ธุรกิจการตลาด

TrueBusiness จับมือ Intel เปิด 7 โซลูชันการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ผ่าน AI

6 ก.ย. 67
TrueBusiness จับมือ Intel เปิด 7 โซลูชันการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ผ่าน AI

ปัจจุบัน ‘สาธารณสุขไทย’ กำลังพบกับอุปสรรคที่อาจทำให้การรักษาผู้ป่วยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งการทำงานล่วงเวลา หรือดูแลผู้ป่วยมากเกินขีดจำกัด ส่งผลถึงปัญหามากมายในระยะยาว

ในขณะเดียวกัน ‘เทคโนโลยี’ ที่มีการคิดค้นพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่า สามารถช่วยลดเวลาในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้บางประเทศ เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการสาธารณสุขแล้ว

ล่าสุด ‘TrueBusiness’ (ทรูบิสิเนส) ร่วมกับ ‘Intel’ (อินเทล) ยกระดับอุตสาหกรรมสาธารณสุขไทย สู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ผ่านการเปิดตัว ‘7 โซลูชันด้านการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Healthcare)’ ครอบคลุมทั้งการวินิจฉัยและรักษา ฟื้นฟูดูแล และจัดการข้อมูลทางการแพทย์ในโรงพยาบาล และสถานพยาบาลในไทย

นี่ถือเป็นการพลิกโฉมบริการสาธารณสุขไทยยุคใหม่ ผ่านการนำจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย นั่นก็คือ ‘เครือข่ายทรู 5G’ และ ‘เทคโนโลยี AI ของ Intel’ มาเพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ทั้งยังส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก้าวสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย

นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลุ่มธุรกิจองค์กร ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “TrueBusiness เร่งพัฒนานวัตกรรมบริการ ควบคู่กับการนำ AI มาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กร โดยการร่วมมือกับ Intel ในครั้งนี้ เรามุ่งพัฒนาโซลูชันที่จับต้องได้ และใช้งานได้จริง เพื่อสนับสนุนองค์กรธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เติมเต็มวิสัยทัศน์ของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่จะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการเครือข่าย”

ภาพรวมการร่วมมือในครั้งนี้

ความร่วมมือในครั้งนี้ มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ประมวลผลบนอุปกรณ์ปลายทาง ผ่านโซลูชันซอฟต์แวร์ของ Intel เช่น ‘OpenVino’ ช่วยลดเวลาทั้งในการวินิจฉัยและการรักษา ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแล และเฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย

โดยโซลูชันการดูแลสุขภาพอัจฉริยะนี้ ทำงานบนเครือข่ายทรู 5G ที่รองรับการรับ-ส่งข้อมูล ควบคุม และสั่งการได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยในการพัฒนาระบบอัตโนมัติต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วย ช่วยลดต้นทุนทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ และขั้นตอนการรักษา รวมถึงแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น โซลูชัน Smart Healthcare ยังมีการบันทึกข้อมูลการรักษาในระบบดิจิทัล เพื่อให้ AI นำไปวิเคราะห์เชิงลึก และทำงานร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงการรักษาอาการที่ซับซ้อนและเฉียบพลัน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ผลลัพธ์ดีขึ้น

นอกจากนี้ TrueBusiness และ Intel ยังมุ่งส่งเสริมการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และเพิ่มประสิทธิผลของบริการด้านการดูแลสุขภาพบนพื้นฐานของการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม ปลอดภัย และโปร่งใส โดยการบันทึกข้อมูลของผู้มารักษา จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยก่อน รวมถึงเป็นไปตามมาตรการของแต่ละโรงพยาบาลด้วย

ส่วนอุปสรรคจากโครงการนี้ นายพิชิต กล่าวกับ SPOTLIGHT ว่า คือการลงทุนเงินมูลค่ามหาศาลในช่วงแรก เนื่องจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการสาธารณสุขไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอาจตัดสินชีวิตของคนหนึ่งคนได้ รวมทั้งยังไม่มีการรับรู้ (awareness) ที่เพียงพอในวงการ แต่เชื่อว่า ในระยะยาว จะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย และมีต้นทุนที่ถูกลงมาก

ทั้งนี้ บางโซลูชันยังต้องผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ซึ่งมีหลายกระบวนการ และใช้เวลาพอสมควร เพื่อให้มั่นใจว่า เทคโนโลยีที่ทำใช้รักษาผู้ป่วย มีความปลอดภัย สามารถใช้งานได้จริง และเป็นไปตามมาตรฐาน โดยเบื้องต้น บางโซลูชันผ่านการรับรองจาก FDA แล้ว

7 โซลูชันการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ

  1. Telemedicine and Tele ICU บริการการแพทย์ทางไกลผ่านเครือข่ายทรู 5G ที่เชื่อมชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ติดตั้งในท้องถิ่นต่างๆ กับระบบหลักของโรงพยาบาล โดยมีแพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลและประวัติของผู้ป่วย การวินิจฉัยและรักษา การนัดพบแพทย์ รวมทั้งแสดงข้อมูลผ่านแดชบอร์ด เพื่อให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
  2. Future of Large Language Model (LLM) แพลตฟอร์มที่ตรวจสอบประวัติผู้ป่วย และวิเคราะห์อาการเบื้องต้น ผู้ป่วยเพียงกรอกข้อมูลส่วนตัวและอาการป่วยเบื้องต้น ระบบ AI ก็จะช่วยวิเคราะห์ และรักษาอาการป่วยอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนและเวลาในการพบแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
  3. Pathology as a Service แพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีสแกนชิ้นเนื้อ เพื่อนำภาพพยาธิวิทยาเป็นดิจิทัล ซึ่ง AI สามารถวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพและความแม่นยำในการวินิจฉัย เนื่องจากสามารถตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกได้ง่ายขึ้น โดยเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ และระบบเครือข่ายที่ปลอดภัยของทรู คอร์ปอเรชั่น ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อการตรวจพบโรค
  4. Ophthalmology as a Service แพลตฟอร์มที่ให้บริการสำหรับการวิเคราะห์ และคัดกรองจักษุวิทยา โดยใช้กล้องเรตินาที่ขับเคลื่อนด้วย AI ชุดผลิตภัณฑ์ที่รองรับ AI ของ Intel และคอมพิวเตอร์วินิจฉัยแบบอัตโนมัติ ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีในการตรวจวิเคราะห์อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องใช้ยาหยอดขยายม่านตา ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา
  5. Digital Patient Twin (Patient Management as a Service - PMaaS) โซลูชันที่เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย ด้วยอุปกรณ์ไร้การสัมผัส โดยข้อมูลของผู้ป่วย จะถูกส่งไปยังอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ถูกติดตั้งอยู่บนเพดานห้องพัก เหนือเตียงผู้ป่วย เชื่อมไปยังศูนย์กลาง เพื่อรวบรวมและแจ้งเตือนหากมีความผิดปกติ ช่วยดูแลผู้ป่วยแบบใกล้ชิด รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่รบกวนการพักผ่อนของผู้ป่วยในการตรวจวัดค่าต่างๆ เป็นประจำ
  6. Residential Care Management แพลตฟอร์มที่ดูแลผู้สูงอายุ ผ่านอุปกรณ์ ‘Edge IoT’ และเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งบนรถเข็น โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือแท็บเล็ต ที่บันทึกข้อมูล และส่งผ่านเครือข่ายทรู 5G แบบเรียลไทม์ไปสู่ระบบของโรงพยาบาล เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม และความเสี่ยงด้านสุขภาพ ผ่านแพลตฟอร์มที่ใช้ AI ซึ่งสามารถแจ้งเตือนทันทีเมื่อพบความเสี่ยงหรือสิ่งผิดปกติ
  7. Transforming of PACS (Picture Archiving and Communication System) โซลูชันที่จะพลิกโฉมระบบจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ (Medical Images) หรือภาพถ่ายทางรังสี ผ่านแพลตฟอร์ม AI และใช้ AI ได้ทุกที่ แม้ในพื้นที่ห่างไกล โดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มระบบคลาวด์ได้ทุกรูปแบบ ลดข้อจำกัดและความยุ่งยากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ซับซ้อน

2 ตัวอย่างจากการใช้งานจริง

การวิเคราะห์เนื้อเยื่อเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง ทำได้เร็วขึ้นกว่าแบบเดิมถึง 2,000 เท่า จากที่ผ่านมา การวิเคราะห์ใช้เวลาเฉลี่ยนานถึง 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันเวลา และมีความเสี่ยงที่โรคจะลุกลามเพิ่มขึ้น แต่โซลูชัน ‘Pathology as a Service’ ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายพยาธิวิทยาภายในเพียง 5 นาที และเพิ่มความแม่นยำในการศึกษาวิจัย

โดยนักพยาธิวิทยายังสามารถแบ่งปันภาพพยาธิวิทยา กับทีมงานทั่วโลกที่ทำงานจากระยะไกลในการวิเคราะห์สไลด์แบบดิจิทัล เอื้อต่อการร่วมวิเคราะห์ และปรึกษาแนวทางการรักษาผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนของนักพยาธิวิทยาทั่วโลกด้วย

ส่วนอีกหนึ่งตัวอย่างการใช้งานจริง คือ การดูแลผู้ป่วยหรือผู้พักฟื้นด้วยอุปกรณ์ไร้การสัมผัส เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยสูงขึ้น 30% โดยไม่ต้องถูกรบกวนในช่วงเวลาพักฟื้น และไม่ต้องติดอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายอุปกรณ์ที่สัมผัสกับร่างกายเพื่อติดตามค่าต่างๆ ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสะดวกสบาย

ในขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้โซลูชัน ‘Digital Patient Twin’ โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดค่าต่างๆ ของร่างกาย ผ่านเซ็นเซอร์ที่ส่งสัญญาณไลฟ์สตรีม และประมวลผลด้วย AI ที่พร้อมแจ้งเตือนเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยบนเตียง ทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไม่เพียงเทานี้ ยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรการแพทย์ โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ 1 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากถึง 10 คน จากเดิมที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่พยาบาลเฉลี่ย 3 คน ในการดูแลผู้ป่วย 10 คน

advertisement

SPOTLIGHT