กระแส AI ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องและเชื่อว่าในปี 2024 ที่จะถึงนี้เราคงได้เห็นความฉลาดล้ำของ Generative AI มากขึ้น ล่าสุด อะโดบี ได้นำผลการสำรวจที่จัดทำโดย Advanis วิเคราะห์ข้อมูลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า แบรนด์ไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการใช้ Generative AI สำหรับผู้บริโภคและพนักงาน แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล ที่แบรนด์จะต้องตระหนัก เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจะให้ความเชื่อมั่น
องค์กรธุรกิจในไทยพยายามที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการปรับใช้โซลูชั่นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 62%
มีการนำเอา Generative AI มาใช้ 61% เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่า มีเพียง 64% ของแบรนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน และ 56% กำลังปรับใช้ Generative AI
มีผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเพียง 54% บอกว่าบริษัทที่พวกเขาทำงานให้ในปัจจุบันกำลังใช้เครื่องมือ Generative AI โดยพนักงาน (57%) ใช้โปรแกรม text-to-image ในการจัดทำสื่อและคอนเทนต์สำหรับการส่งเสริมการขายของแบรนด์ ขณะที่ 52% ใช้สำหรับพัฒนาแนวคิดและตัวอย่างแคมเปญต่าง ๆ นอกจากนี้ พนักงานราวครึ่งหนึ่ง 50% ใช้เครื่องมือดังกล่าวสำหรับการสร้าง copywriting รวมถึงการศึกษาวิจัยและการกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึก
แบรนด์ต่าง ๆ ไม่ได้ ให้ความสำคัญต่อปัจจัยที่กระตุ้นความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งได้แก่ “ความปลอดภัยของข้อมูล ความยั่งยืน และความสะดวกในการเข้าถึงสินค้า”
ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย ราว 1 ใน 3 หรือ 33% ของผู้บริโภคชาวไทยมีแนวโน้มที่ยังคงภักดีต่อแบรนด์ที่พวกเขาไว้วางใจ และราวครึ่งหนึ่ง (49%) มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้น
ผู้บริโภคในไทยรู้สึกตื่นเต้นกับการที่ Generative AI ช่วยปรับปรุงสินค้าและบริการ 46% และประสบการณ์ของลูกค้า 48% และประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคชาวไทย 28% เชื่อว่าการใช้ประโยชน์จาก Generative AI เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับ 35% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไซม่อน เดล รองประธานบริหาร และกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลีของอะโดบี กล่าวว่า “พนักงานส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เครื่องมือ Generative AI ในการทำงาน สิ่งนี้ตอกย้ำความจำเป็นที่องค์กรต้องดำเนินการเชิงรุกและมีนโยบายที่ควบคุมการใช้ AI รวมทั้งความสามารถในการจัดการและควบคุมศักยภาพของเทคโนโลยี AI ในที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่เทคโนโลยี Generative AI ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การที่เรายังไม่มีมาตรการป้องกันที่แข็งแกร่งและหลักจริยธรรมสำหรับ AI อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อองค์กร และอาจทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค”
แบรนด์ไทยควรให้ความสำคัญกับปัจจัยหลักที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นและการใช้จ่าย ซึ่งได้แก่ “ความปลอดภัยของข้อมูล ความยั่งยืน และความสะดวกในการเข้าถึงสินค้า”
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งในการสร้างความไว้วางใจของผู้บริโภคก็คือ “ความปลอดภัยของข้อมูล และการใช้งานข้อมูลอย่างเหมาะสม” ส่วนอันดับรองลงมาคือ การจัดหาสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนและโลกของเรา โดยจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างมีความรับผิดชอบไปพร้อมๆ กัน ปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะช่วยให้ลูกค้าเพิ่มงบในการใช้จ่ายกับแบรนด์
ในทางกลับกัน ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ (81%) กล่าวว่าพวกเขาจะลดการใช้จ่ายกับแบรนด์ที่ไม่มีการปกป้องข้อมูลให้ปลอดภัยและไม่เคารพความเป็นส่วนตัว และเกือบครึ่งหนึ่ง (37%) ปฏิเสธที่จะใช้จ่ายกับแบรนด์นั้น ๆ อย่างสิ้นเชิง ประสบการณ์การเข้าถึงที่ไม่สะดวกและไม่เอื้อต่อความต้องการของผู้พิการจะทำให้ผู้บริโภคราว 76% ใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่ 78% จะลดการใช้จ่ายหากแบรนด์นั้น ๆ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับความยั่งยืน
แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวเลือกการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ 46% ของแบรนด์ในเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ไม่เห็นว่าความปลอดภัยของข้อมูลมีความสำคัญต่อการดึงดูดและรักษาลูกค้าไว้ สำหรับสินค้าและบริการที่เข้าถึงได้อย่างสะดวกและมีความยั่งยืน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 51% และ 54% ตามลำดับ
ไซม่อน เดล กล่าวเพิ่มว่า “ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงวิธีการที่แบรนด์ต่าง ๆ นำเสนอเรื่องความยั่งยืนและความสะดวกในการเข้าถึงสินค้า ด้วยเหตุนี้ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แบรนด์ต่าง ๆ จะต้องแสดงให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยเพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะช่วยดึงดูดลูกค้าแล้ว ยังช่วยปกป้องข้อมูลของผู้บริโภคให้ปลอดภัยอีกด้วย”
สำหรับผลการศึกษาวิจัยนี้ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์ของผู้บริโภคกว่า 16,113 คน และบุคลากรฝ่ายการตลาดและประสบการณ์ลูกค้า 4,250 คนทั่วโลก เริ่มดำเนินการภาคสนามในเดือนพฤษภาคม 2566 ข้อมูลวิเคราะห์สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่างของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นผู้บริโภค 1,005 คน และบุคลากรฝ่ายการตลาดและประสบการณ์ลูกค้า 676 คนในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์