เมื่อพูดถึงแบรนด์คู่แข่ง 'Apple-Samsung' คงเป็นหนึ่งคู่ที่หลายคนรู้จักและนึกถึง เนื่องจากทั้งคู่เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนยอดนิยมที่เปิดตัวมาอย่างยาวนาน และแข่งขันแย่งชิงพื้นที่ตลาดอย่างดุเดือดมายาวนาน ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน การพัฒนาไลน์สินค้า การทำการตลาด การบริการหลังการขาย และอื่นๆ อีกมากมาย
โดยเฉพาะเมื่อ Apple เปิดตัวสินค้าใหม่ หรือมีการทำแคมเปญโฆษณา สิ่งที่มักจะตามมาก็คือ การโดน 'แซะ' และ 'ล้อเลียน' โดย Samsung ผ่านการทำโฆษณา โพสเตอร์ และเขียนวิจารณ์บนโลกออนไลน์ ซึ่ง Samsung ไม่ได้เพียงแค่แซะ Apple เท่านั้น เพราะทุกครั้ง Samsung จะต้องพ่วงด้วยการไทอินสินค้าของตน หรือนำสินค้าที่ใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบ
โดยได้สร้างเสียงฮือฮาในหลายครั้ง และทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเป็นที่สนใจในหมู่นักวิเคราะห์และอาจารย์ครูผู้สอนวิชาการตลาดเป็นอย่างมาก จนถูกนำไปใช้สอนเป็นเคสตัวอย่างในหลายครั้ง
ในสังคมออนไลน์ถึงขั้นบอกว่า นี่ไม่ใช่ Samsung แต่เขาคือ 'ซาแซง' เพราะ Samsung มักคอยติดตามทุกฝีก้าวของ Apple โดยเฉพาะเมื่อ Apple ทำอะไรพลาดหรือโดนทัวร์ลง
อย่างล่าสุดที่ Apple โดนทัวร์ลงจากโฆษณา ‘Crush’ ที่สื่อถึงความบางของ iPad Pro รุ่นล่าสุด แต่กลับโดนวิจารณ์ว่า Apple กำลังทําลายความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์แทน ซึ่ง Samsung ก็ไม่รอช้าที่จะขยี้ Apple ด้วยการปล่อยโฆษณา ‘Uncrush’ ที่มีการโปรโมท Galaxy Tab S9 และพลังของ Galaxy AI ปิดท้าย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะนับตั้งแต่ Steve Jobs ผู้ก่อตั้งร่วม Apple เสียชีวิตลง Samsung ก็เริ่มแซะ Apple ในทุกช่องทาง โดยเฉพาะเมื่อ Apple เปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ เรียกได้ว่า กัดไม่(เคย)ปล่อย จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว
SPOTLIGHT พาทุกคนย้อนไปดูไทม์ไลน์การจิกกัดของ Samsung ที่มีต่อ Apple ไว้ในบทความนี้
รายละเอียดคอนเทนต์การ 'แซะ' iPhone โดย Samsung
ว่าแต่ Apple เพราะ Samsung ก็เป็นเอง
อย่างไรก็ตาม บางฟีเจอร์ที่ Samsung เคยล้อเลียน Apple นั้น ปรากฎให้เห็นใน Galaxy รุ่นหลังๆ เช่น การเอาแจ็ค 3.5 มม. ออก การไม่มีหัวชาร์จอะแดปเตอร์แถมมาให้กับโทรศัพท์เครื่องใหม่ ทำให้ช่วงหลังที่ Samsung ออกมาแซะ Apple เสียงตอบรับไม่ได้ฮือฮาหรือไปในทิศทางที่บวกเหมือนเมื่อก่อน บางคนถึงขั้นบอกว่า 'ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง'
เหมือนกับโฆษณา Uncrush ล่าสุดที่มีการล้อเลียน iPad Pro รุ่นล่าสุด ก็มีชาวเน็ตบางกลุ่มี่ไม่เห็นด้วย และมองว่า Samsung ก็ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน เพราะชอบลอกเลียนแบบ หรือจิกกัด Apple อยู่ตลอดเวลา ควรสร้างสรรค์ด้วยตัวเองได้แล้ว
ซึ่งนั้นไม่ได้ทำให้ Samsung ล้มเลิกการล้อเลียน Apple แน่นอน ถึงแม้จะมีการขึ้นชั้นศาลในหลายครั้งก็ตาม เหมือนกับที่ทนายความของ Samsung กล่าวว่า “มันทำให้ Apple คลั่งไม่ใช่น้อย”
การทุ่มงบโฆษณาที่ไม่อั้นของ Samsung
ถึงแม้ความนิยมของการจิกกัดเริ่มลดลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมา Samsung กอบโกยพื้นที่สื่อไปพอสมควรจากการล้อเลียน Apple เช่น The Wall Street Journal ในปี 2023 ถึงขั้นเขียนบทความ Has Apple Lost Its Cool to Samsung?
ในปี 2012 Samsung มีการใช้จ่ายด้านโฆษณาสูงมาก เรียกได้ว่ามากกว่าแบรนด์อย่างโคคา-โคล่า และไมโครซอฟท์ ด้วยงบโฆษณามูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอัดฉีดเงินเพิ่มอีก 5,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับการตลาดอื่นๆ ผ่านการส่งเสริมการขาย ทำให้ Galaxy S III กลายเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่ขายดีที่สุดในโลกในไตรมาสที่ 3/2012 แซงหน้ายอดขาย iPhone ของ Apple เป็นครั้งแรก และกลุ่มสมาร์ทโฟน Galaxy ขายดีกว่ากลุ่ม iPhone เป็นเวลาสี่ไตรมาสติดต่อกันในปี 2012
ทำให้ Samsung กลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ในปี 2013 ด้วยยอดขายเกือบ 300 ล้านเครื่อง คิดเป็น 31% ของส่วนแบ่งตลาด โดย Samsung ใช้เงินเกือบ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในด้านการตลาด มูลค่าสูงกว่าที่ Google ซื้อกิจการ Motorola ทั้งหมด และมูลค่าตลาดของ HTC ถึงสามเท่าในขณะนั้น
ส่วนตอนนี้ ตามรายงานของ Global Monthly Handset Model Sales Tracker ของ Counterpoint Research ในไตรมาสที่ 1/2024 iPhone 15 Pro Max ของ Apple เป็นสมาร์ทโฟนที่ขายดีที่สุดในไตรมาส โดย iPhone 15 ทั้ง 4 รุ่นยังติด 10 อันดับแรก และ 3 ใน 4 ยังครองสามอันดับแรก ในขณะที่ Galaxy S24 Ultra เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่ขายดีที่สุดของ Samsung โดยอยู่ที่อันดับที่สี่ของรายงาน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Samsung คือเจ้าพ่อการจิกกัด Apple จริงๆ เพราะไม่ว่าจะแบรนด์ไหน Microsoft หรือ Google เองก็ไม่สามารถทำแคมเปญออกมาแซะ ล้อเลียน Apple ได้เป็นไวรัลเท่า Samsung แล้ว
ที่มา The Verge 1, The Verge 2, The Verge 3, Business Insider 1, Business Insider 2, Times of India, Hardware Zone, Trusted Reviews, Design Boom, Newsweek, MacThai 1, MacThai 2, 9to5Mac, iClarified 1, iClarified 2, Droidsans, SMH, Financial Express, ZD Net, AFAQS, DNA India