"ไทยไม่แพ้ใครบนโลกใบนี้" คือ คำพูดที่ ฯพณฯ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ ภายในสัมมนาเชิงกลยุทธ์ ‘Battle Strategy’ ภายใต้หัวข้อ ‘แนวรบประเทศไทยยุค AI: New Business to New Economy วิสัยทัศน์จากผู้นำองค์กรชั้นนำ’
ฯพณฯ ประเสริฐ กล่าวว่า นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 มีการระบาดทั่วโลก ทุกคนได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคที่เทคโนโลยี AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เห็นได้จากการ disrupt ของเทคโนโลยี AI ต่อทุกอุตสาหกรรม ธุรกิจ และวิถีชีวิตของผู้คน
หลายคนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์ ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หรือแม้กระทั่งการประชุมงานทางออนไลน์ ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงจาก ‘เทคโนโลยี AI’ ที่เข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น การปรับตัวให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
โดยในปี 2567 มูลค่าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกคาดว่า จะสูงถึง 1.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.21 ล้านล้านบาท และในปี 2572 รัฐบาลไทยคาดว่า อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตขึ้นจนมีมูลค่ารวมกว่า 8.26 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 27.89 ล้านล้านบาท
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทางรัฐบาลจึงประกาศการใช้เทคโนโลยนีดิจิทัลในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคม เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ ‘เลี่ยงไม่ได้แล้ว’ และ AI กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะใน 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่
- ภาคการผลิต: การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
- ภาคการดูแลสุขภาพ: ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่ง AI จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคด้วย AI การแพทย์ทางไกล และการรักษาแบบเฉพาะบุคคล ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ แม่นยำ และรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
- ภาคการเกษตร: ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรจำนวนมากประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่ง AI จะเข้ามาช่วยพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ การตรวจสอบพืชผลด้วย AI และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
ซึ่งประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดย Google ได้ประกาศการลงทุนในไทย และเร็วๆ นี้ คาดว่า จะมีบริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนมากขึ้นตามนโยบาย cloud-first policy เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลมีมาตรฐานและปลอดภัยขึ้น
แต่การพัฒนา AI ในประเทศไทยให้ยั่งยืนจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม และสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ เนื่องจากปัจจุบัน สัดส่วนบุคลากรในไทยที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี น้อยกว่า 1% เท่านั้น กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากนี้ การใช้ AI ต้องมาพร้อมกับมาตรฐาน และจริยธรรม โดยสำนักงานพัฒนาทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้เริ่มร่างแนวทางการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม แม้อาจไม่เป็นกฎหมายบังคับใช้ แต่จะเป็นแนวทางที่ทุกภาคส่วนสามารถยึดถือได้เพื่อพัฒนา AI ที่เป็นมิตรและส่งเสริมต่อสังคม
ฯพณฯ ประเสริฐ เชื่อว่า AI สามารถลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการสาธารณสุขที่ดีขึ้น โดย AI จะช่วยวิเคราะห์ และปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สนับสนุนมนุษย์
ทั้งนี้ AI ไม่ได้มีเป้าหมายมาแทนที่มนุษย์ แต่จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และทำให้มนุษย์มีความสามารถที่ดีขึ้น หากประเทศไทยมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนา AI ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มขีดความสามารถ และคุณภาพชีวิตของประชาชน นี่เป็นก้าวสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน