ควรรับมืออย่างไร เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าต้องเจอกับน้ำท่วม

28 ส.ค. 67

ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าฝนตกน้ำท่วมไปทั่วบ้านทั่วเมือง มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำเต็มไปหมด ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนที่ประสบภัยน้ำท่วมกันอยู่ตอนนี้ด้วย มาว่ากันถึงยานพาหนะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุคนี้ที่คนผู้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะต้องขับผ่านน้ำท่วมนั้น จะขับอย่างไรให้ปลอดภัย มีวิธีดูแลและป้องกันอย่างไร นอกจากนี้เรายังมีทรรศนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์จะมาให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้กันด้วย

อันดับแรกการตรวจเช็กรถเพื่อกันไว้ดีกว่าแก้ ก่อนจะขับรถยนต์ไฟฟ้าไปลุยน้ำ นับเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง เรียกว่า เตรียมรับมือไว้ก่อนจะดีกว่า หากรอให้เสียหาย อาจจะต้องใช้เงินแก้ไข หรือซ่อมแซมมากกว่าที่ควรจะเป็น ขอแนะนำให้ตรวจเช็กในจุดต่างๆ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ต่างจากรถยนต์เครื่องสันดาปทั่วไป ก่อนออกจากบ้านควรตรวจเช็กจุดไหนก่อนบ้าง

ควรตรวจเช็กรถจุดไหน

  • ใบปัดน้ำฝน

ตรวจใบปัดน้ำฝนว่ายังใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่ ยางของใบปัดยังมีคุณสมบัติการกวาดน้ำบนกระจกดีอยู่หรือเปล่า ถ้ายางยังอยู่ในสภาพดี ควรจะกวาดน้ำบนกระจกให้หมดได้ ภายในครั้งเดียวหรือเต็มที่ไม่ควรเกินสองครั้ง หากใช้จำนวนการปัดมากครั้งกว่านี้ จึงกวาดน้ำบนกระจกได้หมด ก็ควรเปลี่ยนยางปัดน้ำฝนใหม่ได้เลย

002_o

  • ยางรถและลมยาง

ส่วนใหญ่แล้ว รถยนต์ไฟฟ้า ต้องใช้ยางที่อออกแบบมาเพื่อรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เนื่องจากมีอัตราเร่งค่อนข้างเยอะ แต่ก็ควรตรวจเช็กสภาพยางรถและปริมาณลมยาง ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน ความดันลมยางต้องอยู่ในระดับที่กำหนด ถ้าเป็นรถยนต์นั่งหรือรถเก๋งทั่วๆ ไป มักกำหนดความดันลมยางอยู่ในช่วง 28 – 36 ปอนด์/ตารางนิ้ว(PSI) ขึ้นอยู่กับขนาดยางและน้ำหนักบรรทุก สภาพโดยทั่วๆ ไปของยางรถยนต์ต้องดี แก้มยางต้องไม่มีรอยปริแตก ร่องยางต้องเหลือความลึกไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร

  • ไฟเตือน ไฟสัญญาณต่างๆ

เช็กไฟเตือน ไฟสัญญาณต่างๆ ว่าสามารถใช้การได้ดีหรือไม่ เช่น ลองเปิดไฟหน้าดูว่าใช้งานได้ดีทุกตำแหน่งหรือไม่ สวิทช์ไฟสูงทำงานหรือไม่ ไฟเลี้ยว ไฟฉุกเฉินติดครบทุกหลอดหรือไม่ โดยเฉพาะไฟเบรกต้องติดครบทุกหลอดเมื่อมีการเหยียบเบรก ไฟหรี่ ไฟถอย เมื่อเปิดหรือเข้าเกียร์ถอยติดสว่างดีหรือไม่ ฯลฯ

รถไฟฟ้าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องขับรถผ่านน้ำท่วม

สำรวจเส้นทางก่อนการเดินทางให้ดี หากหลีกเลี่ยงได้ ควรขับรถอ้อมเส้นทางปกติที่มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากจะสามารถลดความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะน้ำท่วมได้ แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริงๆ การขับรถผ่านพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง มีข้อควรปฎิบัติ ดังนี้

ใช้ความเร็วต่ำ

ไม่ควรใช้ความเร็วสูงวิ่งผ่านน้ำท่วม แม้ว่าส่วนมากรถยนต์ EV จะไม่มีระบบเกียร์ มอเตอร์และระบบของรถยนต์ไฟฟ้าจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพการขับขี่โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ในรถยนต์ EV หลาย ๆ รุ่นก็มาพร้อมกับระบบการขับขี่ที่ผู้ขับสามารถเลือกให้เหมาะสมได้ด้วย

อย่าเร่งเครื่องแรงๆ

คนขับหลายๆ คนเกรงน้ำจะเข้าแบตเตอรี่ แต่ในความจริงแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ามีการออกแบบให้มีระบบป้องกันน้ำเข้าเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าภายในรถ ต้องคำนึงถึงกระแสความแรงของน้ำ รวมไปถึงความสูงของพื้นถนนนั้นๆ อีกด้วย และที่สำคัญคือไม่ควรจอดรถแช่น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบทำงานต่างๆ ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เสี่ยงต่อการลัดวงจร

ค่อยๆ เบรกซ้ำๆ บ่อยๆ

เมื่อพ้นจากพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว สิ่งอันตรายคือ "เบรกลื่น" วิธีการง่ายๆ ที่จะแก้ไขได้ คือ ค่อยๆ เหยียบเบรก เหยียบย้ำๆ เบาๆ แต่ทำบ่อยๆ การเหยียบเบรกแรงๆ อาจจำให้เกิดการล็อคของระบบเบรก ทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ นอกจากนี้การเหยียบเบรกแรงๆ จะทำให้เกิดความร้อนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จานเบรกคดจากการขยายตัวและหดตัวของเนื้อเหล็กได้

ปิดแอร์

ปิดแอร์เมื่อลุยผ่านน้ำท่วมขัง การทำงานของพัดลมระบายความร้อน และสายพานจากคอมเพสเซอร์แอร์ซึ่งปกติมักจะติดตั้งอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้ตีน้ำเข้าให้ห้องเครื่อง ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับ หรือ ตีเศษขยะ ถุงพลาสติก หรือเศษไม้ขึ้นมาทำความเสียหายให้แก่เครื่องยนต์ได้ ระบบระบายความร้อนควรอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพราะการปิดแอร์จะทำให้พัดลมระบายความร้อนจากแอร์หยุดทำงาน หากระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์จุดอื่นไม่สมบูรณ์จะส่งผลเสียหายต่อรถได้ 

01

รถยนต์ไฟฟ้าจอดตากฝนได้หรือไม่

รถยนต์ไฟฟ้าทุกคันนั้นผ่านมาตรฐานการกันน้ำ โดยระบบมอเตอร์ไฟฟ้ากับแบตเตอรี่ถูกออกแบบมาให้กันน้ำกันฝุ่นได้ในระดับ IP67 และ IP54 คือค่ามาตรฐานในการป้องกันของเหลว หรือของแข็งเข้าไปสู่ภายในระบบ ตัวรถสูงก็ยิ่งดีต่อการกระทบกระเทือนจากพื้น หรือการกระแทกจากคลื่นน้ำท่วมขัง ถ้ารถไม่สูงมากก็ต้องระวังกันหน่อยพิเศษ ขับช้าๆ ด้วยความเร็วต่ำๆ เพื่อให้ผ่านจุดที่มีน้ำท่วมน้ำขังไปได้

ส่วนท่านที่กังวลว่าขณะฝนตกรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หมดสามารถนำไปชาร์จไฟได้หรือไม่ รถยนต์ไฟฟ้าทุกคันนั้นสามารถชาร์จไฟขณะฝนตกได้ตามปกติ ซึ่งสถานีชาร์จนั้นมีระบบเซฟตี้อย่างดี แท่นชาร์จมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ตู้ชาร์จติดตั้งระบบตัดไฟรั่ว ส่วนเต้ารับไฟของรถยนต์ไฟฟ้าทุกคันมีมาตรฐานการกันน้ำกันฝุ่น มีเซนเซอร์ตรวจจับพร้อมตัดไฟทันทีเมื่อเกิดไฟรั่ว จึงมั่นใจได้บนความไม่ประมาทเช่นกัน 

ถึงแม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะออกแบบมาเพื่อป้องกันน้ำได้ก็จริง แต่ความแน่นอนย่อมไม่แน่นอน ให้ระมัดระวังเลี่ยงพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงขณะฝนตก เลี่ยงการจอดรถยนต์ไฟฟ้าตากฝนเป็นเวลานานๆ ให้หาที่จอดในที่ร่ม หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้รถยนต์ไฟฟ้าในขณะฝนตกจริงๆ ให้ขับช้าๆ เว้นระยะห่าง ปิดแอร์เมื่อลุยผ่านน้ำท่วมขัง หากจะให้อุ่นใจยิ่งขึ้นควรทำประกันเพื่อเพิ่มความมั่นใจตอนขับขี่ 

istock-1343762119

ทรรศนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์

ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ "คุณยุทธนา กัลยามงคล" อดีตผู้จัดการฝ่าย เทคนิค บ. เรเว่ ออโตโมทีฟ, อดีตฝ่ายฝึกอบรม Volvo Car Thailand, อดีตผู้จัดการฝ่ายเทคนิค บ.3K แบตเตอรี่ ให้ความเห็นว่า

สำหรับแบตรถไฟฟ้าในไทยตอนนี้ ที่กันน้ำดีที่สุด คือ IP68 ใน NETA X. ที่เหลือ IP67. แต่ IP67 หลายรุ่นเจอน้ำ ไม่รอด แต่อย่าไปลงเลย หากจะนำไปเจอน้ำท่วมต้องวิเคราะห์ ดังนี้

  • ความสูงและความแรงของน้ำ ถ้าเกินครึ่งล้อ ควรวางแผนดีๆ
  • ถ้าเลี่ยงไม่ได้ แชะระยะทางไม่ไกล ค่อยๆ ใช้ความเร็วต่ำ walking speed ไปเรื่อยๆ ไม่ควรเติมคันเร่ง
  • กรณีรถเป็น เจนเนอเรชั่นแรกๆ หรือ ในกลุ่มผู้ใช้พบว่า ลุยน้ำดับ ไม่ควรลุยน้ำ

คร่าวๆ ประมาณนี้ เพราะรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ มันอยู่ต่ำ รถ Generation แรกๆ วาล์วหายใจแบตเตอรี่ มันน้ำเข้าง่ายๆ จริงๆ แทบจะควรเลี่ยงเลย เช่น MG EP ES ZS. 

สำหรับทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์อย่าง "คุณชนธิป พฤกษ์ประมูล" ที่อดีตเคยเป็นผู้จัดการศูนย์บริการของบริษัท HKS Thailand คนแรก, ฝ่ายอบรมและประสานงาน oversea ทางด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ใหม่, ผู้จัดการศูนย์บริการบริษัทออโต้คาร์, อดีตพิธีกร รายการ SocietyCar และปัจจุบันประกอบธุรกิจซ่อมรถยนต์อยู่แถวอ่อนนุช ได้กล่าวถึง รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเอาตัวรอดจากน้ำท่วมว่า

ออกตัวไว้ก่อนว่าไม่เคยขับรถไฟฟ้า 100% แต่ถ้าจะให้เอาตัวรอดจากน้ำท่วมถ้าต้องขับรถไฟฟ้า อันแรกเลยเราต้องรู้ก่อนว่ารถไฟฟ้านั้นแบตเตอรี่จะอยู่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเหตุผลเรื่องการทรงตัว ดังนั้นความเสี่ยงในการที่น้ำจะเข้าแบตเตอรี่แพ็ค ย่อมมีสูง อันที่จริงแล้วแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้าทุกยี่ห้อต่างโฆษณาว่ากันน้ำ IPX... เท่าไหร่ก็ว่ากันไป แต่เราควรจะเสี่ยงหรือควรจะเป็นคนทดสอบให้กับบริษัทไหม? อย่าดีกว่า ในความคิดเห็นของผมก็คือถ้าน้ำท่วมเกินกว่าขอบยาง หรือสูงเกินกว่า 10 cm ขึ้นไป หาที่จอดดีกว่า หรือถ้าหาที่จอดที่แห้งไม่ได้ ถ้าเป็นผมผมจะจอดแล้วตัดการทำงานทุกอย่าง รอจนกว่าน้ำจะลด แล้วคุยกับตัวแทนจำหน่าย เพื่อทำการยกรถไปตรวจสอบก่อนทำการเปิดใช้งานอีกครั้ง วิธีการก็คล้ายๆโทรศัพท์ตกน้ำ เราอย่าเปิดใช้เอง ให้ช่างเปิดดีกว่า อย่างน้อยก็อุ่นใจว่าไม่น่าจะช็อตเสียหายมากนัก แล้วถ้ากรณีน้ำท่วมสูงกว่านั้นล่ะแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อย่าลุยครับเอาตัวรอดก่อน ถ้าระดับน้ำสูงมากโอกาสที่จะถูกพัดพาไปตามน้ำน่ากลัวกว่าครับ และข้อสุดท้ายเช็คเงื่อนไขกับบริษัทประกันให้ดี ครอบคลุมภัยธรรมชาติหรือไม่ หรือถ้าต้องซื้อเพิ่มก็ซื้อเถอะครับ ถ้าซื้อไหว

advertisement

ข่าวยอดนิยม