ธุรกิจการตลาด

Microsoft ยันลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย พร้อมปูทักษะ AI คนไทย 1 ล้านคน

29 ส.ค. 67
Microsoft ยันลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย พร้อมปูทักษะ AI คนไทย 1 ล้านคน

นับตั้งแต่ที่ ‘สัตยา นาเดลลา’ ประธานกรรมการบริหารของ Microsoft ได้มาเยือนประเทศไทย ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ จากการประกาศลงทุน ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ ในไทย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาสร้างโอกาสให้คนไทย ประสบความสำเร็จในเวทีโลก 

การประกาศพันธสัญญาในครั้งนั้น มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนให้ไทย ไปสู่อนาคตในยุค AI และคลาวด์ได้ ผ่านความร่วมมือ ทั้งภาครัฐและเอกชนในโครงการใหม่ๆ เพื่อยกระดับประเทศไทย และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภูมิภาคดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อขยายการให้บริการคลาวด์จาก Microsoft ให้กว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น 

โดยในปีงบประมาณ 2025 (กรกฎาคม 2024 ถึง มิถุนายน 2025) Microsoft ตั้งเป้าที่จะเสริมศักยภาพให้กับทุกคน และทุกองค์กรในประเทศไทย ด้วยพลังแห่ง Generative AI ผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน พร้อมทั้งตั้งเป้าเสริมทักษะด้าน AI ให้คนไทย 1 ล้านคนภายใน 1 ปี

ยืนยันการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Microsoft ประเทศไทย ยืนยันแผนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยแน่นอน โดยความคืบหน้าของโครงการติดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ตอนนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจากับพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งคาดว่า การเจรจาข้อตกลงจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2024 นี้

โดยเบื้องต้น ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจะเป็นรูปแบบของการ ‘leasing’ หรือ การเช่าศูนย์ข้อมูล เนื่องจากเทคโนโลยีในไทยเปลี่ยนไปเร็วมาก ทำให้ต้องมีการ lease เพื่อเป็นการคัดเลือกพาร์ทเนอร์ด้วย

สำหรับมูลค่าการลงทุน จะถูกเปิดเผยเป็นอย่างทางการหลังจากที่การเจรจาข้อตกลงกับพาร์ทเนอร์เป็นที่เสร็จสิ้นอย่างทางการ โดยเบื้องต้น จะมีดาต้าเซ็นเตอร์ของ Microsoft ในไทยทั้งหมด 3 แห่ง และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย 

ส่วนประเด็นของการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมตรี นายธนวัฒน์ ชี้แจงว่า Microsoft ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และแผนการพัฒนาโครงการทุกอย่างยังเป็นไปตามปกติ โดย Microsoft ประเทศไทย มั่นใจว่า การที่ไทยมีดาต้าเซ็นเตอร์เป็นของตัวเอง จะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคลาวด์ AI ในไทย จะอยู่ใน fabric ของ Microsoft ทั่วโลก

แผนการดำเนินธุรกิจของ Microsoft ประเทศไทย

Microsoft ประเทศไทย เห็นโอกาสที่ AI และคลาวด์จะเข้ามายกระดับและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับคนไทย ทั้งภาคการศึกษา การท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรม และอีกมากมาย โดยได้ยกตัวอย่าง 4 สตาร์ทอัพไทยที่ใช้ AI และประสบความสำเร็จดังนี้:

  • Looloo: ใช้ OCR และ ACR ในการอ่านและสรุปข้อมูลจากเอกสาร ช่วยลดเวลาในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพ
  • Stelligence: ใช้ AI ในการจัดการความเสี่ยง ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารและอุตสาหกรรม
  • Amity: สร้าง Avatar ในการสื่อสารกับลูกค้าและพนักงาน
  • Fusion: นำ Azure มาใช้สรุปข้อมูลในไลน์กลุ่มได้

นอกจากนี้ การใช้งาน AI และคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นของคนไทย สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของ Microsoft ประเทศไทยในปัจจุบัน ที่เน้นย้ำไปด้านคลาวด์มากถึง 80% ในขณะที่หน่วยธุรกิจดั้งเดิม หรือด้านซอฟท์แวร์และอุปกรณ์ มีสัดส่วนไม่ถึง 20% เท่านั้น

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า แนวทาง ‘AI for All Thai’ ในปีงบประมาณ 2025 นั้น เพื่อเสริมขีดความสามารถให้เกิดการนำ AI ไปใช้ในวงกว้าง และสานต่อความมั่นคงเพื่อให้คนไทยได้ใช้งานอย่างมั่นใจ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก

1. สร้างทักษะ

ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในปี 2023 หรือ Thailand Digital Competitiveness Ranking 2023 พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 35 ในปี 2023 จากอันดับที่ 40 ใน ปี 2022 จาก 64 เขตเศรษฐกิจในการจัดอันดับ 

นายธนวัฒน์ กล่าวเสริมว่า ปัจจัยที่ยังรั้งให้ไทย ไม่สามารถพัฒนาได้ในขณะนี้ คือ ด้านการฝึกฝนและศึกษา (Training & Education) และด้านความพร้อมในอนาคต (Future Readiness) ซึ่งสาเหตุมาจาก AI ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย และยังไม่มีการรับรู้ที่เพียงพอ

เพื่อตอกย้ำความตั้งใจในการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ Microsoft จึงเปิดตัวโครงการ ‘AI National Skill Initiative’ เพื่อสนับสนุนทักษะ AI ที่จำเป็นให้กับคนไทย 1 ล้านคนภายในปีหน้า ทั้งในภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน

โดยโครงการนี้ มีหลากหลายหลักสูตรฝึกอบรมที่เป็นภาษาไทยกว่า 80% ที่ออกแบบให้ครอบคลุมผู้ใช้งานทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใช้งานทั่วไป ผู้บริหาร และนักพัฒนา เพื่อนำศักยภาพของ AI ไปประยุกต์ใช้เพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ตลอดจนการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ด้วยฝีมือคนไทย

2. เสริมขีดความสามารถ

Microsoft ประเทศไทย มุ่งมั่นเสริมศักยภาพให้กับคนไทย และองค์กรไทยได้รับประโยชน์จากขุมพลังอันไร้ขีดจำกัดของ AI เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานในวงกว้าง ทั้งระดับบุคคลและองค์กร 

โดยใน ‘ระดับบุคคล’ Microsoft พร้อมขับเคลื่อนการใช้งาน AI ให้กับผู้ใช้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น บุคคลทั่วไป นักเรียนนักศึกษา คุณครู คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ข้าราชการ และอีกมากมาย เพื่อเข้าถึงเครื่องมือ และบริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI

เช่น Copilot บน Windows และ Edge, Microsoft Designer บนแอปพลิเคชันและผ่านเว็บ, Cocreator และ Paint บน Windows 11, ฟีเจอร์ Reading progress ใน Microsoft Teams และ Reading immersive ใน Microsoft Words, GitHub Copilot รวมถึง Copilot+ PC

ส่วนใน ‘ระดับองค์กร’ Microsoft ขับเคลื่อนการนำศักยภาพของ AI ที่มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในระดับโลก จนกลายเป็นผู้ช่วยที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการดำเนินงานให้กับองค์กรยุคใหม่ และช่วยรับมือความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก 

ผ่านการใช้นวัตกรรมโซลูชันที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และความคล่องตัว เพื่อให้ทุกภารกิจสำเร็จได้อย่างราบรื่น โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม

3. สานต่อความมั่นคง

ปัจจุบัน ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เป็นประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งที่ทุกผลิตภัณฑ์ ทุกบริการด้านเทคโนโลยีจะต้องมี โดย Microsoft จะขยายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 

ทั้งนี้ Microsoft ได้เปิดตัว ‘Secure Future Initiative (SFI)’ แนวทางการปฏิบัติที่เสริมสร้างความปลอดภัยในระบบ โดยมุ่งเน้นในการออกแบบ สร้าง ทดสอบ และดำเนินการเทคโนโลยีให้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดผ่าน 3 หลักการดังนี้: 

  1. Secure by design: การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยก่อน
  2. Secure by default: การป้องกันความปลอดภัยต้องเปิดใช้งานและบังคับใช้โดยค่าเริ่มต้น และไม่ใช่ตัวเลือก

Secure operations: การควบคุมและตรวจสอบความปลอดภัยจะต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความเสี่ยงในปัจจุบันและในอนาคต

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT