Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
3 คำอธิบายสภาพ SME ไทยวันนี้ " เสี่ยง  ซึม  เศร้า "
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

3 คำอธิบายสภาพ SME ไทยวันนี้ " เสี่ยง ซึม เศร้า "

24 ก.พ. 68
14:16 น.
|
219
แชร์

เรามักจะได้ยินว่าภาคส่วนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดของเศรษฐกิจไทยคือ “ธุรกิจ SME” เพราะเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีเงินทุนหรือสายป่านยาวนัก จึงทนต่อแรงเสียดทานจากสภาพการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การแข่งขันขันที่รุนแรงได้น้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ 

รายการ SPOTLIGHT Live Talk  ได้พูดคุยกับคุณแสงชัย ธีระกุลวานิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แขกรับเชิญที่มาถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่น่าเป็นห่วงของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจากนี้ไป 

SME ไทยเสี่ยง ซึม เศร้า 

เสี่ยง ซึม เศร้า คือคำนิยามของสภาพเอสเอ็มอีไทยในปัจจุบันที่คุณแสงชัยบอกกับเราในรายการ ซึ่งขยายความได้ดังนี้ 

เสี่ยง ในที่นี้คือ ความเสี่ยงรอบด้านที่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยกำลังเผชิญ เป็นความเสี่ยงที่มีความซับซ้อนและท้าทายปัจจัยเสี่ยงหลักมีอยู่ 5 เรื่อง 

  1. สงครามภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า  ความขัดแย้งระหว่างประเทศส่งผลต่อการค้าและการลงทุน รวมถึงนโยบายทางการค้าของมหาอำนาจ เช่น นโยบายของ "ทรัมป์ 2.0" และการตอบโต้จากจีน
  2. สงครามโลกและเทคโนโลยี  การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ AI ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว
  3. การแข่งขันด้านขีดความสามารถของแรงงาน  เอสเอ็มอีต้องพัฒนาทักษะของแรงงานเพื่อความอยู่รอด
  4. ต้นทุนที่สูงขึ้นและการเข้าถึงแหล่งทุน ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นอุปสรรคสำคัญ
  5. ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เสีย  แม้หนี้ครัวเรือนลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงและเป็นภาระหนักสำหรับภาคธุรกิจขนาดเล็ก
3 คำอธิบายสภาพ SME ไทยวันนี้ " เสี่ยง  ซึม  เศร้า "

ซึม นิยามความหมายของคำว่าซึมคือธุรกิจ SME ไทยที่เป็นฐานรากไปต่อได้ค่อนข้างยากเพราะมีปัจจัยที่แข่งขันไม่ได้ ทั้งในแง่ต้นทุนการผลิต  การเข้าถึงสินเชื่อ แหล่งเงิน รวมไปถึงตลาด ล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัด ทำให้SME ยากในการที่จะ Transform ตัวเองไปสู่ตลาดใหม่ๆ มาตรฐานการผลิตคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ล้วนแล้วแต่เป็นกับดักที่ทำให้เอสเอ็มอีไทยไปต่อได้ยากและส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจที่มีภาวะการซึมตัวลง

เศร้า เรื่องเศร้าของ SME ในที่นี้คือ SME ไทยติดกับดักหนี้ครัวเรือน ถึงแม้ว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะลดลงบ้างแล้วและอยู่ระดับไม่เกิน 90% ของGDP ไทย แต่หนี้ครัวเรือนยังอยู่สภาพที่เป็นความเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียและมีหนี้นอกระบบมากมาย  

การอธิบายถึงคำว่าเสียงซึมเศร้าของคุณแสงชัยพอจะบ่งบอกถึงสถานการณ์ที่ยากลำบากของธุรกิจ SME ได้เราได้ถามคุณแสงชัยว่าสถานการณ์ในวันนี้เทียบกับเมื่อตอน โควิด-19 ที่เราเห็นว่าธุรกิจจะต้องปิดกิจการหรือประเทศจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ล็อกดาวน์สถานการณ์ไหนกระทบกับธุรกิจ SME มากกว่ากันคุณแสงชัยตอบอย่างไม่ลังเลว่า สถานการณ์ปัจจุบันธุรกิจ SME ไทยเผชิญกับความยากลำบากหนักกว่าตอนสถานการณ์ โควิด-19 ปัญหา และปัญหาใหญ่ที่สุดของเอสเอ็มอีคือเรื่อง “หนี้สิน”

ปัญหาหนี้สิน: กับดักสำคัญของเอสเอ็มอีไทย

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งเอสเอ็มอีไทยคือปัญหาหนี้สิน  SME ไทยมีปัญหาหนี้สินมากกว่าที่หลายคนรับรู้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ จากข้อมูลไตรมาส 4/2567 คุณแสงชัยให้ข้อมูลกับเราว่า 

  • เอสเอ็มอีไทยที่เป็นหนี้ในระบบมีเพียง 29%
  • เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้นอกระบบเพียวๆ มีสูงถึง 46%
  • เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ (Hybrid) มี 25%

สาเหตุที่ทำให้เอสเอ็มอีมีหนี้สินจำนวนมาก ดูเหมือนมาจากปัญหาหลายมิติ แต่ที่สำคัญคือ เอสเอ็มอีไทย ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีเองได้ด้วยสาเหตุเช่น 

  • มีหลักประกันไม่เพียงพอที่จะขอสินเชื่อ
  • คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ธนาคาร
  • ขาดประวัติทางการเงินที่น่าเชื่อถือ
  • เอกสารรายได้และงบการเงินไม่สอดคล้องกัน

หลักๆเห็นจะเป็นปัญหาความรู้ทางการเงินในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ และจากข้อมูลยังพบว่า ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่คอยช่วยเหลือ SME ไทยอยู่ในเวลานี้คือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยรับภาระดูแล SME ถึง 22% ส่วนธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเพียง 11% ดังนั้นหากเอสเอ็มอี ไม่สามารถเข้าสู่เงินในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ ธุรกิจจำนวนมากจึงวิ่งเข้าหาหนี้นอกระบบ หรือ สินเชื่อจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ซึ่งบางกรณีมีดอกเบี้ยสูงถึง 36% เมื่อภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นกับดักหนี้ที่SME ไทยยากจะหลุดพ้น

ความน่าเป็นห่วงอีกประการคือ เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่เป็นรายเล็กมาก ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 75% ของ SME ไทยทั้งหมด 3.2 ล้านรายตามข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)นั่นแปลว่า ผู้ประกอบการตกอยู่ในสภาวะที่อ่อนแออย่างหนัก และเมื่อวันที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้านจึงทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากสู้ไม่ไหว ปิดกิจการ ล้มหายตายจากไปจากระบบจำนวนมากกว่าที่เห็น 

ธุรกิจ SME ไทย ปิดกิจการไปมากกว่าที่รับรู้ 

พูดถึงความหมายของธุรกิจ SME ในไทยหลายคนอาจจะยังสับสนว่า แบบไหนคือ S,M,E กันแน่ ซึ่งคุณแสงชัย อธิบายให้เราฟังว่า ผู้ประกอบการ SME ตามข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)สามารถแบ่งเอสเอ็มอีไทยออกเป็น 3 กลุ่ม

ประเภทของ SME 

ไมโครเอสเอ็มอี (Micro SMEs) คือ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีจำนวนคิดเป็น 85% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด หรือประมาณ 2.7 ล้านราย กลุ่มนี้ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า  5 ล้านคน

เอสเอ็มอีขนาดเล็ก (Small SMEs) มีจำนวนประมาณ 400,000 ราย โดยมีเกณฑ์คุณสมบัติแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มการผลิตและกลุ่มภาคบริการ 

หากอยู่ในภาคการผลิต  ต้องมีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี
หากอยู่ในภาคการค้าและบริการ รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี

เอสเอ็มอีขนาดกลาง (Medium SMEs) ปัจจุบันมีประมาณ 50,000 ราย  โดยมีเกณฑ์คุณสมบัติแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มการผลิตและกลุ่มภาคบริการ 

ภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี
ภาคการค้าและบริการ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี

จากข้อมูลจะเห็นว่าเอสเอ็มอีไทยมีบทบาทสำคัญมากในการจ้างงาน คิดเป็น 70% ของการจ้างงานในภาคเอกชนทั่วประเทศ ดังนั้นหากภาคเอสเอ็มอีอยู่ในภาวะยากลำบาก การบริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

3 คำอธิบายสภาพ SME ไทยวันนี้ " เสี่ยง  ซึม  เศร้า "

คุณแสงชัยระบุว่า จำนวนการปิดโรงงานที่มีการระบุว่า เป็นเอสเอ็มอีเดือนละ 100 ราย ในสภาพความเป็นจริงน่าจะมีจำนวนที่มากกว่านั้น เพราะข้อมูลที่เราใช้มาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น 

แต่สภาพความเป็นจริงเอสเอ็มอีมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนคือ เอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล เอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดา และเอสเอ็มอีที่เป็นวิสาหกิจชุมชนต่างๆ 

ซึ่งกรณีผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มนิติบุคคล แต่มีสภาพเป็นผู้ประกอบการที่ยื่นงบเปล่า ไม่มีรายได้ครับก็สะท้อนอาการของธุรกิจที่ย่ำแย่ไม่มี activity กลุ่มนี้เปรียบเหมือนมีเพียงลมหายใจอยู่เท่านั้นแต่ธุรกิจแทบจะไปต่อไม่ได้แล้ว ซึ่งคุณแสงชัยประเมินว่าตัวเลขธุรกิจไปต่อไม่ไหวน่าจะมากกว่าที่เห็นจากตัวเลขของทางการหลายเท่า

ข้อเสนอทางรอดของ SME ไทย

3 คำอธิบายสภาพ SME ไทยวันนี้ " เสี่ยง  ซึม  เศร้า "

คุยกันมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบัน SME ไทยเผชิญกับปัญหาสำคัญหลายปเรื่องพร้อมๆกัน โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนที่ต้นทุนต่ำ และการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ แม้ว่าภาครัฐและสถาบันการเงินจะมีโครงการช่วยเหลือ แต่ยังคงมีอุปสรรคที่ต้องแก้ไขทำให้สมาพันธ์ SME ไทยมีข้อเสนอแนะใน 6 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. นิยาม SME ที่แตกต่างกัน

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือความไม่สอดคล้องกันของนิยาม SME ระหว่างสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐ หากสามารถกำหนดนิยามที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จะช่วยให้การวางยุทธศาสตร์และออกแบบนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม

2. การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

การช่วยเหลือผู้ประกอบการเพียงแค่ลดภาระเงินต้นและดอกเบี้ยอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากยังมี SME จำนวนมากที่ติดอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบ รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อให้ SME หลุดพ้นจากภาวะหนี้สินที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

3. กลไกการพัฒนาและการส่งต่อ SME

ปัจจุบัน SME จำนวนมากขาดแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สสว. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ควรเข้ามามีบทบาทในการช่วยส่งเสริมและพัฒนา SME ให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. การยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการและแรงงาน

มีตัวอย่างหลายประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไต้หวัน ที่รัฐได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา SME ผ่านโครงการ Upskill และ Reskill เช่น ในประเทศจีน มีโครงการ "Little Giant" ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม และช่วยพัฒนาให้เป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรม AI, EV และพลังงานสะอาด เป็นต้น 

อินโดนีเซียเองก็มีโครงการ "Kartu Prakerja" ที่ให้เงินอุดหนุนประชาชนเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะผ่านหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน โครงการนี้ส่งผลให้ประชากร 17.5 ล้านคนได้รับการ Upskill ภายใน 3 ปี  ซึ่งประเทศไทยสามารถนำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการ SME ได้เช่นกัน 

5. การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อ SME

การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังมีอุปสรรคด้านกฎหมายที่ซับซ้อน งานวิจัยของ TDRI ระบุว่ามีกระบวนงานถึง 1,094 รายการที่ต้องแก้ไข หากสามารถทำให้กฎหมายมีความกระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจคล่องตัว ลดปัญหาคอร์รัปชัน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ไทย

6. การควบคุมทุนข้ามชาติและการขยายโอกาสให้ SME ไทย

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการกำกับดูแลทุนข้ามชาติ รวมถึงทุนเทาที่อาจส่งผลกระทบต่อ SME ไทย รัฐบาลควรมีกลไกในการตรวจสอบที่โปร่งใส และเปิดช่องทางให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังควรสนับสนุนให้ SME ไทยสามารถขยายธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศ และลดการพึ่งพาสินค้าและบริการจากต่างชาติ

3 คำอธิบายสภาพ SME ไทยวันนี้ " เสี่ยง  ซึม  เศร้า "

แม้ว่าการปิดกิจการของ SME จะเป็นธรรมชาติของธุรกิจ แต่ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ภาครัฐและเอกชนควรทำงานร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สงครามการค้า และการแข่งขันด้านเทคโนโลยี หาก SME ไทยสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภาครัฐ ก็จะสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ติดตามการสัมภาษณ์พิเศษ ประธานสมาพันธ์ SME ในรายการ SPOTLIGHT Live Talk วันอังคารที่ 25 ก.พ.2568

แชร์
3 คำอธิบายสภาพ SME ไทยวันนี้ " เสี่ยง  ซึม  เศร้า "