ธุรกิจการตลาด

AI vs. นักข่าวมนุษย์ วงการสื่อจะเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า?

22 ส.ค. 67
AI vs. นักข่าวมนุษย์ วงการสื่อจะเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า?

ในยุคที่วงการสื่อสารถูก disrupted และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวให้ทันกับทุกการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เพียงเพื่ออยู่รอด แต่เพื่อคาดการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ AI การพัฒนาอย่างรวดเร็ว และคาดว่าอาจมาแทนที่การสื่อสารได้

ซึ่ง ‘เฟลชแมน ฮิลลาร์ด’ บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ชั้นนำของโลก เผยว่า AI กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ โดยภายในปี 2029 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า เครื่องมือที่ใช้งานระบบ Automation, Crowdsourcing, และ Programmatic จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ในหลายกระบวนการ และส่งผลอย่างชัดเจนต่อการทำงานในวงการสื่อสาร

SPOTLIGHT มีโอกาสเข้าร่วมงาน ‘Techsauce Global Summit 2024’ และรับฟังการที่ AI จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการสื่อสารและการทำงานของสื่อมวลชนในอนาคตอย่างไร ผ่านหัวข้อ ‘What Will Media Relations Be Like in 5 years: AI VS Human Journalist’ ผ่านมุมมองของคุณโสพิส เกษมสหสิน รองประธานอาวุโส พาร์ทเนอร์ และผู้จัดการทั่วไปของเฟลชแมน ฮิลลาร์ด ประเทศไทย

AI ตัวช่วยลดเวลาทำงานสื่อ

คุณโสพิส อ้างอิงจากผลสำรวจที่ชี้ว่า AI กำลังเข้ามาเสริมศักยภาพการทำงานในโลกสื่อสารยุคใหม่ ซึ่งช่วยลดเวลาการทำงานของนักข่าวลงถึง 20% ทำให้ปัจจุบัน สื่อชั้นนำระดับโลกอย่าง BBC, CNN, The Washington Post, และ AP รวมถึง สื่อไทยบางสำนัก เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาช่วยประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อน และสร้างคอนเทนต์ข่าวในรูปแบบต่างๆ แบบอัตโนมัติ เช่น ข่าวผลประกอบการทางธุรกิจ ข่าวการแข่งขันกีฬา และข่าวการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ AI ยังมีบทบาทในการมอนิเตอร์คุณภาพของเนื้อหาข่าว และการเผยแพร่บนช่องทางต่างๆ ผ่านระบบอัลกอริทึม ทำให้สื่อสามารถศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ดีขึ้น และยังช่วยคัดกรองข่าวที่มีคุณภาพก่อนส่งให้บรรณาธิการพิจารณาเผยแพร่ ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง รับมือกับข่าวปลอม และติดตามการแบ่งขั้วในการนำเสนอข่าว ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

การพัฒนาของ AI ไม่เพียงช่วยประหยัดเวลา แต่ยังทำให้สื่อสามารถมองเห็นเทรนด์ และมุ่งเน้นการวางแผนการนำเสนอข่าวที่มีความหลากหลายและลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งในแง่ของเนื้อหาและรูปแบบ ทันต่อกระแส และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทั้งนี้ยังมีส่วนช่วยเพิ่มยอด engagement ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คอนเทนต์ต้องสมจริงและทันเหตุการณ์

ระบบอัตโนมัติ (Automation) และ ระบบโปรแกรม (Programmatic) จะเข้ามายกระดับการผลิตคอนเทนต์ข่าวให้มีความสมจริง รวดเร็ว และทันเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น เช่น การผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบเสียงและวิดีโอแทนการนำเสนอข่าวในรูปแบบเดิม

โดยองค์กรในสหรัฐฯ ได้นำ AI มาใช้ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และ BBC ก็ได้ใช้เทคโนโลยี VR ในการถ่ายทอดสดแมตช์ชกมวย ซึ่งได้ผลตอบรับที่น่าทึ่ง

ทั้งนี้ การสร้างสรรค์คอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ ไลฟ์สตรีม Virtual Reality, Augmented Reality, วิดีโอ 360 องศา, หรือคอนเทนต์ที่ผ่านการตัดต่อแล้ว ควรจะต้องนำมาใช้ซ้ำได้ รองรับ metadata และติดตามผลบนช่องทางที่เกี่ยวข้องได้ นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ยุคใหม่ยังสามารถใช้ระบบอัลกอริทึมในการติดตามผลลัพธ์และศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อต่อยอดการพัฒนาคอนเทนต์ต่อไป

การเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ และ AI

คุณโสพิส กล่าวว่า “การผสานระหว่างเทคโนโลยี AI และความเชี่ยวชาญของมนุษย์ กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อสาร AI นำมาซึ่งประสิทธิภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และการทำงานอัตโนมัติ ขณะที่มนุษย์จะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ และความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึก”

ในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้ AI จะมีบทบาทมากขึ้นในวงการสื่อสาร แต่ก็ไม่สามารถแทนที่ความสามารถเฉพาะทางของมนุษย์ได้ สื่อและนักสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ต้องการก้าวนำทุกการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ ‘3T’ ดังนี้:

  1. Talent: ความเข้าใจในเทคโนโลยีและการปรับตัวให้เข้ากับยุค AI อย่างชาญฉลาด
  2. Techniques: ความสามารถในการวิเคราะห์ผลจากระบบอัลกอริทึมของ AI เพื่อเข้าถึงกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ สื่อ และกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. Technology: การยกระดับการสื่อสารผ่านการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อการทำงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT