"โรคพิษสุราเรื้อรัง" เสี่ยง ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

29 ก.ค. 67

ผู้ที่เป็น "โรคพิษสุราเรื้อรัง" มีความเสี่ยงต่อการเกิด "ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน" มากกว่าคนปกติทั่วไป 3 - 4 เท่า

วันที่ 29 ก.ค.67 "หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี เผยข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ โดยระบุว่า "เตือน! โรคพิษสุราเรื้อรัง เสี่ยง! ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ปอดได้ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคพิษสุราเรื้อรังมักมีพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การสูบบุหรี่ และการมีสุขอนามัยที่ไม่ดี

การติดเชื้อที่ปอด (Pneumonia) เป็นภาวะที่เนื้อปอดและถุงลมปอดติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการปอดบวม ผู้ป่วยมักมีอาการไอมีเสมหะ หายใจลำบาก และเจ็บหน้าอก การติดเชื้อที่ปอดอาจรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้จากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome: ARDS) โดยเฉพาะในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome: ARDS) มากกว่าคนปกติทั่วไปถึง 3 - 4 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 40 - 50 เปอร์เซ็นต์

ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง หากต้องการงดดื่มสุรา ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับคนทั่วไปไม่แนะนำให้ดื่มนะครับ"

1722242668180

พิษสุราเรื้อรัง คืออะไร

พิษสุราเรื้อรังเป็นโรค ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ จนกระทั่งเกิดอาการทางประสาทและทางร่างกาย

อาการของผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง

1. มีความอยากหรือกระหายอย่างมากที่ต้องการจะดื่มสุรา คุมตัวเองไม่ได้ หมายถึงการที่ผู้ติดสุราพยายามจะเลิกสุราหลายครั้งหลายหน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ

2. เมื่อห่างจากสุราจะมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก มือสั่น กระวนกระวายและอาการดังกล่าวมักจะหายไป เมื่อดื่มสุราหรือกินยานอนหลับ

3. อาการเหมือนดื้อยา คือ มีความต้องการดื่มสุราในขนาดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้สุราออกฤทธิ์เท่าเดิม

ผู้ที่เป็นพิษสุราเรื้อรังส่วนใหญ่หยุดดื่มเหล้าไม่ได้ แต่ถ้าได้รับการช่วยเหลือและการรักษา หลายคนก็สามารถหยุดสุราได้

สัญญาณที่บอกว่าการดื่มของคุณเริ่มเป็นปัญหา

การดื่มของคุณเริ่มกระทบต่อสุขภาพ กระทบต่อหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์กับบุคคล หรือปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อรับการช่วยเหลือเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก : โรงพยาบาลรามาธิบดี / สสส.

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด