ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกสินค้าของจีนในตลาดโลก มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตามที่รายงานจาก 'KKP Research' เผยว่า จีนมีการ ‘เกินดุล’ การค้ากับโลกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้า ‘อิเล็กทรอนิกส์’ และ ‘เครื่องจักร’ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ ‘ขาดดุล’ ในอุตสาหกรรม ‘เคมีภัณฑ์และพลาสติก’ และ ‘สินค้าเกษตร’ เป็นหลัก
เปิดสินค้าจีนที่ทะลักเข้าไทย พบ 'สมาร์ทโฟน' ยืนหนึ่ง ตามด้วย 'เครื่องใช้ไฟฟ้า-คอมพิวเตอร์'
โดยการส่งออกในหมวดที่ปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลสำรวจการส่งออกสินค้าที่ส่งออกมาผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ ‘สหประชาชาติ’ หรือ UN ที่พบสินค้าที่จีนส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้:
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 38%
- เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย 10%
- อุปกรณ์กิจกรรมกลางแจ้ง 8%
- สุขภาพและความงาม 7%
- เครื่องประดับ 6%
นอกจากนี้ ‘ภูมิภาคเซียน’ เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการส่งออกสินค้าของจีน โดยในช่วงปี 2560-2565 ‘ไทย’ มีการขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดเป็นอันดับที่สอง เป็นรองจาก ‘เวียดนาม’ เมื่อวัดจากมูลค่าการขาดดุล ขณะที่หากเทียบกับขนาด GDP นั้น ‘ไทย’ ขาดดุลการค้ากับจีนเป็นอันดับสาม รองจาก ‘กัมพูชา’ และ ‘เวียดนาม’
การขาดดุลดังกล่าว อาจไม่ได้สะท้อนเฉพาะการส่งออกสินค้าจากจีนเพื่อขายในไทย แต่อาศัยไทยเป็น ‘ทางผ่าน’ สำหรับส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งสิ่งที่ KKP Research มองเป็นประเด็นที่น่าสนใจ คือ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่การขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้นเร็วที่สุด นับตั้งแต่ช่วงการระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา
3 ช่วงดุลการค้าระหว่างไทย-จีน
การเปลี่ยนแปลงด้านดุลการค้าระหว่าง ‘ไทย-จีน’ พัฒนาตามกลยุทธ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ที่หันมาเน้นภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดย KKP Research ได้นำข้อมูลจากสถิติการนำเข้า-ส่งออกของไทยในระหว่างปี 2542-2565 จะพบว่า ดุลการค้าระหว่างไทย-จีน มีการเปลี่ยนแปลงแบ่งออกเป็น 3 ช่วงดังนี้:
- ช่วงที่จีนเริ่มเข้าสู่ตลาดโลก (ปี 2542-2553): ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเล็กน้อยประมาณ 1% ของ GDP ต่อปี โดยสินค้าที่ขาดดุลส่วนใหญ่ เป็นสินค้า ‘อิเล็กทรอนิกส์’ และ ‘เหล็กกล้า’ ในขณะที่สินค้ากลุ่ม ‘พลาสติกและเคมีภัณฑ์’ ยังเกินดุลการค้ากับจีน
- ช่วงที่จีนกลายเป็นโรงงานของโลก ถึงก่อนเกิดสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ (ปี 2554-2561): ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนเป็น 3-4% ของ GDP ต่อปี โดยนอกจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยขาดดุลมากขึ้น ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับสินค้า ‘เครื่องจักร’ มากขึ้นด้วยเช่นกัน
- ช่วงที่จีนเริ่มมีกลยุทธ์เน้นการนำเข้า-ส่องออกเพื่อแข่งกับธุรกิจไทยโดยตรง (ปี 2018-ปัจจุบัน): ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเป็น 6-7% โดยสินค้าที่ขาดดุลมากขึ้นต่อเนื่อง คือ สินค้า ‘อิเล็กทรอนิกส์’ ‘เครื่องจักร’ และ ‘เหล็กกล้า’ ขณะที่ ‘พลาสติกและเคมีภัณฑ์’ กลับมาขาดดุลการค้าเช่นกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่จีน เริ่มมีกำลังการผลิตส่วนเกินมากขึ้น ส่วนสินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีนในปัจจุบัน กลับเหลือเพียงสินค้าเกษตร นำโดย ‘ทุเรียน’ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
พัฒนาการการค้าระหว่างไทย-จีน
KKP Research ประเมินว่า หากพิจารณาพัฒนาการของการค้าระหว่างไทย-จีน สามารถแบ่งได้ เป็น 5 กลุ่มสินค้าสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้:
- กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์: จะเป็นกลุ่มที่ส่งผลให้มีการขาดดุลมากที่สุด โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนค่อนข้างมาก คือ สินค้าในกลุ่ม ‘สมาร์ทโฟน’ ที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด และสามารถซื้อ-ขายได้ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
- สินค้าในกลุ่มเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า: ในช่วงปี 2549-2552 ไทยส่งออก ‘ฮาร์ดดิสก์’ ออกไปจีนจำนวนมาก จนทำให้เกิดดุลการค้ากับจีน ในสินค้ากลุ่มเครื่องจักร แต่ในภายหลัง สินค้าเครื่องจักรฯ จากจีนเริ่มเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า เป็นต้น สะท้อนว่า ไทยเริ่มมีปัญหาด้านการแข่งขันกับสินค้าจีนที่กระจายตัวมากขึ้น
- สินค้าในกลุ่มยานยนต์: สินค้าในหมวดนี้ที่ ‘ขาดดุล’ กับจีนเป็นอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่เป็น ‘ชิ้นส่วนรถยนต์’ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนประกอบประตู ชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์ ล้อรถยนต์ ระบบเบรก ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ส่วนสินค้าที่ ‘เกินดุล’ การค้ากับจีน เป็นสินค้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จแล้ว หรือรถยนต์สำเร็จรูป ทั้งรถจักรยานยนต์ขนาดมากกว่า 800 ซีซี หรือรถยนต์ขนาดมากกว่า 1,500 ซีซี
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงในอนาคต คือ ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า โดยเพิ่มขึ้นแซงหน้าชิ้นส่วนยานยนต์ทุกประเภท ขึ้นเป็นสินค้าที่ขาดดุลเป็นอันดับ 1 แต่การเกินดุลการค้าในรถยนต์สำเร็จรูป เริ่มลดลงอย่างมีนัย
- เหล็กกล้าและอะลูมิเนียม: สินค้ากลุ่มนี้มีการขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นทุกปี เนื่องจากกำลังการผลิตที่เกินดีมานด์ภายในประเทศจีน ที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในจีน จำเป็นต้องระบายสินค้า ด้วยการส่งออกเหล็กสำเร็จรูปมาที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย ด้วยราคาที่ถูกกว่าไทยมาก ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศแข่งขันไม่ได้ และจำเป็นต้องลดกำลัดการผลิตหรือปิดตัวไป
- เคมีภัณฑ์และพลาสติก: เปลี่ยนจาก ‘เกินดุล’ การค้าเป็น ‘ขาดดุล’ การค้าในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา หลังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และขยายกำลังการผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนสามารถผลิตได้เองและมีกำลังการผลิตปริมาณมาก เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต
โดยข้อมูลจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ในปัจจุบัน จีนมีกำลังการผลิตรวมมากกว่ายุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รวมกัน ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอีกต่อไป และเมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศซบเซาลงในช่วงที่ผ่านมา ความต้องการใช้พลาสติกในประเทศลดลงมาก จีนจึงระบายซัพพลายส่วนเกิน ไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย
ที่มา KKP Research