ภาพบรรยากาศพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันของ3 องค์กร ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในการ “ประกาศเจตนารมณ์ร่วมสืบสานเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสมดุลยั่งยืน ”
โดยมีผู้บริหารสูงสุงของทั้ง 3 องค์กรลงนามร่วมกัน ได้แก่ คุณ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด คุณ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และคุณ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
โดยก่อนพิธีลงนาม ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ หลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ใจความว่า
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมี ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน
และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างหวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ยังได้พูดถึงแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเลขที่ มอก.9999 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 ว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร และองค์กรให้มีการบริหารจัดการและการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยังยืน และมีความสุข
ตลอดจนมีภูมิคุ้มกันที่ดีพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สภาพแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอก ในด้านต่างๆ ได้แก่ สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎระเบียบ ที่มีการ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและผันผวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อ ภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้