มะเร็งอัณฑะ อาการเบื้องต้นที่ควรรู้ ชื่อมะเร็งที่อันตราย แต่รักษาได้!

24 ก.ย. 67

มะเร็งอัณฑะ Testicular cancer อาการเบื้องต้นที่ควรรู้ แต่ไม่ติด 1 ใน10 ของมะเร็งที่พบบ่อย ถึงเป็นชื่ออันตราย แต่รักษาได้ไม่ต้องห่วง!

มะเร็งอัณฑะ หรือ Testicular cancer แม้จะเป็นชื่อที่ดูอันตรายและน่ากลัว แต่จัดว่ามีความรุนแรงต่ำ และพบว่าโรคมะเร็งอัณฑะไม่ติด 1 ใน10 ของมะเร็งที่พบบ่อยของชายไทย ยังพบได้น้อยเพียง 2% ของมะเร็งทั้งหมด อีกทั้งยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ และพบบ่อยในช่วงอายุ 15-35 ปี ทำให้ผู้ป่วยวิตกว่าจะส่งผลถึงสมรรถภาพทางเพศ นับเป็นมะเร็งที่มีผลกระทบทางใจชายไทยอย่างมาก

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มะเร็งอัณฑะ เป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อย และไม่ติด 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย แต่ละปีมีผู้ป่วยราว 0.7 รายต่อ 100,000 คน โรคมะเร็งอัณฑะมักพบในช่วงอายุ 15-35 ปี แต่ก็มีโอกาสพบได้ในทุกอายุทั้งในเด็กจนถึงผู้สูงอายุเช่นกัน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรค แต่สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากทางพันธุกรรม โดยเฉพาะประวัติการมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งอัณฑะมาก่อน นอกจากนี้ผู้ที่มีอัณฑะค้างอยู่ในอุ้งเชิงกราน ไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะจะมีความเสี่ยงสูงกว่าปกติอีกด้วย

อาการของโรคมะเร็งอัณฑะที่พบบ่อย คือคลำลูกอัณฑะเจอเป็นก้อนแข็งและไม่เจ็บ ซึ่งแตกต่างจากภาวะลูกอัณฑะอักเสบเฉียบพลัน การตรวจลูกอัณฑะด้วยตัวเองเป็นประจำ คลำดูว่ามีก้อนหรือมีอาการเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าคลำได้ก้อนหรือไม่แน่ใจส่วนใดผิดปกติหรือไม่ ควรรีบปรึกษาแพทย์ โรคมะเร็งอัณฑะจัดว่ามีความรุนแรงต่ำ และสามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้จะอยู่ในระยะที่โรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ ขนาดก้อน อายุ และสุขภาพผู้ป่วย

 

pic-in-web-1

 

มะเร็งอัณฑะ คืออะไร ?
มะเร็งอัณฑะ หรือ Testicular cancer เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของลูกอัณฑะซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในถุงอัณฑะ บริเวณด้านหลังอวัยวะเพศชายหรือองคชาต คือมีก้อนนูนที่รู้สึกเจ็บบริเวณลูกอัณฑะ ลูกอัณฑะบวม เจ็บปวดภายในถุงอัณฑะ หรือรู้สึกหนักภายในถุงอัณฑะ ซึ่งมะเร็งอัณฑะมีโอกาสเป็นได้ทั้งด้านซ้ายและขวาเพียงข้างเดียว หรือทั้ง 2 ด้านเท่า ๆ กัน แต่ส่วนใหญ่มักเกิดเพียงด้านเดียว และพบบ่อยในช่วงอายุ 15 – 35 ปี จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตก หากส่งผลถึงสมรรถภาพทางเพศ

 

สาเหตุของมะเร็งอัณฑะ
แม้จะยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งอัณฑะ แต่การศึกษาพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงดังนี้

  • เพศชาย ที่อัณฑะไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งอัณฑะมากขึ้นประมาณ 10 -40 %
  • โครโมโซม คู่ที่ 1 หรือคู่ที่ 12 ผิดปกติ
  • ผู้ที่มีอัณฑะฝ่อ
  • เคยบาดเจ็บหรือมีการอักเสบบริเวณอัณฑะ จากสาเหตุต่าง ๆ
  • ภูมิคุ้มกันโรคบกพร่อง เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
  • ผู้ชายที่เป็นหมันแต่กำเนิด มีโอกาสเกิดมะเร็งอัณฑะสูงกว่าปกติ
  • มีภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง ซึ่งเป็นภาวะที่ลูกอัณฑะหนึ่งหรือสองข้างไม่เข้าไปอยู่ในถุงอัณฑะตั้งแต่เป็นทารกก่อนคลอด
  • มีบุคคลในครอบครัวใกล้ชิดทางสายเลือดเคยเป็นมะเร็งอัณฑะมาก่อน

 

ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะมีอายุอยู่ในช่วง 20-34 ปี อย่างไรก็ตาม มะเร็งอัณฑะนั้นสามารถเกิดได้กับผู้ชายในทุกช่วงอายุ อีกทั้งงานวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่า ชายที่มีรูปร่างสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะมากกว่า แต่ยังไม่มีงานวิจัยฉบับใดที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ระหว่างน้ำหนักและความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะ

ถึงแม้ในปัจจุบัน จะมีงานศึกษาที่บ่งชี้ถึงสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งอัณฑะว่า อาจมีส่วนที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางโครโมโซมของเซลล์ หรือความผิดปกติของโครโมโซมลำดับที่ 12 แต่ในบางครั้งความผิดปกติของโครโมโซม ก็เกิดขึ้นในลำดับหรือรูปแบบอื่น เช่น การมีจำนวนโครโมโซมมากเกินกว่าปกติ เป็นต้น

 

ประเภทของมะเร็งอัณฑะ

  1. มะเร็งอัณฑะชนิดเจิมเซลล์ (Germ Cell Tumors) มะเร็งอัณฑะชนิดนี้เกิดขึ้นมาจากเจิมเซลล์ที่ร่างกายใช้ในการผลิตสเปิร์ม โดย 95% ของผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะเป็นมะเร็งอัณฑะชนิดนี้ แบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่ เซมิโนมา (Seminomas) และนอนเซมิโนมา (Non-seminomas)
  2. มะเร็งอัณฑะชนิดสโทรมอล (Stromal Tomors) มะเร็งชนิดนี้เกิดขึ้นมาจากเซลล์เนื้อเยื่อ (Stromal Cell) มีหน้าที่ช่วยเซลล์หลักในร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็นประเภทได้ 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ มะเร็งเลย์ดิกเซลล์ และมะเร็งเซอร์โทไลเซลล์
  3. มะเร็งอัณฑะทุติยภูมิ (Secondary Testicular Cancer) คือมะเร็งอัณฑะที่เซลล์มะเร็งไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากอัณฑะ แต่เกิดจากการลุกลามจากอวัยวะอื่น โดยจะเรียกชื่อตามแหล่งกำเนิดของมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว ฯลฯ

 

อาการของ มะเร็งอัณฑะ

  • คลำพบก้อนเนื้อในอัณฑะ อาจมีหรือไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย
  • ลูกอัณฑะบวมหรือใหญ่ขึ้น
  • ปวดหน่วงบริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ หรือท้องน้อย
  • อัณฑะบวมคล้ายมีน้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • รู้สึกปวดขัด หรือรู้สึกไม่สบายภายในอัณฑะ
  • รู้สึกเหมือนมีน้ำสะสมภายในถุงอัณฑะ
  • ความต้องการทางเพศลดลง

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกว่าหน้าอกโตขึ้น หรือรู้สึกปวดบริเวณหน้าอก เนื่องจากมะเร็งอัณฑะบางชนิดส่งผลต่อฮอร์โมนที่มีส่วนกระตุ้นพัฒนาการของหน้าอก อีกทั้งหากมะเร็งอัณฑะ มีการแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ อาจมีอาการอื่นร่วม ดังนี้

  • ปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ รู้สึกมึนงง
  • เจ็บแปลบ ชา หรืออ่อนแรงบริเวณต้นขา
  • หายใจลำบาก ไอ และแน่นหน้าอก

 

pic-in-web-2

 

ระยะของโรคมะเร็งอัณฑะ
โรคมะเร็งอัณฑะ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ การตรวจเจอในระยะเริ่มต้น จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนรักษาได้อย่างถูกต้องและได้ผลดีที่สุด อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยดื้อต่อรังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด ส่งผลให้รักษาไม่หายอยู่ที่ประมาณ 5-10% โดยแบ่งระยะออกเป็นดังนี้

  • ระยะที่ 1 มะเร็งเกิดขึ้นเฉพาะในอัณฑะ ยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมีโอกาสรักษาหายได้สูงถึง 90-100%
  • ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องท้อง โอกาสรักษาหายได้ ประมาณ 80-90%
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องท้อง รวมทั้งมีสารมะเร็งปริมาณสูงในเลือด ซึ่งมักแพร่กระจายมักเข้าสู่สมองและปอด ยังมีโอกาสรักษาหายประมาณ 50-70%

 

ผลข้างเคียงการรักษา มะเร็งอัณฑะ
การรักษามะเร็งอัณฑะอาจมีผลข้างเคียง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีโรคประจำตัว รวมถึงในผู้สูงอายุ โดยมีผลข้างเคียง เช่น

  • อาจสูญเสียอัณฑะจากการผ่าตัด แผลผ่าตัดติดเชื้อ หรือผลจากการดมยาสลบ
  • อาจมีผลข้างเคียงกับผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อ จากการรักษาด้วยรังสี
  • อาจมีผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เกล็ดเลือดต่ำ

 

นอกจากนี้ หากคุณผู้ชายพบว่ามีอาการคล้ายคลึงกับอาการของมะเร็งอัณฑะ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที การรับการรักษาที่รวดเร็วมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา ทั้งนี้อาการข้างต้นที่กล่าวมา อาจไม่ใช่อาการที่บ่งชี้ถึงการเป็นมะเร็งอัณฑะเพียงโรคเดียว อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคชนิดอื่น ดังนั้นหากมีอาการหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษาให้ถูกวิธี

 

ที่มา : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (bumrungrad.com) / พบแพทย์ (pobpad.com) / สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (nci.go.th) / สสส. (thaihealth.or.th)

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด