วิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ คือปัญหาเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อมานานหลายปีในประเทศจีน และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ตั้งใจซื้อบ้าน เมื่อพวกเขาต้องเป็นหนี้ พวกเขาก็อยากจะมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่หลังฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ระดับประเทศล้ม ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากตกอยู่ในสภาพเป็น “หนี้” จากการผ่อนบ้านที่พวกเขาไม่ได้อยู่ เพราะยังสร้างไม่เสร็จ หลังโครงการถูกทิ้งร้างเอาไว้เป็นจำนวนมาก
หวัง ชายหนุ่มวัย 24 ปี ตั้งใจซื้อบ้านในเมืองหนิงโปตั้งแต่ปี 2021 ในประเทศจีน การซื้อบ้านจะเริ่มกู้ธนาคารและต้องผ่อนชำระหนี้ตั้งแต่โครงการเริ่มขาย ในช่วงปลายปี 2023 การก่อสร้างหยุดชะงักเพราะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขาดสภาพคล่อง และยังไม่รู้ว่าจะสามารถกลับมาก่อสร้างได้อีกเมื่อใด แต่หวังยังคงต้องผ่อนชำระหนี้ให้ธนาคารอยู่
หวังเล่าว่า บริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯ ใช้ข้ออ้างต่างๆ ในการให้เหตุผลว่าทำไมโครงการถึงหยุดชะงัก ทั้งโควิดหรือฤดูพายุไต้ฝุ่น แต่พอลูกค้าเริ่มออกมาตั้งคำถามมากขึ้น พวกเขาก็ยอมรับความจริงว่าไม่มีเงินพอที่จะสร้างต่อ หวังบอกว่า ต่อไปนี้จะไม่ซื้อบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จเด็ดขาด และจะไม่เชื่อคำพูดของรัฐบาลหรือใครก็ตาม
หวังยังสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมของสัญญาซื้อขายบ้าน โดยเขาบอกว่า หลายเงื่อนไขในสัญญาไม่เป็นธรรม แต่ทำอะไรไม่ได้ ต้องเซ็นอย่างเดียว ไม่มีทางเลือก มันเป็นสถานการณ์ที่เขารู้สึกไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง
สำหรับชาวจีนอีกหลายคนที่เจอปัญหาคล้ายหวัง พวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจากการต้องหยุดชำระหนี้ เพราะเมื่อไม่ได้รับมอบบ้าน พวกเขาก็ต้องนำเงินไปเช่าบ้านหลังอื่นอยู่ก่อน ดังนั้นการจะมาจ่ายค่าผ่อนบ้านทุกเดือน โดยไม่รู้ว่าจะได้อยู่เมื่อใด เป็นเรื่องที่เกินกำลังความสามารถของหลายคนจริงๆ
ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จีน เปิดเผยว่า ราว 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนเร่งพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็ว รัฐบาล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทั้งประเทศ จะนำที่ดินออกมาประมูลเพื่อให้บริษัทอสังหาฯ ไปพัฒนาสร้างบ้านขายประชาชนต่อ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ในช่วงที่อสังหาริมทรัพย์จีนกำลังรุ่งเรือง ประชาชนแห่ซื้อบ้าน กลับเกิดการปั่นราคาในที่สุด
รัฐบาลกลางพยายามสกัดการปั่นราคาบ้านและอสังหาฯ ความร้อนแรงของตลาดก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้กระทบเป็นวงกว้าง ในที่สุดก็นำไปสู่สายป่านขาด บริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯ กู้เงินมาเพื่อทำโครงการ แต่ไม่มีเงินไปจ่าย ทำให้บริษัทล้ม ส่วนประชาชนก็ไม่ได้บ้าน ที่ดินที่ยังสร้างไม่เสร็จก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง
รายงานระบุว่า ผู้ซื้อบ้านที่ประสบปัญหาผ่อนบ้านแต่ไม่ได้บ้าน พยายามร้องเรียนตามขั้นตอนของรัฐบาล แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร เมื่อไปยื่นเรื่องที่สำนักงานก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับ
ดร.ร่มฉัตรยังบอกอีกว่า เมื่อประชาชนผ่อนบ้าน แต่ไม่มีบ้านอยู่ หลายคนตัดสินใจเลิกผ่อน แล้วยอมติดเครดิตบูโร บางคนก็พยายามเข้าไปประนีประนอมกับธนาคาร แต่ไม่ใช่ทุกรายที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะส่วนใหญ่ธนาคารต้องทำตามกระบวนการ
ในฝั่งของบริษัทอสังหาฯ รัฐบาลเข้าไปอุ้มด้วยการให้ธนาคารออกเงินกู้ เพื่อให้บริษัทสร้างบ้านให้เสร็จ เพื่อส่งมอบประชาชน อย่างไรก็ตาม มีบริษัทที่ต้องปรับโครงสร้างและล้มไปมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
บางโครงการกลับมาก่อสร้างต่อได้ ประชาชนได้บ้าน แต่บางโครงการก็ส่งต่อประชาชนแบบลวกๆ เป็นความเสี่ยงที่ประชาชนต้องเจอ
นอกจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จะเป็นงานใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไข แต่แท้จริงแล้ว รัฐบาลยังมีหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องบริหารจัดการและต้องพยายามแก้ปัญหาอย่างเงียบๆ พยายามไม่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชน นั่นก็คือ “หนี้แฝงรัฐบาลท้องถิ่น”
หนี้แฝงรัฐบาลท้องถิ่นเกิดมาจากสองปัจจัยหลัก หนึ่งคือการขยายโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็วตามมณฑลต่างๆ แต่โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้มีรายรับกลับเข้ามา หากมองในแง่ของการลงทุนแล้ว มันไม่คุ้มกับการลงทุน แต่สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน ประการที่สอง คือ วิกฤตอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง
ข้อมูลทางการเงินของจีน ณ สิ้นปี 2023 ระบุว่า หนี้สาธารณะรวมอยู่ที่ 71 ล้านล้านหยวน หรือ 69% ของ GDP โดยแบ่งเป็น
หากพิจารณาตามตัวเลขเหล่านี้ จีนยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภาระหนี้ภาครัฐต่ำเมื่อเทียบกับประเทศหลักทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ที่แท้จริงของรัฐบาลท้องถิ่นสูงกว่าตัวเลขทางการมาก เนื่องจากมีหนี้แฝงที่เกิดจากหน่วยงานที่เรียกว่า Local Government Financing Vehicles (LGFVs) ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นตั้งขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในการกู้ยืมโดยตรง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า หนี้ของ LGFVs ณ ปี 2023 อยู่ที่ 60 ล้านล้านหยวน หรือ 48% ของ GDP เพิ่มขึ้นจาก 13% ของ GDP ในปี 2014 ส่งผลให้หนี้สาธารณะของจีนที่แท้จริง (ตามเกณฑ์ของ IMF) อยู่ที่ 117% ของ GDP สูงกว่าตัวเลขทางการที่ 69%
แม้ว่าระดับหนี้ดังกล่าวจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤตเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่แนวโน้มหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s และ Fitch ตัดสินใจปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของจีนเป็นเชิงลบ ในเดือนธันวาคม 2023 และเมษายน 2024 ตามลำดับ
ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีนประกาศว่า ความเสี่ยงจากหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นได้รับการบรรเทาอย่างมีประสิทธิภาพได้แล้ว หลังรัฐบาลท้องถิ่นของจีนได้ออกพันธบัตรรวมมูลค่า 2.96 ล้านล้านหยวน เพื่อทดแทนหนี้เดิมที่มีอยู่
ในปีที่ผ่านมา จีนได้ออกพันธบัตรมูลค่า 2 ล้านล้านหยวนเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยลดลงมากกว่า 2.5 เปอร์เซ็นต์
คาดว่าพันธบัตรดังกล่าวจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้มากกว่า 200,000 ล้านหยวนภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินทุนและต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลสามารถบรรเทาปัญหาได้มากน้อยเพียงใด เพราะการแก้ปัญหาหนี้แฝงรัฐบาลท้องถิ่นเป็นเรื่องยาก แม้ว่ารัฐบาลกลางของจีนจะพยายามควบคุมและลดปัญหาหนี้แฝง แต่รัฐบาลกลางก็ไม่สามารถรับผิดชอบหนี้เหล่านี้ทั้งหมดได้ และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลท้องถิ่นได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในอนาคต