสามารถทำให้พื้นที่เหล่านี้มีความชื้นในอากาศมากขึ้น ทำให้เมื่ออยู่ในภาวะเหมาะก็จะทำให้เกิดพายุฝนเฉียบพลันและน้ำท่วม

2024-04-17t173043z_1_lov59251

จากการศึกษาปี 2022 ที่ตีพิมพ์ใน Review of Geophysics ภาวะโลกร้อนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำให้หลายๆ พื้นที่ในโลก รวมไปถึงพื้นที่แล้งและกึ่งแล้งมีน้ำฝนเพิ่มขึ้น 5-10% ภายในปลายศตวรรษที่ 21 หรือปี 2100 หากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ในระดับเดียวแบบในปัจจุบัน

จากความเห็นของ Esraa Alnaqbi นักพยากรณ์อากาศอาวุโสที่ NCM เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะภาวะความกดอากาศต่ำในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการที่มวลของอากาศได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์จนยกตัวสูงขึ้นทำให้ความกดอากาศบริเวณนั้นมีค่าลดลง ดันให้มวลอากาศเจอความเย็นด้านบนเกิดเป็นเมฆและฝน ทำให้เมื่ออากาศร้อนและมีความชื้นในอากาศมากขึ้น ก็ไม่แปลกที่จะมีฝนตกหนักและน้ำท่วมตามมา

ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงมีโอกาสสูงที่จะเป็นอีกภัยพิบัติหนึ่งที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้โลกอุ่นขึ้น และเป็ยผลกระทบที่เป็นรูปธรรมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่หากทั่วโลกไม่พร้อมใจช่วยกันลดแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดภัยพิบัติที่ไม่คาดคิดในพื้นที่อื่นอีก รวมไปถึงประเทศไทยด้วย

 

 

อ้างอิง: The Guardian, Bloomberg, ABC News

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT