Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
วัคซีนฝีดาษลิง จำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ฉีดแล้วป้องกันได้แค่ไหน เช็กเลย!
โดย : สุขภาพและความงาม

วัคซีนฝีดาษลิง จำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ฉีดแล้วป้องกันได้แค่ไหน เช็กเลย!

21 ส.ค. 67
11:32 น.
|
2.6K
แชร์

เช็กเลย! วัคซีนฝีดาษลิง จำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ฉีดแล้วป้องกันได้แค่ไหน การระบาดนี้น่ากังวลและต้องรีบป้องกันแค่ไหน ทำความเข้าใจได้เลยที่นี่

โรคฝีดาษลิง ฝีดาษวานร แม้จะไม่ใช่โรคระบาดใหม่ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ของฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลดวัน บี (Clade 1b) ที่ระบาดในบางประเทศของแอฟริกา แถมยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้หลายคนอาจรู้สึกกังวลใจ จนต้องตามหา วัคซีนฝีดาษลิง

ซึ่งล่าสุดสภากาชาดไทย โดยสถานเสาวภา ได้เปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 2,200 บาท ซึ่งได้มีคำแนะนำว่า วัคซีนฝีดาษลิง ที่เปิดให้บริการนี้ ยังไม่ใช่วัคซีนป้องกันโดยตรง แต่สามารถป้องกันความรุนแรงได้ถึง 68-80%

สถานการณ์การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย รุนแรงหรือไม่ ?
ข้อมูลจาก นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงสถานการณ์ฝีดาษลิงที่ระบาดภายในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์เคลด 2b (Clade 2b) ที่มีอาการไม่รุนแรง โดยเป็นสายพันธุ์ที่พบผู้ป่วยมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งในปี 2567 นี้ พบผู้ป่วยในสายพันธุ์นี้เช่นกัน เป็นจำนวน 140 ราย แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในแอฟริกา "ยืนยันว่ายังไม่พบการติดเชื้อในประเทศไทยแม้แต่รายเดียว"

มาตรการป้องกันฝีดาษลิง เคลด 1บี ในปัจจุบันยังไม่เป็นการกักตัวจากการเดินทาง หากแต่เป็นการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ตามด่านทางเข้าประเทศต่าง ๆ หากมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือต้องสงสัย จะมีการสังเกตผื่น ตรวจวัดไข้ พร้อมทั้งซักประวัติอื่นร่วมด้วย ทั้งนี้การเดินทางออกจากประเทศต้นทางก็มีการควบคุมโรคเช่นกัน ทั้งนี้ไฟล์ทบินจากประเทศกลุ่มเสี่ยงไม่ได้มีเข้าภายในประเทศไทยมาก การตรวจคัดกรองจึงทำได้ไม่ยาก หากมีความเสี่ยงติดเชื้อจริง ก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาทันที

pic1

 

การป้องกันฝีดาษลิงเบื้องต้น เน้นที่การให้ความรู้
อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าขั้นตอนการป้องกันฝีดาษลิง ปัจจุบันเน้นการให้ความรู้ประชาชน นักท่องเที่ยวกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้ที่ทำงานในรูปแบบ Sex Worker ซึ่งโดยทั่วไปผู้ที่ทำงานส่วนนี้ มีความระวังในตัวเองสูงอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการให้ความรู้เพื่อให้ระมัดระวังตัวมากขึ้น

สำหรับผู้ที่คาดว่าตนเองจะติดเชื้อฝีดาษลิง ก่อนการเข้าสู่กระบวนการรักษา ให้เริ่มจากการสังเกตอาการตนเองก่อน หากมีอาการเป็นไข้ มีผื่น มีตุ่มขึ้นตามร่างกาย ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน จะมีระบบตรวจคัดกรองตรวจเชื้อ และแจ้งมายังกรมควบคุมโรค ตามขึ้นตอนที่วางไว้ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการรักษา

โรคฝีดาษลิง คืออะไร ทำไมถึงอันตราย
โรคฝีดาษลิง ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เป็นการติดเชื้อจากไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสที่ทำให้โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ มักพบในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะอย่าง หนู กระรอก กระต่าย โดยไวรัสนี้สามารถแพร่เชื้อไปยังสัตว์ชนิดอื่น และแพร่เชื้อจากสัตว์ไปสู่คนได้ ทั้งนี้ยังสามารถติดเชื้อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัส อาทิ การสัมผัสทางผิวหนัง สารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ หรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส

สาเหตุที่มีชื่อเรียก ฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร เกิดจากการรายงานโรคครั้งแรก พบจากลิงที่อยู่ในห้องทดลอง ไม่ได้หมายความลิงเป็นแหล่งกำเนิดของโรค ทั้งนี้การติดเชื้อที่ระบาดอยู่ตอนนี้ ที่เป็นสายพันธุ์รุนแรงยังพบในทวีปแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ และไม่น่าเป็นกังวล เนื่องจากรอยโรคนี้สามารถเฝ้าระวังได้ง่าย เพราะผู้ป่วยติดเชื้อจะมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย จึงสามาระติดตามอาการได้อย่างชัดเจน

 

วัคซีนฝีดาษลิง ช่วยป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน
สถานเสาวภา โดยสภากาชาดไทย ได้เปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยมีค่าบริการเริ่มต้นที่ 2,200 บาท ผู้สนใจสามารถเลือกฉีดได้ 2 วิธี คือ ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง และฉีดเข้าชั้นผิวหนัง มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึงร้อยละ 80-85 โดยมีการบริการฉีด 2 วิธี ดังนี้

  • วิธีที่ 1 ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (ขนาดเต็มโดส 0.5 ML) ราคาเข็มละ 8,500 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน
  • วิธีที่ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (ครั้งละ 0.1 ML) ราคาจุดละ 2,200 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน (ต้องมาพร้อมกัน 4 ท่าน)

pic2

วัคซีนฝีดาษลิง ยังไม่ใช้วัคซีนป้องกันที่แท้จริง
นพ.ธงชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า "วัคซีนฝีดาษวานร ยังไม่มีในประเทศไทย เพราะยังไม่มีการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนที่มีการประกาศให้บริการ ถือเป็นกรณีพิเศษเพื่อศึกษา ซึ่งยังไม่ใช่วัคซีนป้องกันโรคโดยตรง แต่ป้องกันได้เหมือนกัน

โดยวัคซีนที่ใช้เป็น วัคซีนไข้ฝีดาษ ซึ่งป้องกันฝีดาษลิงได้เช่นกัน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเก็บรักษา หากมีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศก็พร้อมนำมาทำเป็นวัคซีน เพื่อฉีดป้องกันให้กับประชาชน แต่ที่สำคัญคือปัจจุบันยังไม่เกิดการระบาดเหมือนโควิด-19 จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องนำมาใช้ ส่วนเรื่องสายพันธุ์ที่ต่างกันของฝีดาษลิง สามารถใช้วัคซีนชนิดเดียวกันในการฉีดป้องกันได้ ไม่จำเป็นต้องกังวล"

ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ระบุบนเว็บไซต์ว่า วัคซีนฝีดาษลิงมีให้บริการ โดยเป็นการพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันฝีดาษและฝีดาษลิงรุ่นที่ 3 ลดผลข้างเคียงจากวัคซีนรุ่นเก่า ได้รับการรับรองให้ใช้ในยุโรป และอเมริกา ในปี พ.ศ. 2562 คือวัคซีน MVA-BN (modified vaccinia Ankara-Bavarian Nordic) โดยการนำไวรัสวัคซีเนียมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถแบ่งตัวได้มีความปลอดภัยมากขึ้น

pic3

 

ใครบ้างที่จำเป็นต้องฉีด วัคซีนฝีดาษลิง
วัคซีนที่ใช้ป้องกันฝีดาษลิงในปัจจุบัน มีราคาสูงและไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นหากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่มีการสัมผัสใกล้ชิด ยังไม่จำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน รวมถึงกลุ่มบุคคลากรสาธารณสุขด่านหน้า ก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องรับวัคซีนเช่นกัน ทั้งนี้การฉีดวัคซีนคือกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อเท่านั้น

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ ได้แก่ ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาฝีดาษลิง และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
  • ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน ควรได้รับภายใน 4 วันหลังสัมผัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือรับวัคซีนภายใน 2 สัปดาห์ หลังสัมผัสเชื้อ เพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วย

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ข้อมูลจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2567 โดยทางกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ระบุว่า ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์รุนแรง เคลด 1 บี ในประเทศไทย แต่มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรสายพันธุ์ไม่รุนแรง ดังนั้นการเข้ารับวัคซีนฝีดาษลิงจึงยังไม่จำเป็นสำหรับทุกคน

 

ที่มา : hfocus (hfocus.org) / chulalongkornhospital (chulalongkornhospital.go.th) / สภากาชาดไทย (facebook.com)

Advertisement

แชร์
วัคซีนฝีดาษลิง จำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ฉีดแล้วป้องกันได้แค่ไหน เช็กเลย!