Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
‘ไม่ปรับตัวก็ไม่มีที่ยืน’  3 กูรูเปิดแนวทางฝ่าคลื่น AI ทำอย่างไรให้เติบโตในยุค Deep Tech
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

‘ไม่ปรับตัวก็ไม่มีที่ยืน’ 3 กูรูเปิดแนวทางฝ่าคลื่น AI ทำอย่างไรให้เติบโตในยุค Deep Tech

21 มี.ค. 67
14:15 น.
|
1.1K
แชร์

ปัจจุบัน วิถีชีวิตและพฤติกรรมการทำงานของมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เหมือนจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดดในตอนนี้ จากการเข้ามาของ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI ที่มีความสามารถสูงขึ้นจนผลิตทั้งงานเขียน งานภาพ และงานวีดีโอออกมาได้รวดเร็วเหนือมุษย์

Deep Tech (Deep Technology) หรือเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI, Blockchain และ Robotics นำมาทั้งประโยชน์และความท้าทายสำหรับมนุษยชาติ เพราะแม้มันจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้มนุษย์ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนในการเรียนรู้ ทำให้คนที่มีข้อจำกัด อาจจะตามไม่ทัน และถูกสิ่งเหล่านี้แย่งงานไป

ในบทความนี้ เราจึงอยากชวนผู้อ่านมาดูวิธีปรับตัวและเอาตัวรอดในยุคของเทคโนโลยีกัน จากแนวคิดของ 3 กูรูด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ได้แก่ คุณ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, คุณ ปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด และ และ ดร.สันติธาร  เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ร่วมเสวนาภายในงาน ประชาชาติ BUSINESS FORUM 2024 ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567

 

คลื่นเทคโนโลยีใหม่ที่มาท้าทาย ‘สติปัญญา’ ของมนุษย์

คุณ ปริชญ์ กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามนุษยชาติผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมากมาย ทั้งการใช้ไอน้ำ หรือไฟฟ้า แต่การเข้ามา  AI และ Deep Tech แตกต่างจากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งก่อนๆ หน้าในแง่ที่ Deep Tech เป็นคลื่นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบอย่างรุนแรง และมีผลต่อเนื่องไปในอนาคต เพราะในขณะที่มนุษย์ในอดีตต้องใช้เวลานานหลายปีเพื่อปรับตัวให้คุ้นชินกับการใช้ไฟฟ้า มนุษย์เราสามารถนำ Deep Tech และ AI มาใช้ได้อย่างรวดเร็วจนมีผู้ใช้หลายล้านรายในเวลาไม่กี่วัน

นอกจากนี้ ขณะที่เทคโนโลยีในยุคก่อนหน้าถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยเสริมสมรรถภาพของมนุษย์ AI และ Deep Tech อื่นๆ เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาท้าทายสติปัญญาของมนุษย์โดยตรง ทำให้หากมนุษย์ไม่สามารถปรับตัว เสริมทักษะของตัวเองให้เหนือปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว มนุษย์ก็เสี่ยงที่จะถูกเทคโนโลยีเหล่านี้แทนที่

แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ คุณ จิรายุส ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในตอนนี้คือ Fourth Industrial Revolution หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ที่ Deep Tech เข้ามาทำให้เกิดธุรกิจและการทำงานในรูปแบบใหม่มากมาย ที่ทุกคนต้องพยายามตามให้ทัน และใช้ประโยชน์จากมันให้ได้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใน 2 ระดับ คือ

  • ระดับปัจเจก คือการที่คนต้องพยายามพัฒนาทักษะของตัวเองให้เท่าทันเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ 
  • ระดับโครงสร้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องให้เงินทุน อุปกรณ์ และช่องทางเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีแก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า ไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

ต้องปรับตัวให้คลื่นพาไปข้างหน้า บ่มฝังการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในยุคที่ประเทศมหาอำนาจต่างๆ เช่น จีน และสหรัฐฯ กำลังแข่งขันกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมากันไม่หยุดหย่อน จนกลายเป็นคลื่นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ดร.สันติธาร มองว่าแม้ไทยอาจจะไม่มีศักยภาพพอในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เองได้ คนไทยสามารถปรับตัว “ขี่คลื่น” ให้มันพาเราไปข้างหน้าได้ ด้วยการพัฒนาความสามารถของตัวเองในการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับการทำงาน

ดังนั้น สิ่งที่คนไทยควรทำในยุคนี้คือการพยายามเปิดใจ ไม่พยายามฝืนกระแสคลื่น แล้วพยายามหาเวลาเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้เทคโนโลยีต่างๆ ส่งเสริมให้เราทำงานได้ดีขึ้น ไม่ใช่มาแทนเรา อย่างเช่น 

  • การใช้ AI หรือ Copilot ในโปรแกรมต่างๆ ช่วยทำงาน เช่น AI ใน Microsoft Office, Google 
  • การใช้ Cloud และซอฟต์แวร์จัดระเบียบข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์เรียนรู้ต่อ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีทำการทำธุรกิจได้หลายรูปแบบ
  • การนำเทคโนโลยี Robotics และ Biotech ต่างๆ ไปปรับใช่ในการทำเกษตรกรรมให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ คนไทยบางส่วนก็ยังไม่มีเวลาหรือว่าเงินทุนในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ มีกำลังทุนและกำลังคนมหาศาลในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการทำธุรกิจ ทำให้ในอนาคตอาจเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นมากขึ้น คนรวยรวยขึ้น ขณะที่คนจนจนลง เกิดภาวะ Winners Take All หรือคนรวยกินรวบทั้งหมด

ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหานี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องสนับสนุนให้คนจากทุกภาคส่วนและชนชั้นเข้าถึงการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม รวมไปถึงปรับระบบการศึกษาให้มีหลักสูตรที่ทันสมัย และเอื้อให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ได้ดีมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงท่องจำซึ่งไม่ก่อให้เปิดการคิดนอกกรอบและนวัตกรรมใหม่ๆ

รัฐบาลต้องสนับสนุนการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม ดึงคนเก่งมาทำงานไทย

ในการเสวนา คุณ ปริชญ์ และ คุณ จิรายุส มองว่า เพื่อให้คนไทยปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และเข้าถึงการศึกษาด้านเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้อง

  1. สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้พร้อม เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ควรจะเข้าถึงได้ทุกที่ และมีสถานะเป็น Public Goods ที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่มี Barrier of Entry
  2. สร้างแพลตฟอร์มเปิดสำหรับการเรียนรู้แก่คนทั่วไป เพราะปัจจุบันทุกคนในช่วงอายุต้องเรียนรู้อยู่เสมอ และการเรียนสี่ปีในมหาวิทยาลัยนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
  3. ทำให้การลงทุนและการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติเป็นไปได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งด้วยการปรับเปลี่ยนกฎการลงทุนและวีซ่า เพราะถ้าหากมีคนต่างชาติเก่งๆ เข้ามาทำงานกับคนไทยในไทย คนเหล่านี้จะส่งต่อความรู้ให้แก่แรงงานไทยได้
  4. สร้างอธิปไตยของ AI ในไทย เพราะในบางครั้งข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนใส่ AI เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้ต้องมีกลไกควบคุมเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ได้

คุณ จิรายุส กล่าวว่า การพัฒนาคนก็เป็นเหมือนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สอดคล้องไปกับความก้าวหน้าของเครื่องมือทั้งในรูปแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพราะว่าถึงมีเครื่องมือล้ำๆ ออกมาให้ใช้มากมาย หากคนไทยส่วนมากใช้เครื่องมือเหล่านี้ไม่เป็นก็ไม่เป็นประโยชน์ และแน่นอนว่าการที่จะพัฒนากำลังคนขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย ไม่ใช่ให้ประชาชนขวนขวายเอาเองเพียงอย่างเดียว

 

 

 

 

แชร์
‘ไม่ปรับตัวก็ไม่มีที่ยืน’  3 กูรูเปิดแนวทางฝ่าคลื่น AI ทำอย่างไรให้เติบโตในยุค Deep Tech