สถานการณ์ ไข้หวัดใหญ่ 2568 เดือนเดียวป่วยเกือบ 9 หมื่นราย ตาย 9 คน สายพันธุ์ A ทั้งหมด กลุ่มเสี่ยงเยอะสุดคือเด็ก ภาคเหนือจำนวนป่วยเยอะสุด
กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรค ไข้หวัดใหญ่ ประเทศไทย พ.ศ. 2568 ประจำสัปดาห์ที่ 6 (2 – 8 กุมภาพันธ์ 2568)
ระบุ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2568 มีรายงานผู้ป่วย 89,415 ราย อัตราป่วย 137.75 ต่อ ประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 9 ราย ในจังหวัดนครราชสีมา (4 ราย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฉะเชิงเทรา ลำปาง สงขลา และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย พบเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ทั้ง 9 ราย สัปดาห์นี้ รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตไข้หวัดใหญ่ รายสัปดาห์ ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2567, 2568 เปรียบเทียบค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง
กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่พบสูงสุดในกลุ่มอายุ 5–9 ปี เท่ากับ 489.14 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ อายุ 0–4 ปี (362.74) และอายุ 10–14 ปี (335.64) ตามลำดับ ดังรูปที่ 2
รูปที่ 2 อัตราป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ต่อประชากรแสนคน จำแนกตามกลุ่มอายุ ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2568
ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด ภาคเหนือ เท่ากับ 191.82 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็น ภาคกลาง (159.03) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (102.45) และภาคใต้ (101.99) ตามลำดับ
จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ พะเยา อัตราป่วย 508.71 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ลำพูน (424.92) เชียงราย (355.97) เชียงใหม่ (353.42) ภูเก็ต (334.86) ลำปาง (308.09) กรุงเทพมหานคร (256.74) นนทบุรี (219.91) อุบลราชธานี (194.91) และน่าน (187.84) ตามลำดับ ดังรูปที่ 3
รูปที่ 3 อัตราป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ รายจังหวัด วันที่ 1 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2568
ผลการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ( ILI) และกลุ่มอาการ ปอดบวมจากโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์ ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 – 8 กุมภาพันธ์ 2568 ได้รับตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 580 ราย
ผลตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 116 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.00 แยกเป็นชนิด A/H1N1 (2009) จำนวน 48 ราย (ร้อยละ 41.38) ชนิด B จำนวน 37 ราย (ร้อยละ 31.90) และชนิด A/H3N2 จำนวน 31 ราย (ร้อยละ 26.72) ในสัปดาห์ที่ 6 (ระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 8 กุมภาพันธ์ 2568) ได้รับตัวอย่าง ผู้ป่วยส่งตรวจทั้งสิ้น 118 ราย จากโรงพยาบาลเครือข่าย 8 แห่ง ผลตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 27 ราย คิดเป็น ร้อยละ 22.88 แยกเป็นชนิด B จำนวน 12 ราย (ร้อยละ 44.44) ชนิด A/H3N2 จำนวน 8 ราย (ร้อยละ 29.63) และชนิด A/H1N1 (2009) จำนวน 7 ราย (ร้อยละ 25.93) จากการติดตามอาการผู้ป่วยทั้ง 118 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ดังรูปที่ 4
รูปที่ 4 จำนวนตัวอย่างผู้ป่วยที่ส่งตรวจ และผลการตรวจหาเชื้อสาเหตุก่อโรคไข้หวัดใหญ่สะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 8 กุมภาพันธ์ 2568
จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 – 8 กุมภาพันธ์ 2568 ได้รับแจ้งเหตุการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สะสม 13 เหตุการณ์ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน และยโสธร จังหวัดละ 2 เหตุการณ์ จังหวัดชัยภูมิ ตราด นครนายก นครราชสีมา นนทบุรี ปัตตานี ศรีสะเกษ สงขลา และอุดรธานี จังหวัดละ 1 เหตุการณ์ ในสัปดาห์ที่ 6 (ระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 8 กุมภาพันธ์ 2568) มีรายงานเหตุการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 5 เหตุการณ์ ดังรูปที่ 5
รูปที่ 5 จำนวนเหตุการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ แยกรายเดือน และสถานที่ที่พบการระบาด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 8 กุมภาพันธ์ 2568
Advertisement