Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
AI ช่วยการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และความยั่งยืนในอนาคตได้อย่างไร?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

AI ช่วยการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และความยั่งยืนในอนาคตได้อย่างไร?

5 ต.ค. 67
13:26 น.
|
140
แชร์

‘AI’ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือช่วยทำงาน หรือแชทบอทหาข้อมูลตามสั่งเท่านั้น แต่ AI ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน ‘สีเขียว’ และอนาคตที่ ‘ยั่งยืน’ ทั้งช่วยในการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษ วิเคราะห์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยให้มนุษย์เตรียมรับมือได้อย่างรวดเร็วและลดความเสียหาย

AI ช่วยการเปลี่ยนผ่าน 'สีเขียว' และ 'ความยั่งยืน' ในอนาคตได้อย่างไร?

แต่อุปสรรคของการใช้งาน AI ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้งาน ทัศนคติ และความเข้าใจผิดที่มีต่อ AI ทั้งหมดนี้ถูกพูดถึงในเสวนา ‘บทบาทของ AI ต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและอนาคตที่ยั่งยืน AI-Powered Economic Security and Green Transition for Sustainable Future’ ภายในงาน Sustainability Expo 2024 หรือ SX 2024 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

โดย ‘ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์’ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ‘ดร.แววไพลิน พันธุ์ภักดี’ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การรับมือกับความท้าทายของ AI

‘ดร. ธัชไท’ มองว่า เมื่อเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ความจำเป็นที่ต้องมีอาชีพใหม่ๆ ที่สามารถติดตามและจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ เช่น อาชีพในสายข้อมูล (Data Science) ที่ช่วยในการกรองข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้การพัฒนาและควบคุมการใช้ AI จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงในการติดตามและรับมือกับข้อมูลที่อาจสร้างปัญหาให้กับระบบ

เนื่องจาก AI ไม่ได้ทำงานเฉพาะกับข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือน เช่น ‘ข้อมูลที่ผิดพลาด’ (Misinformation) หรือ ‘ข้อมูลบิดเบือน’ (Disinformation) ที่บางครั้งเกิดจากมนุษย์เอง ที่เป็นผู้ป้อนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าไป ทำให้ AI ประมวลผลข้อมูลเหล่านั้นและเกิดความคลาดเคลื่อน

ผู้ใช้งาน AI จึงจำเป็นต้องมีวิจารณญาณในการแยกแยะข้อมูล เพื่อให้การประมวลผลนั้น มีความถูกต้องและเชื่อถือได้มากที่สุด และหากมีผู้ที่ตั้งใจต่อต้านการใช้ AI โดยการป้อนข้อมูลผิดๆ เข้าไปมากขึ้น อาจทำให้เกิดความสับสนในระบบได้ ผู้ใช้งานจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการเลือกใช้งาน AI เพื่อประโยชน์สูงสุดของตนเอง

การสร้างภูมิคุ้มกันและความร่วมมือระหว่างมนุษย์กับ AI

‘ดร. แววไพลิน’ เผยว่า การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการใช้เทคโนโลยี AI เป็นที่สิ่งสำคัญ โดยเริ่มต้นจากการทำความคุ้นเคย และการใช้งานจนเกิดความชำนาญ เมื่อผู้ใช้งานเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของ AI พวกเขาจะสามารถวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ AI ประมวลออกมาได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือผิดพลาด 

การที่มนุษย์มีบทบาทในการตรวจสอบและทบทวนข้อมูลนั้น ถือเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างมนุษย์และ AI ซึ่งจะเป็นทักษะใหม่ที่มีความสำคัญต่อการทำงานในอนาคต ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมมือระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ดังนั้น การร่วมมือกับ AI จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะพัฒนาการทำงาน และการแก้ปัญหาในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทบาทของภาครัฐในการควบคุมและพัฒนา AI

‘ดร. ธัชไท’ กล่าวว่า ภาครัฐก็มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการใช้ AI โดยเฉพาะในเรื่องของการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ภาครัฐไม่เพียงแต่ต้องสนับสนุนการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้ทันสมัยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกดิจิทัล ในกระบวนการที่เรียกว่า ‘Agile Regulation’ หรือการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบอย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยให้การใช้ AI สามารถเป็นไปอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อสังคม

แม้ว่า AI จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง แต่การใช้ AI ควรเป็นการเสริมทักษะของมนุษย์ ไม่ใช่การพึ่งพาโดยสิ้นเชิง มนุษย์ยังคงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการตัดสินใจและการสร้างนวัตกรรม AI ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการตัดสินใจให้ดีขึ้น 

ส่วน ‘ดร. แววไพลิน’ เสริมว่า การพัฒนาทักษะ และความรู้ในด้าน ‘Data Security’ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ  ภาครัฐควรมีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการออกแบบระบบป้องกันข้อมูลและสร้างความมั่นคงด้านดิจิทัล 

รวมถึง การสนับสนุนการศึกษาในด้าน AI และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการเปิดศูนย์การศึกษาหรือให้ทุนการศึกษาในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเพิ่มจำนวนบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การเพิ่มทักษะหรือ reskill/upskill สำหรับบุคลากรในภาครัฐและเอกชนถือเป็นส่วนสำคัญที่จะนำพาสังคมไปสู่ความยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ส่วนประเด็นการนำ AI มาใช้ในการป้องกัน และรับมือกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘ดร. แววไพลิน’ เผยว่า เป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่น่าสนใจ จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการวางแผนการรับมือกับภัยพิบัติ พบว่า การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ตัวชี้วัดเป็นสิ่งที่มนุษย์อาจไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง 

AI จึงเข้ามาช่วยประมวลข้อมูลจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น บนสันเขื่อน หรือพื้นที่เปราะบาง การนำ AI มาช่วยพยากรณ์ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหว ช่วยเตือนประชาชนล่วงหน้าและลดความเสียหายได้

ในบางกรณีที่เกิดภัยพิบัติรุนแรงหรือในพื้นที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึง AI สามารถส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านบอทที่ติดตั้งในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้มนุษย์ได้รับข้อมูลและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยี AI ในการจัดการกับภัยพิบัติจึงเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานควรนำมาใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

AI กับความยั่งยืน

‘ดร. ธัชไท’ กล่าวว่า AI ยังมีบทบาทในการส่งเสริมความยั่งยืนทางพลังงาน เช่น การวิเคราะห์การใช้พลังงานในธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร การใช้ AI ในการจัดการพลังงานอย่างเหมาะสม สามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำหรือการใช้พลังงานหมุนเวียน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ‘เกาหลีใต้’ มีสตาร์ทอัพที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์การใช้พลังงานในธุรกิจ ทำให้ลดการใช้พลังงานลงได้ถึง 30-40% ซึ่งเป็นการยืนยันว่า AI สามารถช่วยปรับปรุงการใช้พลังงานและทำให้อุตสาหกรรมพลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในอนาคตข้างหน้า การพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนจะกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ทั้งในภาคธุรกิจและสังคม การพัฒนา AI ให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องการคำตอบ และความสามารถในการเปิดรับและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ในขณะที่ ‘ดร. แววไพลิน’ เสริมว่า AI และ Big Data มีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ โดยไม่เพียงแต่ช่วยในการพัฒนานวัตกรรม แต่ยังสามารถลดต้นทุนของการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เช่น Microsoft และ Google เลือกที่จะตั้งศูนย์ข้อมูลในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเย็น เช่น ภาคเหนือของยุโรป หรือใต้มหาสมุทร 

ทั้งสองบริษัทต้องการลดการใช้พลังงานในการเก็บรักษาข้อมูล โดย Microsoft ยังมีการใช้พลังงานลมและน้ำ ในการขับเคลื่อนระบบ ซึ่งเป็นการลดการใช้พลังงานและพัฒนาระบบให้เป็นไปในทิศทางของความยั่งยืน

ในอนาคต AI จะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น การใช้พลังงานหมุนเวียนในการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลและระบบ AI จะเป็นหัวข้อสำคัญในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งบางบริษัทเริ่มใช้งานพลังงานหมุนเวียนถึง 100% แล้ว

แชร์
AI ช่วยการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และความยั่งยืนในอนาคตได้อย่างไร?