พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน หรือ CDU ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมของเยอรมนี เตรียมกลับมามีอำนาจอีกครั้ง หลังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 กุมภาพันธ์ 2025) ท่ามกลางความเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพ เศรษฐกิจ และการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
บรรยากาศที่สำนักงานใหญ่ของพรรค CDU เต็มไปด้วยเสียงเชียร์ หลังจากผลเลือกตั้งถูกเปิดเผยออกมา แต่ขณะเดียวกัน นอกอาคารมีผู้ชุมนุมกลุ่มเล็ก ๆ มารวมตัวกันเพื่อประท้วงต่อนโยบายเข้มงวดด้านการอพยพของฟรีดริช แมร์ซ หัวหน้าพรรค ซึ่งจะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี
แมร์ซขึ้นเวทีประกาศชัยชนะ โดยกล่าวกับผู้สนับสนุนว่า มาเริ่มงานปาร์ตี้กันเถอะ ซึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงที่จะเร่งเริ่มต้นการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยเร็ว
หากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามเอ็กซิสโพล พรรค CDU จะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 28.8% ทำให้แมร์ซ ซึ่งเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมดั้งเดิมที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาลมาก่อน จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในยุโรป
ส่วนพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด ได้รับคะแนนเป็นอันดับสอง ด้วยคะแนน 20.2% โดยบรรยากาศในงานเลี้ยงฉลองผลการเลือกตั้งของ AfD เต็มไปด้วยความตื่นเต้น เพราะคะแนนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยผู้สนับสนุนต่างพากันโบกธงชาติเยอรมันและส่งเสียงเชียร์อลิซ ไวเดิล หนึ่งในผู้นำร่วมของพรรค ซึ่งขึ้นเวทีเพื่อกล่าวต่อฝูงชนด้วยความภาคภูมิใจว่าพรรค AfD นั้นไม่เคยแข็งแกร่งเท่านี้มาก่อน
ขณะเดียวกัน พรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ซึ่งเป็นพรรคกลางซ้ายของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ตามมาที่อันดับสามด้วยคะแนน 16.2% ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพรรค เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2021 ที่พรรคเคยได้รับคะแนนถึง 25.7%
รัฐบาลผสมที่เรียกกันว่า “ไฟจราจร” ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ เป็นการรวมตัวกันอย่างไม่ราบรื่นนักของสามพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันอย่างชัดเจน จนนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลผสม และเป็นเหตุให้ต้องจัดการเลือกตั้งฉุกเฉินในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ปัญหาเรื่องนโยบายผู้อพยพ เศรษฐกิจ และการกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างหนักในเยอรมนี โดยทรัมป์ ยังสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วทั้งยุโรป เมื่อเขาเดินหน้าจัดการเจรจาสันติภาพเกี่ยวกับยูเครนกับรัสเซีย และตัดบทบาทของทั้งผู้นำยูเครนและผู้นำยุโรปออกจากการเจรจา
แมร์ซกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การเป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกาจะเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญสูงสุดของเขา และสิ่งที่ผมให้ความสำคัญสูงสุดคือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับยุโรปโดยเร็วที่สุด เพื่อที่เราจะสามารถก้าวไปสู่การมีอิสรภาพจากสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริงทีละขั้นตอน
ภายใต้ระบบการเมืองของเยอรมนี เป็นเรื่องยากที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้รับคะแนนเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเพียงลำพัง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า แมร์ซอาจเชิญพรรค SPD ของชอลซ์ ซึ่งเป็นพรรคสายกลางหลักอีกพรรคหนึ่งของเยอรมนี มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล อีกหนึ่งพันธมิตรที่เป็นไปได้คือพรรคกรีนส์ (Greens) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสม “ไฟจราจร” ภายใต้การนำของชอลซ์ แต่โดยรวมแล้ว อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจในนโยบายผู้อพยพ และเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น สำหรับหลายคน เยอรมนียังคงถูกมองว่าเป็น “ดินแดนแห่งการอพยพ” โดยมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอรับสถานะลี้ภัยอาศัยอยู่มากกว่าสามล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศใด ๆ ในยุโรป
แรงจูงใจสำคัญสำหรับผู้อพยพบางส่วนคือ ความต้องการแรงงานฝีมือของเยอรมนี และผลประโยชน์ทางสังคมที่เอื้อเฟื้อ แต่ในปีที่ผ่านมา จำนวนคำร้องขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นกว่า 50% ทำให้ระบบรับผู้อพยพเข้าสู่ภาวะวิกฤต พรรคการเมืองต่างๆเริ่มฉวยโอกาสจากกระแสความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้น โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลล้มเหลวในการควบคุมจำนวนผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ผลจากแรงกดดันนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีชอลซ์ ตัดสินใจหันเหจากแนวทางเดิมอย่างเป็นประวัติการณ์ ด้วยการออกมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการอพยพ
เมื่อปี 2022 ทางการได้เปิดศูนย์รับผู้อพยพที่สนามบินนานาชาติ เทเกล-เบอร์ลิน ซึ่งถูกปิดถาวรในปี 2020 หลังจากที่มีชาวยูเครนหลายพันคนหลบหนีการรุกรานอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียและเดินทางมาถึงทุกวัน ปัจจุบัน ศูนย์ดังกล่าวกลายเป็นค่ายผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี โดยมีผู้อพยพและผู้ขอรับสถานะลี้ภัยอาศัยอยู่ประมาณ 5,000 คน ศูนย์แห่งนี้ได้ขยายหลายครั้งเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และสามารถรองรับได้สูงสุดถึง 7,000 คน อย่างไรก็ตาม ศูนย์ได้ถึงขีดความสามารถสูงสุดแล้ว และทางการระบุว่าจะไม่มีการขยายเพิ่มเติมอีก
ในปี 2023 มีผู้ยื่นขอลี้ภัยในเยอรมนีเกือบ 300,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งในตอนนั้นเยอรมนีรับผู้อพยพมากกว่าหนึ่งล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาว ซีเรีย, ตุรกี และ อัฟกานิสถาน
เมื่อศูนย์รับผู้อพยพเข้าสู่ภาวะวิกฤต การผสมผสานทางสังคมกลายเป็นความท้าทายที่จุดกระแสต่อต้านผู้อพยพให้รุนแรงขึ้นทั่วประเทศ ในปีที่ผ่านมา พรรคขวาจัดอย่าง AfD ประสบความสำเร็จอย่างไม่เคยมีมาก่อนในการเลือกตั้งท้องถิ่น
เดวิด คิปป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพจาก German Institute for International and Security Affairs (SWP) อธิบายว่า เมื่อมีผู้อพยพจำนวนมากขนาดนี้ และประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่ากำลังสูญเสียการควบคุม ประเด็นผู้อพยพจึงทวีความตึงเครียดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้กระแสคัดค้านการอพยพจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนออกมาชุมนุมตามท้องถนนทั่วเยอรมนี เพื่อประท้วงต่อต้านกลุ่มขวาจัด หลังจากมีการเปิดโปงแผนการสมรู้ร่วมคิดระหว่างสมาชิกบางรายของพรรค AfD กับกลุ่มนีโอนาซี โดยมีเป้าหมายที่จะเนรเทศผู้อพยพนับล้านคนออกจากประเทศ รวมถึงผู้ที่ถือสัญชาติเยอรมันแล้วด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้พรรค AFD ไม่สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ได้