Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สหรัฐฯ เดินเกม "ล้อมจีน" กดดันพันธมิตรลดค้าขายกับจีนแลกยกเว้นภาษี
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

สหรัฐฯ เดินเกม "ล้อมจีน" กดดันพันธมิตรลดค้าขายกับจีนแลกยกเว้นภาษี

17 เม.ย. 68
09:51 น.
แชร์

รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเดินหน้ากลยุทธ์ใหม่ในการกดดันประเทศพันธมิตรให้ลดหรือจำกัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนหรือยกเว้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกกำหนดในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

ความพยายามนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “ล้อมจีน” โดยใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือหลักเพื่อสกัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน และตัดช่องทางที่จีนอาจใช้ในการหลบเลี่ยงผลกระทบจากภาษีสหรัฐผ่านตลาดอื่น

เลิกซื้อของจีน ตั้งภาษีจีนแลกลดภาษีสหรัฐฯ

ภายใต้การเจรจาเพื่อขอยกเว้นภาษีจากประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เตรียมข้อเสนอแลกเปลี่ยนโดยมีเงื่อนไขให้ประเทศเหล่านั้นดำเนินมาตรการที่ช่วยควบคุมอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน เช่น การหลีกเลี่ยงการรับซื้อสินค้าจีนที่ล้นตลาด หรือการกำหนด “ภาษีทุติยภูมิ” กับสินค้าจากประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน

ตัวอย่างประเทศพันธมิตรที่สหรัฐฯ เริ่มเดินหน้ากดดันแล้ว คือ ‘เม็กซิโก’ ที่มีรายงานว่า สหรัฐจะขอให้เม็กซิโกเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เพื่อไม่ให้สินค้าจีนไหลผ่านเข้าไปยังตลาดอเมริกาได้ง่าย แม้กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโกยังไม่ออกแถลงการณ์ใด ๆ ขณะที่ทำเนียบขาวก็ยังไม่ให้ความเห็นในเรื่องนี้

การผลักดันนโยบายภาษีในระดับโลกของสหรัฐครั้งนี้ นำโดยรัฐมนตรีคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) ซึ่งรับบทบาทผู้นำการเจรจาหลังจากทรัมป์ประกาศพักการขึ้นภาษีเป็นเวลา 90 วันสำหรับประเทศคู่ค้าราว 60 ประเทศ ยกเว้นจีน 

เบสเซนต์ ซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ มองว่าหลายประเทศแม้จะเป็นพันธมิตรทางทหารที่ดีของสหรัฐ แต่ก็ยังไม่ใช่พันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม เขาแสดงความเชื่อมั่นว่า ข้อตกลงสามารถเกิดขึ้นได้ และหากรวมพลังกัน สหรัฐและพันธมิตรจะสามารถเพิ่มอำนาจเจรจากับจีนได้

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวถึงแนวทางนี้อย่างเปิดเผยในบทสัมภาษณ์กับ Fox News ภาคภาษาสเปน โดยเมื่อถูกถามว่าละตินอเมริกาควรเลือกระหว่างการเข้าร่วม Belt and Road ของจีน หรือการลงทุนจากสหรัฐหรือไม่ เขาตอบว่า “บางทีพวกเขาก็ควรจะต้องเลือก” และยังประกาศว่าจะเข้าร่วมการเจรจากับคณะผู้แทนจากญี่ปุ่นด้วยตนเอง

เงื่อนไขจากจีนก่อนเริ่มเจรจา: “ความเคารพ” ต้องมาก่อน

ปัจจุบัน แม้จีนจะยังไม่ปิดประตูการเจรจาการค้ากับสหรัฐอย่างถาวร แต่ก่อนที่จะนั่งโต๊ะพูดคุยอย่างเป็นทางการ จีนได้ยื่นข้อเรียกร้องสำคัญที่รัฐบาลทรัมป์ต้องปฏิบัติตาม โดยแหล่งข่าวซึ่งใกล้ชิดกับท่าทีของรัฐบาลปักกิ่งเปิดเผยว่า สิ่งที่จีนต้องการมากที่สุดคือ “ความเคารพ” ซึ่งแบ่งออกเป็นเงื่อนไขหลัก 4 ประการ คือ

  1. ยุติถ้อยคำดูหมิ่นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ: กรณีที่รองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ กล่าวถึง “จีนรากหญ้า” ในเชิงเหยียดหยาม กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาตอบโต้ว่าเป็น “คำพูดหยาบคายและไร้ความรู้” จีนต้องการให้รัฐบาลทรัมป์ควบคุมถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ระดับสูง และหลีกเลี่ยงการโจมตีทางวาจาที่กระทบศักดิ์ศรีของจีน
  2. มีท่าทีทางนโยบายที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ: แม้ทรัมป์จะเคยกล่าวถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในเชิงบวก แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนกลับแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนนี้ทำให้จีนลังเลที่จะเริ่มกระบวนการเจรจา จีนต้องการให้สหรัฐแสดงจุดยืนที่ชัดเจน และไม่ย้อนแย้งกันเองในระดับผู้นำ
  3. พร้อมหารือข้อกังวลด้านความมั่นคงของจีนอย่างจริงจัง: จีนยืนกรานว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสหรัฐพร้อมเปิดโต๊ะหารือในประเด็นที่จีนกังวลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเด็นไต้หวันและมาตรการคว่ำบาตรด้านเทคโนโลยี เช่น การที่สหรัฐสั่งห้าม Nvidia ขายชิป H20 ให้กับจีน ซึ่งจีนมองว่าเป็นการจำกัดการพัฒนาทางยุทธศาสตร์ของตนเอง
  4. ให้ทรัมป์แต่งตั้งตัวแทนเจรจาที่มี “อำนาจเต็ม” และได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดีโดยตรง:แม้จะไม่ระบุชื่อบุคคล แต่จีนต้องการให้ผู้แทนรายนั้นสามารถร่างข้อตกลงที่ผู้นำทั้งสองสามารถลงนามร่วมกันได้อย่างเป็นทางการ

จีนยังไม่ปิดกั้นให้ทรัมป์มีบทบาทโดยตรงในกระบวนการเจรจานี้ แต่มองว่าทางเลือกที่มีประสิทธิภาพกว่าคือ การให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเจรจารายละเอียดเชิงลึกก่อน จากนั้นจึงนำไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีนในภายหลัง และหากไม่มีความเคารพและตัวแทนที่เหมาะสม การเจรจาย่อมไม่มีความหมาย

ด้านทำเนียบขาว แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกของทรัมป์ กล่าวว่า “ลูกบอลอยู่ในแดนของจีน จีนต้องการข้อตกลงกับเรา ไม่ใช่ในทางกลับกัน” โดยข้อความดังกล่าวเป็นคำสั่งโดยตรงที่ทรัมป์เป็นผู้เขียนเอง

ประเทศอาเซียนตกอยู่ในเป้าหมาย

ความพยายามจำกัดบทบาทของจีนยังขยายไปถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถูกมองว่าทำหน้าที่เป็นฐานการผลิตต่อยอดของจีนในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยประเทศอย่างเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และไทย ล้วนมีโรงงานที่ทำหน้าที่เป็นจุดประกอบขั้นสุดท้ายของสินค้าที่ใช้ชิ้นส่วนจากจีน เช่น แผงโซลาร์เซลล์

ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ระบุว่า จีนใช้เวียดนามเป็นช่องทางหลบเลี่ยงภาษีผ่านกระบวนการ “เปลี่ยนเส้นทางสินค้า” (transshipment) พร้อมเรียกเวียดนามว่า “อาณานิคมของจีนคอมมิวนิสต์” ด้านเบสเซนต์กล่าวว่า การหลีกเลี่ยงการทุ่มตลาดเป็นเป้าหมายร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เพราะหากตลาดหลักของจีนถูกตัดขาด สินค้าจีนก็จะหาทางเข้าสู่ประเทศที่สามแทน


ืที่มา: Bloomberg

แชร์
สหรัฐฯ เดินเกม "ล้อมจีน" กดดันพันธมิตรลดค้าขายกับจีนแลกยกเว้นภาษี